ไทยเบฟ ผนึก ไทยยูเนี่ยน ท้าชิงตลาดเครื่องดื่มสกัดรับเทรนด์สุขภาพ
ตลาดเครื่องดื่มสกัดเพื่อสุขภาพกำลังมีผู้ท้าชิงใหม่ที่เป็น "บิ๊กคอร์ป" 2 ค่าย "ไทยเบฟ" และ "ไทยยูเนี่ยน" ตั้งบริษัทร่วมทุน บริษัท ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจ ยูไนเต็ด จำกัด เปิดเซ็กเมนต์ใหม่ "ซุปปลาทูน่าสกัด" เสิร์ฟผู้บริโภค ตั้งเป้า 3 ปีแจ้งเกิด พร้อมโกย 10% ของตลาด 10,000 ล้าน!!
การขับเคลื่อนธุรกิจยุคปัจจุบัน “ยักษ์ใหญ่” หันมาใช้กลยุทธ์ความร่วมมือ(Collaboration) กันมากขึ้น เพื่อหาโอกาสและสร้างการเติบโตใหม่ๆ เดือนตุลาคม 2563 เป็นคิวของ “ไทยเบฟเวอเรจ” ผู้นำเครื่องดื่มครบวงจรของเอเชีย ผนึกกำลังกับ “ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป” ตั้งบริษัท ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจ ยูไนเต็ด จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ถือหุ้นสัดส่วน 51:49% ตามลำดับ เพื่อรุกธุรกิจเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ
ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ กรรมการ บริษัท ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจ ยูไนเต็ด จำกัด ฉายภาพ ที่ผ่านมาอาจเห็นบริษัทไทย โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ขับเคี่ยวแข่งขันกันเอง แต่ปัจจุบันกลับหันมารวมพลังขับเคลื่อนธุรกกิจมากขึ้น โดยใช้ “จุดแข็ง” ของแต่ละฝ่ายมาสร้าง “ซีนเนอร์ยี” ให้เกิดขึ้น เช่นเดียวกันไทยเบฟที่แกร่งด้านเป็นผู้นำเครื่องดื่มและไทยยูเนี่ยน แกร่งด้านเป็นผู้นำปลาทูน่าของโลก เมื่อมาร่วมมือกันจัดตั้งบริษัท ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจฯ ทำให้ผนึกทีมวิจัยและพัฒนาสินค้า สามารถออกสินค้าใหม่สู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว
“การซีนเนอร์ยีของ 2 บริษัท ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป้าหมายการผนึกกำลัง เราต้องการทำตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพเป็นหลัก”
สำหรับ “ซี ทูน่า เอสเซนส์” หรือผลิตภัณฑ์ซุปปลาทูน่าสกัด เป็นสินค้าตัวแรกจากใน Pipeline มีอยู่หลายรายการ เพื่อทำตลาดตอบสนองความต้องการและเทรนด์ผู้บริโภค “รักสุขภาพ” ซึ่งมาแรงมาก โดยเฉพาะหลังโรคโควิด-19 ระบาดเป็นเวลา 2 ปี ประกอบกับคนเอเชียนิยมบริโภคเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพเกี่ยวกับ “สมอง” มากสุด จึงมอง “โอกาส” ในการเสิร์ฟกลุ่มเป้าหมาย
นอกจากนี้ ท่ามกลางสินค้าเครื่องดื่มสุขภาพส่วนใหญ่จะเป็นซุปไก่สกัด เครื่องดื่มรังนก และเครื่องดื่มผลไม้สกัดเข้มข้น บริษัทจึงต้องการสร้างเซ็กเมนต์เครื่องดื่มสุขภาพใหม่ด้วย “ซุปปลาทูน่าสกัด” เป็นแบรนด์แรกของโลกบุกเบิกตลาดในประเทศไทย
“ในโลกเคยมีซุปปลาสกัด เป็นปลาจากฟาร์มที่เลี้ยง แต่ตลาดเล็กมาก ขณะที่ซุปปลาทูน่าสกัด ซี ทูน่า เอสเซนส์เป็นแบรนด์แรกในโลกที่ทำตลาด ซึ่งการรวมพลังครั้งนี้ไทยยูเนี่ยนจะเป็นผู้ป้อนวัตถุดิบปลาทูน่าให้ไทยเบฟเพื่อผลิตสินค้า”
ด้านธารินทร์ รินธนาเลิศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอเรจ ยูไนเต็ด จำกัด กล่าวว่า บริษัทใช้งบลงทุน 100 ล้านบาท เพิ่มไลน์การผลิตที่โรงงานโออิชิ นิคมอุตสาหกรรมนวนคร เผื่อผลิต “ซี ทูน่า เอสเซนส์” พร้อมกันนี้ทุ่มงบ 100 ล้านบาท เพื่อทำตลาดและสื่อสารให้ผู้บริโภครับรู้ผลิตภัณฑ์ซุปปลาทูน่าสกัดในวงกว้างที่ 15 ล้านคน จะแจกสินค้าตัวอย่างเพื่อให้ผู้บริโภคได้ “ทดลองดื่ม” จำนวน 300,000 คนตลอดทั้งปี ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักที่โฟกัสจะเป็นวัยทำงานอายุ 22-40 ปี
ส่วนการกระจายสินค้าจะใช้บริษัท โมเดิร์นเทรด เมเนจเมนท์ ในเครือไทยเบฟ ทำหน้าที่ป้อนสินค้าผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด เช่น บิ๊กซี ร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่นอีเลฟเว่น ก่อนจะขยายสู่ช่องทางอื่นในปีถัดไป ขณะที่ราคาขายสินค้าอยู่ที่ 47 บาท ซึ่งสูงกว่าซุปไก่สกัด และน้ำผลไม้สกัดเข้มข้น(เทียบต่อปริมาตร)
เนื่องจากเป็นสินค้าใหม่และเซ็กเมนต์ใหม่ และภาพของไทยเบฟคือยักษ์ “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” กลยุทธ์สร้างแบรนด์จึงอาศัยพลังแบรนด์ “โออิชิ” มาอยู่บนสินค้าเพื่อการันตี เสริมภาพลักษณ์ “เพื่อสุขภาพ” อย่างแท้จริง เสริมด้วยสินค้าผ่านการทดสอบคุณภาพและคุณค่าสารอาหารจาก Japan Food Research Laboatories สถาบันวิจัยอาหารระดับโลก ประเทศญี่ปุ่น สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค
“ตอนทำเทสต์ ถ้ามีโลโก้โออิชิจะช่วยตอบโจทย์สุขภาพ สะท้อนความเป็นญี่ปุ่นด้วย”
สำหรับภาพรวมตลาดเครื่องดื่มสกัดเพื่อสุขภาพมีมูลค่าราว 10,000 ล้านบาท ก่อนโควิดระบาดการเติบโตเฉลี่ย 5% ส่วนวิกฤติ 2 ปี ฉุดตลาดหดตัวอัตรา 2 หลัก สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคืออัตราการเข้าถึงผู้บริโภค(Penetration)ต่ำมากเพียง 10% เท่านั้น สะท้อน “ขุมทรัพย์” ตลาดที่มีมหาศาล ขณะที่การครีเอทเซ็กเมนต์ใหม่ยังช่วยสร้างความแตกต่างจาก “คู่แข่ง” พร้อมตอบโจทย์คนไทยที่ให้คุณค่าและคุ้นเคยกับ “ปลา” ค่อนข้างมากด้วย
อย่างไรก็ตาม การลุยเซ็กเมนต์ใหม่เป้าหมาย 3-5 ปี “ซี ทูน่า เอสเซนส์” ต้องการมีส่วนแบ่งตลาด 2 หลัก หรือยอดขายระดับ “พันล้านบาท”
“การซีนเนอร์ยีกันของไทยเบฟ ผู้นำเครื่องดื่มภูมิภาค และไทยยูเนียน ลีดเดอร์อาหารทะเล ปลาทูน่าโลก เรามุ่งมั่นผลิตสินค้านวัตกรรมเพื่อเกาะเทรนด์สุขภาพตอบสนองผู้บริโภค เพราะตลาดมีการเติบโตต่อเนื่อง และวิสัยทัศน์ที่ปั้นซี ทูน่า เอสเซนส์บริษัทต้องการเปิดเซ็กเมนต์ใหม่มากกว่ามองส่วนแบ่งตลาด”