5 ประวัติศาสตร์ “หัวลำโพง” การรถไฟฯ ยันไม่มีทุบ !
เปิด 5 จุดประวัติศาสตร์รถไฟไทย และ "หัวลำโพง" ร.ฟ.ท.ยืนยันไม่มีทุบ เตรียมแผนบูรณะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์
“ขอย้ำอีกครั้งว่าจะไม่มีการทุบสถานีหัวลำโพงเด็ดขาด แนวทางบริหารพื้นที่ 120 ไร่ จะเป็นรูปแบบ TOD แต่ความพิเศษมากกว่าที่อื่น ตรงหัวลำโพงเป็นที่ดินประวัติศาสตร์สมัย ร.5 พระราชฐาน ดังนั้นเราจะเก็บรักษา อนุรักษ์และบูรณะให้อยู่ในสภาพดี” ส่วนหนึ่งของคำยืนยันจาก “ไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล” กรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด
สำหรับแผนพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ของสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) มีการพูดถึงในสังคมมาอย่างต่อเนื่อง จากการเปิดภาพโมเดลพัฒนาโดย ร.ฟ.ท.ผ่านสื่อต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่า บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นผู้บริษัทลูกพัฒนาสินทรัพย์ของ ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างทบทวนแผนพัฒนาที่ดินแห่งนี้ ให้มีในลักษณะผสมผสาน (มิกซ์ยูส) โดยภาพผ่านสื่อจะเห็นในลักษณะสถานีหัวลำโพง ด้านหลังมีตึกสูงและล้อมรอบไปด้วยพื้นที่สีเขียว
โดยล่าสุดได้รับคำยืนยันจากหัวเรือของบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ที่ออกมาระบุว่า แผนพัฒนาสถานีหัวลำโพงจะเน้นพื้นที่สีเขียว มิกซ์ยูส เน้นการเดินเท้า ไม่ใช้เครื่องยนต์ พลังงานสะอาด TOD จะเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงคมนาคมในรูปแบบต่างๆ เป็นแผนที่จะพัฒนาพื้นที่ของ ร.ฟ.ท. ในทุกที่ ซึ่งผลพลอยได้ คือรายได้กลับมา
ส่วนหัวลำโพงบทบาทจะลดลงในเรื่องของรถไฟทางไกล แต่ยังเป็นศูนย์กลางการเดินทาง ปรับปรุงอาคารประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่า บูรณะให้อยู่ในสภาพดี ไม่มีการทุบทำลาย ให้เป็นมรดกของชาติ และเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยรอบ ผสมผสานพื้นที่เชิงพาณิชย์ เช่นพื้นที่หัวรถจักร มาสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จัดสรรพื้นที่เชิงพาณิชย์เลียบคลองผดุงกรุงเกษม ศึกษาแนวทางอนุรักษณ์ผสานการพัฒนาในต่างประเทศเป็นต้นแบบ
“ขอย้ำอีกครั้งว่าไม่มีการทุบสถานีหัวลำโพงเด็ดขาด โดยเราจะอนุรักษ์ 5 พื้นที่ประวัติศาสตร์ ประกอบด้วย อนุสาวรีย์ช้างสามเศียร สถานีหัวลำโพง อนุสรณ์ประถมฤกษ์ ตึกบัญชาการการรถไฟ และตึกแดง เพราะถือเป็นสมบัติของแผ่นดินที่มีค่า เราจะซ่อมแซมให้คงสภาพอยู่ดี”
ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีก 90 ไร่ เช่น พวงราง ที่จอดรถ โรงซ่อม โรงจอดรถไฟ เมื่อไม่มีการเดินรถ ย้ายการดำเนินการออกไปสถานีกลางบางซื่อ พื้นที่ส่วนนี้จะไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร หากไม่พัฒนาก็จะเสื่อมโทรม ดังนั้นการดำเนินการเบื้องต้นยังวางแผนให้สถานีหัวลำโพงเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การเดินทางในเมือง เชื่อมต่อการเดินทางไปบางซื่อที่จะเป็นฮับเดินทางระยะไกล จึงจะมีการพัฒนา TOD เน้นการรักษาวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ของรถไฟให้ชัดเจน สร้างเป็นศูนย์การเรียนรู้ เสริมวัฒนธรรมคนไทยและความร่วมสมัย
ทั้งนี้ 5 จุดประวัติศาสตร์สำคัญของการรถไฟที่จะมีการอนุรักษ์และบูรณะไว้ มีประวัติความเป็นมา อาทิ
อนุสาวรีย์ช้างสามเศียร ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้าสถานีหัวลำโพงมีสวนหย่อมและน้ำพุสำหรับประชาชน โดยข้าราชการรถไฟได้รวบรวมทุนทรัพย์จัดสร้างอนุสาวรีย์น้อมเกล้าฯ อุทิศส่วนกุศลถวายแด่พระพุทธเจ้าหลวง อนุสาวรีย์ที่ว่านี้เป็นรูป “ช้างสามเศียร” มีพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แกะสลักเป็นภาพนูนสูงประดิษฐานอยู่ด้านบน
สถานีหัวลำโพง สถานีนี้เริ่มสร้างในสมัย รัชกาลที่ 5 ในปี 2453 สร้างเสร็จและเริ่มใช้งาน วันที่ 25 มิ.ย. 2459 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ตัวสถานีแบ่งเป็นสองส่วนหลัก ได้แก่ อาคารมุขหน้า มีลักษณะเหมือนระเบียงยาว และอาคารโถงสถานีเป็นอาคารหลังคาโค้งขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิก (Classicism) เลียนแบบสถาปัตยกรรมโบราณของกรีก - โรมัน มีจุดเด่น คือ กระจกสีที่ช่องระบายอากาศทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
อนุสรณ์ประถมฤกษ์ จุดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เสด็จมาทำพิธีเปิดเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งเริ่มเปิดเดินให้บริการรถไฟครั้งแรกในวันที่ 26 มี.ค.2439 จากกรุงเทพฯ - อยุธยา
ตึกบัญชาการการรถไฟ อาคารหลังนี้ คือที่ทำการกรมรถไฟ ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สร้างขึ้นในปี 2433 เป็นอาคารที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ทำการสำนักงานใหญ่ของกรมรถไฟ หรือการรถไฟแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน อีกทั้งบริเวณด้านหน้าของตึกนี้ ยังมีอนุสาวรีย์ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการรรถไฟชาวไทยพระองค์แรก
อาคารพัสดุยศเส หรือตึกแดง อาคารหลังนี้เริ่มก่อสร้างในปี 2453 โดยสร้างขึ้นเพื่อใช้เก็บพัสดุจากการสร้างอุโมงค์ขุนตาน และการก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ ก่อนจะปรับปรุงและกลายมาเป็นที่ทำการของกรมกรมพัสดุแห่งชาติ และปัจจุบันตึกแดง เป็นที่ทำการของฝ่ายและสำนักงานต่าง ๆ ของการรถไฟฯ