ก.ล.ต. ออกเกณฑ์รองรับ กองทุน stressed bond

ก.ล.ต. ออกเกณฑ์รองรับ กองทุน stressed bond

ก.ล.ต. ออกหลักเกณฑ์รองรับกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีปัญหาในการชำระหนี้คืน หรือ stressed bond เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ถือตราสารหนี้ที่มีปัญหาในการชำระหนี้คืน และเพิ่มทางเลือกการลงทุนให้ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษผ่านกองทุนรวมที่บริหารจัดการโดยมืออาชีพ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการจัดตั้งและจัดการกองทุน stressed bond ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีปัญหาในการชำระหนี้คืน เช่น ตราสารหนี้ที่อยู่ระหว่างผิดนัดชำระหนี้ ตราสารหนี้ที่มีการเลื่อนกำหนดชำระหนี้คืน ตราสารหนี้ที่ผู้ออกอยู่ระหว่างการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เป็นต้น เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ถือตราสารดังกล่าว และเพื่อรองรับตราสารหนี้ที่อยู่ระหว่างผิดนัดชำระหนี้ที่แปรสภาพมาจากตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง (high yield bond) ของกองทุน high yield bond ซึ่ง ก.ล.ต. ได้ออกหลักเกณฑ์ไปแล้วเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2563 อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มทางเลือกการลงทุนให้ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษผ่านกองทุนรวมที่บริหารจัดการโดยมืออาชีพ 

กองทุน stressed bond เป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ หรือ กองทุนรวม UI ที่ลงทุนใน stressed bond ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิโดยเฉลี่ยรอบปีบัญชี โดยสัดส่วนที่เหลือสามารถลงทุนในตราสารหรือธุรกรรมทางการเงินได้ทุกประเภท และเสนอขายให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้อย่างน้อย 10 ราย (กองทุนรวมทั่วไปต้องมีผู้ถือหน่วยอย่างน้อย 35 รายขึ้นไป) โดย ก.ล.ต. จะยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งและจดทะเบียน 
 

 

นอกจากนี้ กองทุนดังกล่าวต้องเปิดเผยข้อมูลอายุกองทุนไว้ในโครงการอย่างชัดเจน และไม่เปิดให้ผู้ถือหน่วยลงทุนไถ่ถอนระหว่างอายุของกองทุน (non-redeemable) แต่สามารถกำหนดเงื่อนไขการขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ (auto redemption) ได้เพิ่มเติม ในส่วนของการจัดการกองทุน stressed bond ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การจัดการกองทุนรวม UI ซึ่งต้องสอดคล้องกับนโยบายการลงทุนและคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ การออกหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2564 

กองทุน high yield bond เป็นกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องเนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด 19 เพื่อช่วยให้ผู้ออกตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง (high yield bond) มีสภาพคล่องและสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ (bridge financing)

กองทุนรวม UI คือ กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ ซึ่งผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ ได้แก่ (1) นิติบุคคลที่มีส่วนของผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 200 ล้านบาทขึ้นไปหรือมีเงินลงทุนในหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตั้งแต่ 40 ล้านบาทขึ้นไป หรือในกรณีที่นับรวมเงินฝากแล้วมีเงินลงทุนในทรัพย์สินดังกล่าวตั้งแต่ 80 ล้านบาทขึ้นไป หรือ (2) บุคคลธรรมดาซึ่งนับรวมกับคู่สมรสแล้ว มีสินทรัพย์สุทธิตั้งแต่ 70 ล้านบาทขึ้นไป  มีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป หรือในกรณีที่ไม่นับรวมกับคู่สมรสแล้วมีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 7 ล้านบาทขึ้นไปหรือมีเงินลงทุนในหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตั้งแต่ 25 ล้านบาทขึ้นไป หรือในกรณีที่นับรวมเงินฝากแล้วมีเงินลงทุนในทรัพย์สินดังกล่าวตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป


ตราสารหนี้ที่มีปัญหาในการชำระหนี้คืน (stressed bond) ได้แก่ (1) ตราสารหนี้ที่อยู่ระหว่างผิดนัดชำระหนี้ (distressed bond) (2) ตราสารหนี้ที่มีการเลื่อนกำหนดชำระหนี้คืน (rescheduled bond) (3) ตราสารหนี้ที่ผู้ออกอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ (4) ตราสารหนี้ที่ผู้ออกอยู่ระหว่างการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (restructured bond) (5) ตราสารหนี้ที่มีการผิดนัดชำระหนี้เนื่องมาจากเหตุผิดนัดของหุ้นกู้ชุดอื่น ๆ (cross default) (6) ตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน (subordinated perpetual bond) ที่ผู้ออกมีปัญหาในการชำระหนี้คืน และ (7) ตราสารหนี้อื่นใดที่ผู้ออกเป็นบุคคลเดียวกับผู้ออกตราสารหนี้ที่มีลักษณะตาม (1) (2) หรือ (5)