ถอดแนวคิดพัฒนาเมือง โมเดลจีน – อิสราเอล ใส่งบวิจัยชุมชน สร้างศก.ยั่งยืน
ฟังแนวคิดนายกฯสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยถอดแนวคิดพัฒนาเมือง โมเดลจีน – อิสราเอล ใส่งบวิจัยชุมชน สร้างเศรษฐกิจเติบโต จับมือ บพท.ใช้งานวิจัย-สถานศึกษา ผนึก 2400 ท้องถิ่นเล็งทำวิจัยดึงทุนจากท้องถิ่นต่อยอด สร้างอาชีพ แก้จนยั่งยืน
ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ได้เพียงแค่ส่งผลกระทบต่อการจัดสรรงบประมาณของประเทศในภาพรวม ระดับกระทรวง ทบวง กรม เท่านั้น หากแต่ผลกระทบได้เกิดขึ้นกับการบริหารราชการแผ่นดินในส่วนที่เล็กที่สุดคือ "ท้องถิ่น" ซึ่งแม้การจัดสรรงบประมาณให้กับองค์กรส่วนท้องถิ่นในปัจจุบันจะมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น แต่ส่วนหนึ่งมาในรูปแบบเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ซึ่งเป็นการจัดสรรงบประมาณจากส่วนกลางซึ่งย่อมมีวงเงินลดลงตามสถานการณ์ผลกระทบจากโควิด-19 ที่การจัดเก็บรายได้ลดลง
ภารกิจของท้องถิ่นที่ต้องบริหารจัดการและดูแลประชาชนในพื้นที่ที่มีมากขึ้น แนวทางการเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืนให้กับท้องถิ่นจึงมีความจำเป็นในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ท้องถิ่น รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน
ในงานเสวนาเรื่อง "การส่งเสริมวิจัยด้านการพัฒนาเมือง และท้องถิ่นเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำ"
ซึ่งจัดขึ้นในโอกาสที่หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้มีการลงนามข้อตกลง (MOU) ร่วมกับสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) ซึ่งมีสมาชิกอยู่กว่า 2,400 ชุมชนทั่วประเทศ
โดยทั้งสองหน่วยงานมีแผนที่จะเอางานวิจัย ด้านการพัฒนาเมืองและท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ช่วยลดความเหลื่อมล้ำซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศในปัจจุบัน
เวทีเสวนามีตัวอย่างการนำเอางานวิจัย ไปพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนแล้วทำให้ประเทศพัฒนา แก้ปัญหาความยากจนได้อย่างเป็นรูปธรรม พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา และนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการพัฒนาเมืองเป็นตัวชี้วัดระดับการพัฒนาของประเทศ และสร้างการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจได้มาก โดยการใส่งบประมาณการวิจัยและพัฒนาลงไปให้กับมหาวิทยาลัยเพื่อมีบทบาทในการพัฒนาเมืองมีตัวอย่างให้เห็นแล้วในประเทศอิสราเอล และประเทศจีน
โดยในส่วนของประเทศอิสราเอล รัฐบาลจัดสรรงบประมาณในการวิจัย และพัฒนาปีละประมาณ 4.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งสูงกว่าสัดส่วนงบวิจัยฯของประเทศในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ (OECD) ที่มีงบประมาณด้านนี้เฉลี่ย 2.3%
ขณะที่ประเทศจีนรัฐบาลใช้ยุทธศาสตร์พัฒนาเมืองแต่ละแห่งควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาความยากจน เช่นนโบายชิโน-เทียนจิน และชิโน-ซูโจว ทำให้เศรษฐกิจของเมืองดีขึ้นตั้งแต่ระดับเทศบาลไปจนถึงมณฑล คนยากจนค่อยๆลดจำนวนลง
สำหรับสถานการณ์ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเมื่อเจอกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะต้องให้ความสำคัญกับการบริหารเมืองและท้องถิ่นใน 3 เรื่อง
1.ทรัพยากรที่จำกัด โดยเฉพาะทรัพยากรด้านงบประมาณของภาครัฐ ท้องถิ่นจึงจำเป็นที่จะต้องยืนบนขาตัวเองให้ได้ ซึ่งจำเป็นต้องค้นหา "ทุน" ที่อยู่ในท้องถิ่นให้พบไม่ว่าจะเป็นทุนที่สั่งสมทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ซึ่งต้องใช้กระบวการทางวิจัยเข้ามาช่วย มีการเก็บข้อมูลและนำข้อมูลไปสู่การตัดสินใจว่าจะใช้ทุนดังกล่าวไปสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ได้อย่างไร
2.การจัดการและถ่ายทอดองค์ความรู้ โดยการที่ให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการทำวิจัยจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองได้ตลอดเวลา ซึ่งในเทศบาลเมืองยะลาได้ให้มีการทำวิจัยในพื้นที่และได้ข้อสรุปในการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรทำให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น มีตลาดรองรับช่วยทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น และจีดีพีภาคเกษตรของยะลาเพิ่มสูงขึ้นจนปัจจุบันมีมูลค่ารวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการทำการวิจัยในพื้นที่เมืองยะลาแล้วแก้ปัญหาอย่างตรงจุด
และ 3.สร้างความเข้มแข็ง และความสามารถในการแข่งขันของเมืองออกมาเป็นจุดเด่น ซึ่งสามารถนำเอาข้อมูลการวิจัยชุมชน เมืองมาสร้างจุดแข็ง ซึ่งแต่ละเมืองมีจุดเด่นที่แตกต่างกันสามารถนำมาสร้างเป็นจุดขายและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับท้องถิ่นได้ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างรายได้แก้ปัญหาความยากจนของท้องถิ่นได้เช่นกัน
กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท.กล่าวว่าการพัฒนาเมืองด้วยการวิจัยวิจัยถือเป็นการสร้าง Engine of growth ให้กับเศรษฐกิจ เนื่องจากแนวโน้มความเป็นเมือง (urban) จะมีสูงขึ้นเรื่องๆ และในพื้นที่เมืองมีปัญหาความเหลื่อมล้ำ และปัญหาความยากจนสูงเช่นกัน ดังนั้น บพท.จะเข้าไปสนับสนุนกระบวนการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาภายใต้กลไกการพัฒนาเมือง ที่ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ หลักเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำ ได้แก่
1.ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาที่อยู่อาศัย (Housing Development Policy)
2.ยุทธศาสตร์การพัฒนาการเดินทางในเมือง ( Urban Mobility Development Policy)
และ 3.ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเมืองสู่ศูนย์เศรษฐกิจ (Urban Economic Growth Pole Development)
โดยมี 4 กลไกการขับเคลื่อนกลไกพื้นฐานเพื่อการพัฒนาเมือง ได้แก่
1.การพัฒนาความ ร่วมมือทางสังคมของเมือง (Urban Collaboration and Institution Arrangement)
2.การพัฒนาเครื่องมือทางการเงินและการจัดการทุนของเมือง (Urban Financial Institution and Instrument) โดยสนับสนุนทุนวิจัยให้กับสถาบันการศึกษาเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน
3.การพัฒนาข้อมูลและองค์ความรู้ของเมือง (Urban Open Data and Knowledge Management)
และ 4.นโยบายและแผนพัฒนาของเมือง (Urban Policy and Planning) เพื่อนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตชนบท (อบต. อบจ. และเทศบาล) ที่นำองค์ความรู้และนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่พัฒนาหรือได้รับการถ่ายทอดไปใช้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมในการพัฒนาช่วยลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงรายได้เพิ่มขึ้น เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตหรื่อยกระดับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมกระจายทั่วประเทศ
ช่วยการกระจายความเจริญและสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจสังคมท้องถิ่นด้วยความรู้และนวัตกรรม ตลอดจนการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของบุคลากรในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด