"AWC" ลุ้น "ท่องเที่ยว" ฟื้นกำไรปี 65 ปรับกรอบลงทุนรับแผนบริหารเสี่ยง!
ใกล้รูดม่านปิดปี 2564 ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมต่างได้รับผลกระทบสาหัสจากวิกฤติโควิด-19 เพราะหากย้อนไปตั้งแต่ต้นปีเจอการระบาดซ้ำภายในประเทศถึง 3 ระลอก จนต้องล็อกดาวน์เพื่อสกัดการระบาดที่ลุกลามเป็นวงกว้าง
บิ๊กคอร์ปอย่าง บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจการอสังหาริมทรัพย์หลักภายใต้อาณาจักรของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” เองก็ต้องงัดสารพัดกลยุทธ์และแผนบริหารความเสี่ยงฝ่าโควิดกันต่อ พร้อมเดินหน้าเพิ่มรายได้หวังลุ้นกำไรในปี 2565 หลังจากรัฐบาลประกาศ “เปิดประเทศ 1 พ.ย.2564” เปิดประตูความหวังแก่เครื่องยนต์ท่องเที่ยว!
วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ AWC เล่าถึง “แผนการลงทุน” และ “แผนบริหารความเสี่ยง” ปี 2565 ว่า บริษัทประเมินซีนาริโอไว้ด้วยกัน 2 กรณี กรณีที่ 1 “Base Case” สถานการณ์ท่องเที่ยวฟื้นตัวบนเงื่อนไขปัจจุบัน ประมาณการณ์อัตราเข้าพักโรงแรมในเครือซึ่งปัจจุบันมี 19 แห่งขยับขึ้นจากเดือน ธ.ค.2564 แบบก้าวกระโดดในไตรมาส 1-2 ปี 2565 ตั้งเป้าหมายมีอัตราเข้าพักในไตรมาส 4 ปี 2565 ฟื้นตัวกลับมาเท่าปี 2562 ก่อนเจอโควิด-19
“ในเดือน ธ.ค.นี้ บริษัทเริ่มมองเห็นผลประกอบการโรงแรมหลายๆ แห่งในเครือเป็นบวกและผ่านจุดที่ส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสด (Cash Flow) มาแล้ว ซึ่งขึ้นกับเซ็กเมนต์ของลูกค้าแต่ละโรงแรมด้วย บางแห่งมีลูกค้าคนไทยที่ช่วยหนุนการฟื้นตัวเร็ว เมื่อผ่านจุดที่ส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดแล้ว หมุดหมายต่อไปที่บริษัทอยากเห็นคือที่จุดเราเคยทำได้เมื่อปี 2562 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เห็นแรงส่งที่ดี (Good Momentum) เป็นจุดที่เราเห็นความสมดุลของดีมานด์กับซัพพลาย เป็นจุดที่ต้องช่วยกันลุ้น โดยบริษัทประเมินว่าน่าจะได้เห็นภาพนั้นภายในไตรมาส 3 ปี 2565 ขณะที่ทั่วโลกมองว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 1 ปีนับจากนี้”
และกรณีที่ 2 “Slow Recovery” สถานการณ์ท่องเที่ยวฟื้นตัวช้า ด้วยการประเมินว่าอาจจะยังได้รับผลกระทบในช่วงครึ่งปีแรก และตั้งเป้าหมายว่าจะได้เห็นการฟื้นตัวกลับมาที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง การวางซีนาริโอเวอร์ชันนี้จะส่งผลต่อการกำหนดกรอบการลงทุนของบริษัทให้อยู่ที่ 50% ของแผนปกติ Base Case เราจะไม่ลงทุนเกินกรอบที่ควร
ส่วนภาพรวมการลงทุนในช่วง 5 ปีของบริษัทซึ่งจะมีการลงทุนรวม 1 แสนล้านบาท เดิมวางแผนใช้เงินลงทุนเฉลี่ยปีละประมาณ 2 หมื่นล้านบาท แต่เนื่องจากปี 2565 ยังมีปัจจัย “ความไม่แน่นอน” ให้ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด กรอบเงินลงทุนในปีหน้าจึงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยที่เคยตั้งไว้ แต่จะนำไปใช้ลงทุนในปีถัดๆ ไปแทน จะมูฟเร็วหรือช้าให้ตรงกับสถานการณ์และตลาดที่มีการฟื้นตัวกลับมาเติบโต โดยจะขยับไทม์ไลน์การพัฒนาโครงการโรงแรมใหม่ระยะสั้นออกไปก่อน เพื่อรอการฟื้นตัวของดีมานด์นักท่องเที่ยวต่างชาติ เมื่อดีมานด์ซัพพลายปรับตัวเข้าหากัน ค่อยดูจังหวะการลงทุน จากนั้นถึงจะพิจารณาโครงการระยะสั้นอีกที
“ขณะที่บิ๊กโปรเจค 3 โครงการระดับไฮไลต์ ได้แก่ เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์, อควอทีค พัทยา และเวิ้งนาครเขษม บริษัทยังเดินหน้าสร้างให้เป็นเดสติเนชั่นที่ช่วยเสริมจุดแข็งแก่ประเทศไทย เนื่องจากช่วงนี้ยังไม่มีการใช้เงินลงทุน ก็จะเดินหน้าขั้นตอนการออกแบบและการขออนุญาตก่อสร้างเต็มสปีดซึ่งต้องใช้เวลาอีก 2 ปีสำหรับโครงการเอเชียทีคฯ และอควอทีคฯ ส่วนโครงการเวิ้งฯจะเตรียมพัฒนาเฟสแรกในปี 2565 ก่อน เริ่มจากการปรับปรุงเพื่ออนุรักษ์ตัวอาคารโบราณซึ่งเริ่มทำได้เลย”
และเมื่อดูเฉพาะโครงการใหม่ที่เตรียมเปิดให้บริการในปี 2565 ของบริษัท มี 4 แห่ง ได้แก่ โรงแรมมีเลีย เชียงใหม่ เตรียมเปิดช่วงต้นปี โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง วางกำหนดช่วงปลายปี แต่ถ้าสถานการณ์ท่องเที่ยวใน จ.เชียงใหม่ ฟื้นตัวช้ามาก ก็อาจต้องเลื่อนกำหนดเพื่อรอตลาดนักท่องเที่ยวหลักอย่างชาวจีนกลับมาก่อน นอกจากนี้ยังมีโรงแรมอินไซต์ มีเลีย สุขุมวิท และรูฟท็อปเดสติเนชั่นแห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ 5 ชั้นบนสุดของตึกเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ อาคารสำนักงานให้เช่าเจ้าของความสูง 58 ชั้น ย่านสาทร ใช้ชื่อว่า “เอญ่า” (EA) ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่
ด้านโรงแรมเลอ เมอริเดียน กรุงเทพฯ รูปโฉมใหม่ใจกลางย่านสุรวงศ์-สีลม บริษัทใช้งบปรับปรุง 260 ล้านบาท โดยเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมาได้ทยอยเปิดให้บริการบางส่วนก่อน หลังเพิ่งปรับปรุงห้องพักแล้วเสร็จ 40% พร้อมเปิดตัวห้องอาหารใหม่ “โรลลิงริบส์ บริว บาร์ บาร์บีคิว” ส่วนกำหนดเปิดให้บริการเต็มรูปแบบน่าจะประมาณไตรมาส 2 ปี 2565