บล.เอเซียพลัส เผยเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยตามคาด แต่ตลาดรับข่าวไปแล้ว
บล.เอเซียพลัส ชี้ ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยตามคาด แต่ตลาดรับข่าวไปแล้ว ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังต่ำนานเป็นปีที่ 0.5% หนุนดัชนีหุ้นไทยปี 65 มีอัพไซด์ที่ 1,840 จุด
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) วานนี้มีประเด็นสำคัญ คือ
1. ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0-0.25% สอดคล้องกับที่ตลาดคาดไว้
2. มีมุมมองต่อเศรษฐกิจสหรัฐที่ดีขึ้น: สะท้อนจาก Fed ปรับเพิ่มประมาณการ GDP สหรัฐปี 2565 ขึ้นเป็น 4%yoy จาก 3.8%yoy, อัตราการว่างงานปี 2564-2565 ปรับลงเหลือ 4.3% และ 3.5% จาก 4.8% และ 3.8% ตามลำดับ และอัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มเป็น 5.3%, 2.6%, 2.3% จาก 4.2%, 2.2%, 2.2% ในปี 2564-2566 ตามลำดับ
3. Fed ส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินที่โน้มเอียงไปทางด้านตึงตัวมากขึ้น
3.1. การปรับลดวงเงิน QE (QE Tapering): ประกาศแผน QE Tapering ใหม่ ซึ่งเร็วขึ้นกว่าเดิม โดยในเดือนม.ค. 2565 จะเร่งทำ QE Tapering เพิ่มเป็นเดือนละ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ จากเดิมเดือนละ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่งผลให้มาตรการ QE จะสิ้นสุดเดือนมี.ค.2565 (กราฟเส้นสีส้ม) จากเดิมสิ้นสุดในเดือนมิ.ย. 2564 (กราฟเส้นสีเขียว) สอดคล้องกับที่ตลาดและ ASPS เคยนำเสนอไปเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
3.2. Fed ส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้น: สะท้อนจาก (Dot plot) พบว่า Fed ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2565 จำนวน 3 ครั้ง ส่วนปี 2566-2567 ปีละ 2 ครั้ง ซึ่งแตกต่างจาก Dot plot เมื่อเดือนก.ย.2564 ที่ส่งสัญญาณว่าปี 2565 จะขึ้นเพียง 1 ครั้ง
โดยสรุป แม้ Fed จะส่งสัญญาณนโยบายไปทางด้านตึงตัวมากขึ้น แต่กลับพบว่าตลาดการเงินโลกไม่ต้องตอบสนองมากนัก สะท้อนจากตลาดหุ้นสหรัฐ สามารถพลิกกลับมาบวกได้ภายหลังการประชุม Fed เสร็จสิ้น, ตลาดหุ้นยุโรปเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชียแกว่งทรงตัว, Dollar Index พักตัวหลังทดสอบแนวต้าน 97 จุด ขณะที่ Bond Yield สหรัฐปรับขึ้น
สาเหตุที่ตลาดไม่ได้ตอบสนองเชิงลบมากนัก คาดว่าเกิดจากตลาดได้ตอบรับ (Price in) ประเด็น Fed ไปในระดับหนึ่งในช่วงที่ผ่านมาแล้ว สังเกตได้จากผลสำรวจของ Bloomberg ที่พบว่า ตลาดการเงินคาด Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2565 (ดูเพิ่มในบทวิเคราะห์ Invest+ ฉบับเดือนธ.ค. 2564) ประเมินจากการตอบสนองในเชิงลบที่จำกัดของตลาดหุ้นและตลาดการเงินโลก เชื่อว่าจะช่วยให้ตลาดหุ้นไทยในวันนี้มีโอกาสตอบสนองในเชิงลบอย่างจำกัดตามไปด้วย โดยประเด็น Fed ที่ต้องติดตามหลังจากนี้ คาดจะเป็นการเผยแพร่รายงานการประชุม Fed ของเดือนธ.ค. 2564 ที่จะเผยแพร่ในช่วงต้นเดือน ม.ค.2565
แม้ดอกเบี้ยโลกจะเป็นขาขึ้น แต่อัตราดอกเบี้ยไทยคาดยังทรงตัวต่ำ 0.5% ต่อไปอีกระยะ บวกต่อ SET Index
แม้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลก และสหรัฐจะเป็นขาขึ้น หลังการประชุม Fed เมื่อวานนี้ ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยยาวติดต่อกันในปี 2565-2567 (ดังกล่าวข้างต้น) ส่วนไทยการประชุม กนง. สัปดาห์หน้าวันพุธที่ 22 ธ.ค.64 ASPS คาดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ 0.5% และประเมินดอกเบี้ยไทยจะทรงตัวต่ำที่ 0.5% ต่อไปตลอดในปี 2565 คาดการขึ้นไทยจะช้ากว่าสหรัฐ เนื่องจากสภาพแวดล้อมไทยแตกต่างจากสหรัฐ (สหรัฐเงินเฟ้อ ล่าสุดขึ้นแรงสูงสุดในรอบ 40 ปี , อัตราว่างงาน ปัจจุบันต่ำเท่ากับก่อนเกิด Covid) ส่วนไทย หากประเมิน
1. เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่กลับ ไปถึงก่อนเกิด Covid สะท้อนจาก Real GDP งวด 3Q64 ยังต่ำกว่าก่อนเกิด Covid ในปี 2562 และภาคท่องเที่ยว ราว 20% ของ GDP ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่เนื่องจาก Covid รอบใหม่
2. เงินเฟ้อยังทรงตัวต่ำคือ Inflation เดือนพ.ย.2564 ขยายตัว 2.7%yoy ส่วน Core Inflation ยังทรงตัวต่ำมาก 0.29% เชื่อว่ายังไม่เห็นแรงกดดัน
3. รัฐบาลยังเดินหน้าออกมาตรการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ แสดงถึงยังมีความจำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อพยุงเศรษฐกิจ ล่าสุด ประชุม ครม. ในวันอังคาร 21 ธ.ค.64 เพื่อออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคครัวเรือน เป็นของขวัญปีใหม่ 2022 อาทิ มาตรการ ‘ช้อปดีมีคืน’ (นำใบเสร็จค่าใช้จ่ายสินค้าและบริการมาหักลดหย่อนภาษี)
โดยรวมสรุปทั้งหมดเชื่อว่าไทยยังอยู่กับภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำไปอีกเป็นปี ทำให้ Market Earning Yield Gap (ส่วนต่างผลตอบแทนตลาดหุ้นกับพันธบัตร 1 ปี) อยู่ระดับกว้างแบบนี้ต่อไป โดยปัจจุบันอยู่ที่ 4% (ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในอดีต) หากคิดกลับเป็นดัชนีเป้าหมายของปีหน้า คาด EPS65F ที่ระดับ 81 บาท/หุ้น (เติบโต 10%YoY) เมื่อคูณกับ P/E ตามกลไก Market Earning Yield Gap เฉลี่ย 3.9% ที่ 22.73 เท่า จะได้เป้าหมายดัชนี 1,840 จุด แสดงให้เห็นว่าตลาดหุ้นไทยยังมี Upside ให้ลงทุน
อีกทางที่สนับสนุนความเชื่อว่า Downside ของดอกเบี้ยเป็น Bottom ไปแล้วบวกต่อหุ้นที่ได้ประโยชน์จากทิศทางดอกเบี้ยทรงตัวหรือขึ้น อาทิ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ Top pick กลุ่ม แนะนำ SCB, KBANK กลุ่มประกันชีวิต แนะนำ BLA
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์