หอการค้าไทย กระทุ้งรัฐไฟเขียวมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นของขวัญปีใหม่
หอการค้าไทย เร่งรัฐมอบของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ทั้งคนละครึ่งเฟส 4 ช้อปดีมีคืน เราเที่ยวด้วยกัน เพิ่มกำลังซื้อ กระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมขอเร่งปลดล็อคเงื่อนไขให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยขอขอบคุณรัฐบาลที่ประกาศความชัดเจนในการจัดกิจกรรมปีใหม่ ภายใต้มาตรการควบคุมที่เหมาะสม เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นส่งต่อไปในปีหน้า ทั้งนี้ ยังมีมาตรการหลายอย่างที่รัฐบาลสามารถมอบให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชนได้ ซึ่งได้เคยนำเสนอรัฐบาลไปแล้ว เช่น ข้อเสนอด้านการเพิ่มกำลังซื้อ โดยเฉพาะมาตรการคนละครึ่ง ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีและตรงกับความต้องการของประชาชน จึงต้องการให้รัฐบาลต่ออายุมาตรการระยะต่อไปในปีหน้า
ส่วนมาตรการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่ออกมาแล้ว ยังมีคนใช้ไม่มากเท่าที่คาดการณ์ไว้ และจะหมดในสิ้นปีนี้ หอการค้าไทยจึงเสนอให้นำ มาตรการช้อปดีมีคืน กลับมาใช้ทันทีไปจนถึงปีใหม่ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายสำหรับคนที่ยังมีกำลังซื้ออยู่ และช่วยให้ผู้ประกอบการระบายสินค้าจาก Stock ซึ่งจะช่วยสร้างบรรยากาศของเศรษฐกิจให้คึกคักมากขึ้นในช่วงดังกล่าว โดยภาคเอกชนเสนอให้เพิ่มวงเงิน จากเดิมปีที่แล้วให้วงเงิน 30,000 บาท เสนอปรับเป็น 50,000 บาท ด้วย โดยคาดว่าจะช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 50,000 ล้านบาท แม้จะเป็นช่วงสั้น ๆ ก็ตาม
นายสนั่น กล่าวว่า ด้านการท่องเที่ยว สำหรับแพคเกจ เราเที่ยวด้วยกัน ที่เพิ่งหมดไป ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นเรื่องการเดินทางและการใช้จ่ายในประเทศได้กลับมาแล้ว จึงขอเสนอให้มีการต่ออายุมาตรการ เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4 ต่อไป เพื่อเสริมต่อในฤดูท่องเที่ยว และช่วงเวลาที่ยังมีวันหยุด พร้อมกับส่งเสริมผู้ประกอบการในกลุ่มท่องเที่ยวที่บอบช้ำจากการปิดประเทศที่ผ่านมา ทั้งนี้ หอการค้าไทยได้หารือกับ ททท. เพื่อให้นำเสนอเรื่องนี้ในที่ประชุม ศบศ. เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ รวมถึงมาตรการที่ส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวและประชุมข้ามภาค ซึ่งหอการค้าไทยก็ได้หารือกับ สสปน. (TCEB) ในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีการเดินทางและจับจ่ายใช้สอยด้วย
นอกจากนั้น หอการค้าไทยยังเสนอให้มีการลดค่าใช้จ่าย โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ประกาศช่วยลดค่าน้ำมันมาให้แล้ว เพื่อบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในปีหน้ามีแนวโน้มที่อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้ามีแนวโน้มที่สูงขึ้นด้วย ดังนั้น หากรัฐบาลสามารถพิจารณาลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคอื่น ๆ ให้กับประชาชนและภาคธุรกิจเพิ่มเติม ก็จะช่วยบรรเทาผลกระทบได้มากขึ้น
สำหรับข้อเสนอเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญมาก เพื่อให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้ากลับมาฟื้นตัว โดยวิกฤตที่ผ่านมา เอสเอ็มอี ได้รับผลกระทบอย่างมากและหลายแห่งยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน แม้ว่าในปีนี้จะมีมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ ออกมาช่วยผู้ประกอบการแล้วก็ตาม แต่ยังมีหลักเกณฑ์หลายเรื่องที่ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมาก ยังไม่สามารถเข้าถึงมาตรการได้ จึงต้องเร่งหาแนวทางปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้มาตรการที่ออกมาตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงทั้งนี้ มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ อาจจะต้องพิจารณามาตรการอื่นมาทดแทน เพราะที่ผ่านมายังไม่สามารถช่วยได้จริง ในขณะที่ ธปท.ได้ปลดล็อกหนี้เสียจากโควิด และผ่อนเกณฑ์เครดิตบูโรแล้ว ภาคเอกชนขอให้สถาบันการเงินได้นำมาใช้เป็นแนวทางอย่างจริงจัง โดยให้คำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้แทน มาตรการในลักษณะนี้จะช่วยได้ทั้งผู้ประกอบการ และธนาคารพาณิชย์ที่ไม่ต้องตั้งสำรองหนี้เพิ่มด้วย นอกจากนั้น สิ่งที่ต้องการให้ช่วยเหลืออีกประเด็นหนึ่ง คือ การช่วยค้ำประกันของ บสย. ที่ควรลดค่าธรรมเนียมและเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกัน เพราะผู้ประกอบการหลายรายไม่มีหลักประกันเพียงพอ
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดการฟื้นตัวในระยะยาว รัฐบาลควรเร่งมาตรการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงบริบทไปแล้ว กฎระเบียบหลายเรื่องอาจไม่ตอบโจทย์รูปแบบการค้าที่เปลี่ยนไป ดังนั้น รัฐบาลควรเน้นทำหน้าที่เป็น Facilitator ให้กับภาคเอกชน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจได้สะดวก รวดเร็วมากขึ้น โดยทั้งหมดนี้ภาครัฐ และเอกชน ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเติบโตอย่างยั่งยืน ต่อไป