เศรษฐกิจดี-ไม่ดี "ประชาธิปไตย" มีผลไหม?
ในวาระวันรัฐธรรมนูญแห่งชาติ (10 ธ.ค.) ปีนี้ อยากชวนทุกคนมาร่วมทบทวนคุณค่าของประชาธิปไตยผ่านมิติของเศรษฐกิจ แท้จริงแล้วประชาธิปไตยมีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือไม่ และภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ระบบเศรษฐกิจจะได้รับประโยชน์อย่างไร
การปกครองใน “ระบอบประชาธิปไตย” มักถูกยกย่องให้เป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุด เนื่องจากให้คุณค่ากับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้กับสิทธิและเสรีภาพในการกระทำสิ่งต่างๆ ที่พึงปรารถนาได้ตราบเท่าที่จะไม่สร้างผลกระทบทางลบต่อผู้อื่น
อย่างไรก็ตาม คุณค่าที่ระบอบประชาธิปไตยมอบให้ ก็อาจไม่สำคัญเท่ากับการมีชีวิตอยู่ ดังจะเห็นได้ในสังคมของหลายพื้นที่ในโลก ที่เลือกจะหันหลังให้กับระบอบประชาธิปไตย เพราะการปกครองในรูปแบบอื่นนั้นก็สามารถพาให้พวกเขารอดพ้นจากความอดอยากและความยากจนได้ หรือไม่ก็เชื่อว่า การปกครองในรูปแบบใดก็ใช้ได้ทั้งนั้น ตราบเท่าที่ปากท้องยังอิ่มอยู่
แม้ว่าจะมีงานวิชาการหลายชิ้นออกมาสนับสนุนว่า ประชาธิปไตยส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีข้อโต้แย้งถึงความล้มเหลวของการใช้ระบอบประชาธิปไตยขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน
ในวาระวันรัฐธรรมนูญแห่งชาติ (10 ธ.ค.) ปีนี้ จึงอยากพาไปหาคำตอบว่าแท้จริงแล้ว ประชาธิปไตยมีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือไม่ และภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ระบบเศรษฐกิจจะได้รับประโยชน์อย่างไร
ข้อถกเถียงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย “ประชาธิปไตย”
ขณะที่ในปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอนว่า ระหว่างการปกครองในระบอบ “ประชาธิปไตย” และ “คณาธิปไตย” หรือ “เผด็จการ” แบบใดจะสามารถทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจได้ดีกว่ากัน
แม้สังคมโลกจะเอนเอียงไปในการให้คุณค่ากับระบอบประชาธิปไตยมากกว่า แต่ขณะเดียวกัน ก็ได้มีการยอมรับในวงกว้างว่า ระบอบเผด็จการสามารถยกระดับให้ประเทศที่มีระดับการพัฒนาต่ำหลุดพ้นออกจากความยากจนได้ดีกว่า
หลักฐานที่สนับสนุนการใช้ระบอบเผด็จการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจ คือ ความสำเร็จของประเทศแถบเอเชีย โดยเฉพาะประเทศเสือเศรษฐกิจเอเชีย (Asian Tiger) อย่าง เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ นอกจากนี้ ประเทศจีนที่ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศขนาดเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก ตอกย้ำให้ข้อคิดเห็นในการใช้ระบอบเผด็จการนำการพัฒนาได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น
นอกจากภาพของความสำเร็จที่เกิดขึ้นแล้ว ยังมีการแสดงเหตุผลที่อธิบายถึงความล้มเหลวของการใช้ประชาธิปไตย โดยเหตุผลที่ถูกหยิบยกมามากที่สุด คือ ระบอบประชาธิปไตยมักผลักดันให้รัฐบาลกำหนดใช้นโยบายประชานิยม กระตุ้นเพียงอุปสงค์ในระยะสั้นมากกว่าจะเป็นการลงทุนที่จะเกิดผลในระยะยาว และแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการรักษาอำนาจทางการเมือง ผ่านการคอรัปชั่นเพื่อรักษาฐานเสียงของรัฐบาล
เหตุผลดังกล่าวได้กลายเป็นข้อเสียในการใช้ระบอบประชาธิปไตยพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะเชื่อว่านักการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศต่างก็ต้องแสวงหาผลประโยชน์ให้พวกของตนอยู่แล้ว แต่ในทางตรงกันข้าม เหตุข้อดังกล่าวกลับไม่ถูกนำมาอธิบายถึงการหาประโยชน์ให้กับพวกพ้องของผู้ปกครองในระบอบเผด็จการ
การพาประเทศให้หลุดพ้นจากความยากจนก็ดูจะกลายเป็นความสำเร็จที่ผูกขาดของระบอบเผด็จการ ทั้งที่ระบอบประชาธิปไตยก็อาจจะสามารถทำได้เช่นเดียวกัน เพราะประเทศที่เคยยากจนเหล่านั้นมักมีพื้นที่การพัฒนาในหลายมิติ ซึ่งสามารถเร่งตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ และที่สำคัญอีกประการคือ ไม่ใช่เผด็จการในทุกที่จะสามารถพาประเทศหลุดพ้นออกจากความยากจนได้เสมอไป
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะยังไม่สามารถหาฉันทามติในเรื่องระบอบการปกครองที่จะทรงผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุด ถึงกระนั้น ก็ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่าระบอบการเมืองการปกครองนั้นมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
“ประชาธิปไตย” กับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน
สำหรับการใช้ระบอบประชาธิปไตยในการปกครองประเทศ ได้มีงานศึกษาที่แสดงผลที่เกิดขึ้นต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยทางตรงจะเป็นเรื่องของการถ่วงดุลของผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศ การรักษาไว้ซึ่งกรรมสิทธิ์ของเอกชน และการดำเนินงานเพื่อตอบสนองต่อความต้องการคนส่วนใหญ่
แม้ว่าผลทางตรงดังที่กล่าวไปนี้จะถูกหยิบยกออกมาในแง่ของการเป็นข้อด้อยของระบอบประชาธิปไตย เพราะในหลายครั้งการขับเคลื่อนนโยบายหรือโครงการที่ไม่ได้ความนิยมมักจะทำได้ยาก จากการที่ต้องดำเนินงานให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนอยู่เสมอ แต่ในทางตรงข้าม การดำเนินงานเช่นนี้จะเป็นตัวรับประกันว่าประโยชน์จะตกอยู่กับระชาชน ไม่ใช่การบังคับใช้นโยบายอย่างตามอำเภอใจของผู้ปกครอง
ในทางอ้อม จะมีผลต่อการทำหน้าที่ของรัฐบาลในมิติที่สำคัญ อย่าง การจัดสรรทรัพยากร การลดความเหลื่อมล้ำ และการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยระบอบประชาธิปไตยจะมีส่วนช่วยให้เกิดเสรีภาพกับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เกิดการใช้ทรัพยากรของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีส่วนช่วยในการดำเนินนโยบายสาธารณะของรัฐบาลที่ดีและมีประสิทธิภาพ มีผลให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งเสริมให้ประเทศมีเสถียรภาพทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง
ที่มา: World Economic Forum
นอกจากนี้ งานวิชาการเรื่อง Democracy Does Cause Growth ของนักเศรษฐศาสตร์ Daron Acemoglu และคณะ ได้แสดงผลการศึกษาที่สนับสนุนว่า ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้นจะเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว โดยประเทศที่เปลี่ยนผ่านไปใช้ระบอบประชาธิปไตย จะมีการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว หรือ GDP per capita ถึง 20% ในระยะเวลา 30 ปีหลังจากนั้น
สิ่งที่สำคัญที่สุดอีกประการหนึ่ง คือ ระบอบประชาธิปไตยจะปกป้องสิทธิและเสรีภาพของพลเมือง โดยทางผู้ศึกษาพบว่าเกิดผลกระทบทางบวกที่เกิดขึ้นในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น การดำเนินงานของรัฐบาล หรือการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีส่วนช่วยให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีและยั่งยืน
อ้างอิง