ส.อ.ท. จับมือ ดีป้า หนุนผู้ประกอบการดิจิทัล สู่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์มทั้งระบบ
กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล ส.อ.ท. และดีป้า ร่วมดำเนินโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการได้รับมาตรฐาน ISO/IEC 29110 งบปี 2564 สร้างผู้ประกอบการคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานสากล สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท. โดยกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ได้ร่วมมือกันเพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้รับมาตรฐาน ISO/IEC 29110 ประจำปีงบประมาณ 2564 เพื่อสร้างผู้ประกอบการคุณภาพในอุตสาหกรรมตามเกณฑ์มาตรฐานสากล
ทั้งนี้ มาตรฐาน ISO/IEC 29110 เป็นหนึ่งในใบเบิกทางและหลักเกณฑ์สำคัญสำหรับการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Provider) เพื่อสนับสนุนให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมผ่านมาตรการส่งเสริมของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล อาทิ SMEs ที่มีการใช้ซอฟต์แวร์จากผู้ประกอบที่ขึ้นทะเบียนแล้ว จะสามารถขอใช้สิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (Tax 200%)
นายไพฑูรย์ ศิริฉัตรชัยกุล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล ส.อ.ท. กล่าวว่า มีผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 140 ราย และมีการพิจารณาคัดเลือกและดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึง ตุลาคม 2564 ปัจจุบันมีผู้ประกอบการคุณภาพที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 29110 เกิดผู้ประกอบการ จำนวนทั้งสิ้น 125 ราย แบ่งเป็น Software Basic Profile 98 ราย และ Service Delivery 27 ราย โดยอยู่ในภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 101 ราย, ภาคเหนือ จำนวน 12 ราย, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 6 รายและภาคใต้ จำนวน 6 ราย
นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลในปัจจุบันจำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนในหลายๆ ด้าน ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลมีหน้าที่พันธกิจที่สำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล และการนําเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ ให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความมั่นคงของประเทศ ผ่านกลไกต่างๆ เช่น ส่งเสริม สนับสนุน และร่วมมือกับบุคคลอื่นในการพัฒนาอุตสาหกรรมหรือนวัตกรรมดิจิทัล เป็นต้น
ทั้งนี้ มาตรฐาน ISO/IEC 29110 ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในหลักเกณฑ์สำคัญสำหรับการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมผ่านมาตรการต่างๆ ของดีป้า อาทิ
1. มาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อภาคธุรกิจอุตสาหกรรม (depa Digital Transformation Fund) ผลดำเนินงานตั้งแต่ปี 2561-2564 ให้การสนับสนุนทั้งสิ้น 228 ราย วงเงิน 98 ล้านบาท เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ 1,254 ล้านบาท
2. มาตรการคูปองดิจิทัลเพื่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (depa mini Transformation Voucher) ผลดำเนินงานตั้งแต่ปี 2561-2564 ให้การสนับสนุนทั้งสิ้น 10,225 ราย วงเงิน 120 ล้านบาท เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ 24 ล้านบาท
3. มาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชนในชนบท (depa Digital Transformation Fund for Community) ผลดำเนินงานตั้งแต่ปี 2561-2564 ให้การสนับสนุนทั้งสิ้น 256 ราย วงเงิน 44 ล้านบาท เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ 465 ล้านบาท