‘บีซีจี’ ชี้เทรนด์ ‘โฮเทล พลัส’ แนะ รร.ปั้นคอนเซ็ปต์ใหม่เสริมแกร่ง
“ทุกคนต้องอยู่กับโควิด-19 ต่อไป!” นี่คือข้อเตือนใจให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและโรงแรมต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่ออยู่ร่วมกับสถานการณ์โรคระบาดที่ยืดเยื้อและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
บริวัฒน์ ปิ่นประดับ Partner & Managing Director เดอะ บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ BCG กล่าวว่า BCG ได้ประเมินซีนาริโอของ “ภาคธุรกิจโรงแรม” ของไทยไว้ 3 ซีนาริโอด้วยกัน ได้แก่ กรณีที่ 1 การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วแบบ “V-shape” ภายในสิ้นปี 2564 ซึ่งมีความเป็นไปได้ต่ำมากจากสถานการณ์ปัจจุบัน กรณีที่ 2 การฟื้นตัวแบบล่าช้าแบบ “L-shape” ส่งผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยวในระยะยาวและการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่มีต่อพฤติกรรมนักท่องเที่ยวซึ่งถูกขับเคลื่อนด้วยความกลัวและความไม่แน่นอน ซึ่งคาดว่าจะฟื้นตัวช้ากว่าปี 2567 มีความเป็นไปได้ระดับกลาง
และกรณีที่ 3 การฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป “U-shape หางยาว” เป็นการฟื้นตัวที่คาดว่าน่าจะเป็นไปได้มากที่สุด! โดยประเมินว่ารายได้ของธุรกิจโรงแรมจะกลับมาเท่าปี 2562 ในอีก 3 ปีข้างหน้าหรือภายในปี 2567 ชี้ให้เห็นถึงความเป็นจริงว่า “เรายังต้องอยู่กับโควิด-19” อีกสักพักใหญ่! มีการล็อกดาวน์และคลายล็อกดาวน์เป็นระยะๆ โดยโควิด-19 จะเข้ามาทดสอบวิถี “นิวนอร์มอล” มีการกำหนดเงื่อนไขการเดินทาง “การเปิดประเทศ” เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งจะเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในปีนี้ โดยตลาดนักท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนจะกลับมาก่อนตลาดเดินทางเพื่อธุรกิจ โดยยังมีนักท่องเที่ยวบางส่วน “ลังเล” ในการกลับมาเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้ง!
“ซีนาริโอแบบ U-shape หางยาวที่ BCG ประเมิน ค่อนข้างตรงกับคาดการณ์ขององค์กรและธุรกิจท่องเที่ยวระดับโลก อาทิ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) โบอิ้ง ฮิลตัน และแอคคอร์ ซึ่งประเมินว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลกจะมีรายได้ฟื้นตัวกลับมา 100% เท่าเดิมก่อนเจอโควิด-19 ในปี 2567 ผู้ประกอบการโรงแรมจึงต้องเตรียมตัวรับมือกับการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่ว่าเปิดประเทศแล้ว ธุรกิจจะกลับมาเหมือนเดิมภายในเร็ววันนี้”
ทั้งนี้เมื่อดูแนวโน้มของกลุ่มนักท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อน (Leisure Travel) จะมีการฟื้นตัวค่อนข้างมากสำหรับตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศหลังมีการฉีดวัคซีนมากขึ้น โดยการเดินทางช่วงโกลเด้นวีควันชาติจีนเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาในประเทศจีนมีการเติบโตสูงถึง 73% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ขณะที่ประเทศสหรัฐ มีปริมาณการจองตั๋วเครื่องบินภายในประเทศช่วงวันหยุดยาว Memorial Day เมื่อปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา พุ่งสูงถึง 90% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562
ขณะที่กลุ่มนักเดินทางเพื่อธุรกิจ (Business Travel) เป็นตลาดที่ยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เนื่องจากบริษัทในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon, Apple และ Twitter ได้ออกนโยบายยืดหยุ่นให้พนักงานสามารถทำงานแบบ “Remote Working” ได้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง สำหรับเทรนด์นี้ในเมืองไทยก็ได้เป็นนิวนอร์มอลแล้ว
โดยรูปแบบการทำงานแบบ “ไฮบริด” นี้จะทำให้คนเดินทางเพื่อธุรกิจ รวมถึงเพื่อกิจกรรมไมซ์ (MICE: ประชุม ท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล สัมมนา และแสดงสินค้า) ลดลง เพราะมีความลำบากในการตรวจหาเชื้อโควิดผู้ร่วมงาน และถ้าเกิดการระบาดขึ้นมา จะติดตามหาผู้ติดเชื้อได้ค่อนข้างยาก ทำให้ผู้ประกอบการในกลุ่มเดินทางเพื่อธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวค่อนข้างสูง
บริวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังได้สำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภค ทาง BCG เห็น “5 เทรนด์” สำคัญ ได้แก่ 1.เทรนด์การเปลี่ยนแปลงในเชิงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว ทั้งการเดินทางรูปแบบ “ลักชัวรี” ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ที่จะได้รับความนิยมมากขึ้น ขณะที่เจน Y และ Z ไม่ได้แคร์เรื่องที่พักอาศัยหรือการจองโรงแรมแบบปกติทั่วไป แต่ต้องการประสบการณ์ท่องเที่ยวที่แตกต่าง
2.เทรนด์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ (Wellness & Medical Tourism) ผู้ประกอบการมีโอกาสเจาะตลาดนี้ค่อนข้างมาก เห็นเทรนด์การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในไทยเติบโตเฉลี่ย 13% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2562-2570 นอกจากนี้คนไทยกว่า 82% ให้ความสนใจเกี่ยวกับ “สุขภาพ” มากขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจ
3.เทรนด์การจองสินค้าท่องเที่ยวผ่านช่องทางออนไลน์และสมาร์ทโฟน โดยกว่า 90% ของเจน Y ใช้โซเชียลมีเดียในการค้นหาแรงบันดาลใจ ติดตามอินฟลูเอนเซอร์ และแชร์ประสบการณ์การเข้าพักและท่องเที่ยว 4.เทรนด์ความยั่งยืนและการใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาดเพื่อความปลอดภัย โดยนักท่องเที่ยวจะหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมและสายการบินต้องระวังตรงจุดนี้ นอกจากนี้นักท่องเที่ยวกว่า 90% ชอบโรงแรมที่มีการใช้แอพพลิเคชันในการติดต่อสื่อสารมากกว่าติดต่อกับพนักงานโรงแรมโดยตรง
และ 5.เทรนด์ “Hotel+” (โฮเทล พลัส) หรือโรงแรมที่มีคอนเซ็ปต์ธุรกิจอื่นเข้ามาผนวกเพิ่ม เพื่อสร้างระบบนิเวศให้เกิด “Total Travel Solutions” เช่น โรงแรมกับท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ, โรงแรมกับการทำงาน มีพื้นที่โค-เวิร์กกิ้งสเปซ ได้ลูกค้าตลาด Workation เที่ยวไปด้วยทำงานไปด้วย และโรงแรมกับค้าปลีก มีการตั้งหน้าร้านขายสินค้าของดีไซเนอร์ต่างๆ