“อาคม” ชี้เศรษฐกิจไทยใช้เวลาฟื้นตัวจากวิกฤติโควิดนาน 3 ปี
“อาคม”ชี้เศรษฐกิจไทยจะใช้เวลาในการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดราว 3 ปี โดยในปี 2566 จะสามารถฟื้นตัวได้เต็มที่ โดยใช้แรงขับเคลื่อนหลักจากการใช้จ่ายภาครัฐ แต่มาตรการเยียวยาจะลดลง ขณะที่ พร้อมเปิดให้ลงทะเบียนคนจนรอบใหม่
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดงาน ThailandSmart Money กรุงเทพฯ ครั้งที่ 12 ภายใต้แนวคิด “FINANCIALIMMUNITY ภูมิคุ้มกันทางการเงินว่า ในปี 2565 จะเป็นจุดเริ่มต้นการฟื้นตัวเศรษฐกิจ และจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 4% และในปี 66 จะมีแรงขับเคลื่อนจากภาคท่องเที่ยวเข้ามาเสริม จะทำให้มีแรงฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่มากขึ้น
เขากล่าวว่า วิกฤติโควิดครั้งนี้ ถือว่า เศรษฐกิจต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนานอย่างน้อย 3 ปีนับต้องตั้งแต่เกิดวิฤติ เนื่องจากเป็นวิกฤติที่สร้างผลกระทบกับประชาชนฐานราก สังคมส่วนรวม ภาคธุรกิจ ซึ่งต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 และวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2552 ที่ใช้เวลาเพียง 2 ปีในการฟื้นตัวอย่างเต็มที่
สำหรับปี 2565 เศรษฐกิจจะขยายตัวผ่าน 4 เครื่องยนต์หลัก ได้แก่
1. การส่งออก ที่มีทิศทางขยายตัวต่อเนื่อง
2. เม็ดเงินจากภาครัฐที่จะเข้าสู่ระบบ 1ล้านล้านบาท มาจากเม็ดเงินจากงบประมาณลงทุนของภาครัฐ 6 แสนล้านบาท งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 3 แสนล้านบาท และอีก 1แสนล้านบาท จะมาจากพ.ร.ก.กู้เงินฉบับเพิ่มเติม ขณะนี้เหลืออยู่ 2.5 แสนล้านบาท
3.การลงทุนภาคเอกชน โดยปี 2563-2564 ที่ผ่านมา ภาคเอกชนมีการระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้สูงสุด เป็นอันดับ 1ในอาเซียน และ
4. การบริโภค โดยรัฐจะเข้าไปสร้างความมั่นใจเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการใช้จ่าย
ส่วนช่วงปี 2565 จะมีการต่ออายุมาตรการกระตุ้นการบริโภคหรือไม่นั้น ยังต้องดูสถานการณ์ก่อน หากเศรษฐกิจดีขึ้น กลไกดังกล่าวอาจต้องลดลง เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเต็มที่
เขากล่าวด้วยว่า ในต้นปี 2565 จะมีการเปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่แน่นอน ซึ่งเป็นการทบทวนผู้ได้รับสิทธิ และเพื่อเป็นการดูแลประชาชนระดับฐานราก รวมทั้ง จะมีความชัดเจนเรื่องนโยบายส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ซึ่งจะเห็นความชัดเจนในต้นปี 2565