รัฐต้องตามให้ทัน "เงินดิจิทัล"
ถึงแม้ประเทศไทยจะมีความพยายามในการออก "เงินบาทดิจิทัล" เพื่อใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ แต่สิ่งสำคัญ คือ ภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับเงินดิจิทัลทั้ง ธปท. และ ก.ล.ต. จำเป็นต้องมีการควบคุมและกำกับดูแลเงินดิจิทัลทั้งในแง่การใช้ในระบบชำระเงินที่ต้องการเสถียรภาพของมูลค่าเงิน และการใช้เพื่อการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะต้องป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
ความตื่นตัวของการนำเงินดิจิทัลมาใช้ในภาคเศรษฐกิจจริงมีเพิ่มมากขึ้น โดยหลายบริษัทได้ส่งเสริมการนำเงินดิจิทัลมาใช้ชำระค่าสินค้าในหลายธุรกิจ เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจร้านกาแฟ แต่การรับชำระด้วยเงินดิจิทัลของผู้ประกอบการจะใช้วิธีการนำเงินดิจิทัลมาแลกเป็นเงินบาททันทีเพื่อลดความผันผวนของการถือครองเงินดิจิทัล ซึ่งทำให้หน่วยงานที่ดูแลเงินตราของประเทศจำเป็นต้องรีบเข้ามาควบคุมดูแลบริหารจัดการเพื่อไม่ให้กระทบกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระบบการชำระเงินของประเทศ
ปัจจัยสำคัญที่ธนาคารกลางจำเป็นต้องเข้ามาดูแลเงินดิจิทัลเพราะเงินดิจิทัลมีความผันผวนสูง ซึ่งเห็นได้จากเงินดิจิทัลหลายสกุลมีการปรับขึ้นลงในอัตราที่สูงมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักของแต่ละประเทศ รวมถึงมีหลายประเด็นที่ต้องหาทางลดความเสี่ยง เช่น ความปลอดภัยทางไซเบอร์ ความเชื่อมั่นต่อมูลค่าจริงของเงินดิจิทัล ในขณะที่จุดเด่นของเงินดิจิทัลมีจุดเด่นในด้านต้นทุนของการทำธุรกรรมลดลงและการใช้เพื่อการลงทุนในทรัพย์สินดิจิทัลที่จะมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต
เงินดิจิทัลจึงเป็นโจทย์ใหญ่ของธนาคารกลางทั่วโลกที่กำลังหาวิธีการบริหารจัดการเงินดิจิทัล ซึ่งทำให้ธนาคารกลางหลายประเทศพยายามออกสกุลเงินดิจิทัลของตัวเองเพื่อไม่ให้บทบาทของธนาคารกลางในการกำกับดูแลเศรษฐกิจประเทศลดลง โดยเฉพาะการที่ธนาคารกลางของจีนออกเงินหยวนดิจิทัล และทำให้จีนกลายเป็นประเทศลำดับต้น ๆ ที่ออกมาดำเนินการเรื่องดังกล่าว ที่ธนาคารกลางของจีนพยายามสร้างให้เป็นสกุลเงินที่มีเสถียรภาพ เพื่อให้ 1 หยวนดิจิทัล เท่ากับ 1 หยวนปกติ
ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความพยายามที่จะออกเงินบาทดิจิทัล โดยที่ผ่านมาได้มีการเปิดรับฟังความเห็นต่อแนวทางการพัฒนาเงินบาทดิจิทัล รวมทั้งได้มีการศึกษาผลกระทบต่อภาคการเงินและเตรียมทดสอบการใช้งานจริง โดยมีสินทรัพย์หนุนหลังเงินบาทดิจิทัลเหมือนเงินบาทปกติ เพื่อให้เงินบาทดิจิทัลก้าวข้ามความผันผวนเมื่อเปรียบเทียบกับเงินดิจิทัลสกุลของภาคเอกชน
ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีความพยายามในการออกเงินบาทดิจิทัลมาเพื่อใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ แต่สิ่งสำคัญ คือ ภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับเงินดิจิทัลทั้ง ธปท. คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จำเป็นต้องมีการควบคุมและกำกับดูแลเงินดิจิทัลทั้งในแง่การใช้ในระบบชำระเงินที่ต้องการเสถียรภาพของมูลค่าเงิน และการใช้เพื่อการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่จะต้องป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น เช่น การปั่นราคาสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งมาตรการดังกล่าวจำเป็นต้องออกมาให้เร็วและให้ทันการณ์ เพราะความต้องการใช้เงินดิจิทัลมีเพิ่มมากขึ้นแบบก้าวกระโดด