ผลลัพธ์งานวิจัยท้องถิ่น แก้น้ำแล้งอย่างมีส่วนร่วม
“บ้านตาดรินทอง” ใน จ.ชัยภูมิ เป็นอีกชุมชนที่มีปัญหาด้านน้ำ แม้จะตั้งอยู่บนเทือกเขาภูแลนคาด้านทิศเหนือ
ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำปะทาว สาขาหนึ่งของแม่น้ำชี ที่ไหลลง จ.ชัยภูมิด้วย หลังจากฤดูฝนแม้จะมีน้ำเต็มแอ่งน้ำแต่ผ่านไปไม่กี่เดือนน้ำที่มีอยู่ก็เริ่มน้อยลง พอหน้าแล้งน้ำก็แห้งหมด เกิดวิกฤติอย่างแสนสาหัสชาวบ้าน เกิดศึกชิงน้ำ ชุมชนไร้ความสุข
สาเหตุที่น้ำแห้งไม่พอใช้ แม้ความสูงและลาดชันของพื้นที่ภูเขาระหว่างต้นน้ำที่ใช้ทำน้ำประปาถึงหมู่บ้าน จากระยะ 4 กิโลเมตรจะมีความสูงต่างระดับกันถึง 130 เมตร จนทำให้เกิดแรงดันน้ำมหาศาล แต่เพราะท่อประปาที่ใช้ไม่ได้มาตรฐาน ระหว่างทางท่อประปาจึงหลุดแตกเสียหายเป็นประจำตั้งแต่ปี 2548 หรือกว่า 13 ปี และกว่าจะรู้ตัวว่าท่อแตกน้ำก็ไหลปริมาณไม่น้อย เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง สร้างความหงุดหงิดรำคาญใจให้กับชาวบ้านอย่างมาก
เป็นสาเหตุให้เกิดการทะเลาะกันรุนแรงระหว่างชาวบ้านและคณะกรรมการจัดการน้ำชุมชนชาวบ้านไม่ทำตามกฎกติกา แอบเปิดน้ำเอง บางคนทำท่อแตกแล้วไม่แจ้ง ตลอดจนขาดประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ
กระทั่งในปี 2558 พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่ามหาวัน เกิดความห่วงใยว่า “ถ้ายังไม่มีการจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดในทางที่ถูกที่ควรแล้ว คาดว่าไม่เกิน 5 ปี น้ำที่อยู่เหนือฝายก็จะหมดไป” จึงเกิดที่มาของโครงการ “รูปแบบการจัดการน้ำประปาภูเขาที่เอื้อต่อการอนุรักษ์แหล่งต้นน้ำภูหลง โดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนบ้านตาดรินทอง ต.ธาตุทอง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ”
โดยปีถัดมาได้รับการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อแก้ปัญหาระบบโครงสร้างประปาภูเขา ลดการสูญเสียน้ำระหว่างทาง และการอนุรักษ์รักษาแหล่งต้นน้ำให้อยู่อย่างยั่งยืนในชุมชนอย่างมีส่วนร่วม ที่สำคัญเพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อทุกคน
โครงการนี้เป็นรูปแบบงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น หรือที่เรียกว่าการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม หรือ Participatory Action Research-PAR ซึ่งการดำเนินงานแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกเป็นการสำรวจสภาพพื้นที่อย่างละเอียด นักวิจัยได้ศึกษาบริบทชุมชน จัดเก็บข้อมูล และระบบโครงสร้างประปาภูเขา โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักวิจัยพัฒนาและอุทกวิทยา สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 10 สุราษฎร์ธานี เข้ามาร่วมศึกษาข้อมูลร่วมกับชุมชน ช่วงที่สองเป็นการวางแผนซ่อมบำรุงรักษาระบบประปาภูเขา
จากการศึกษาช่วงแรก ชุมชนได้รับรู้ถึงบริบทของชุมชนตั้งแต่ปี 2517 ที่เริ่มมีคนเข้ามาอยู่ ปี 2533 พระสงฆ์จากวัดป่าภูหลงได้ช่วยฟื้นฟูป่า สร้างแหล่งน้ำของชุมชน ทั้งฝายห้วยโป่ง ห้วยถ้ำเต่า และสระคุ้มหน้าลาด ใช้เป็นน้ำเพื่อการเกษตร เกิดเป็นระบบประปาของชุมชน และสำหรับใช้เป็นน้ำเพื่อดับไฟป่า และจากความอุดมสมบูรณ์ของพื้นป่า ทำให้ชุมชนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอไม่ขัดสน
จนมาถึงปี 2547 เป็นปีที่เริ่มขาดแคลนน้ำ ชุมชนแก้ปัญหาโดยการติดตั้งมิเตอร์และเก็บค่าน้ำหน่วยละ 2 บาท และจัดตั้งคณะกรรมการจัดการน้ำชุมชนขึ้น แต่ไม่สามารถทำให้คนในชุมชนลดการใช้น้ำได้ กระทั่งปี 2547-2549 เกิดการทะเลาะขัดแย้งแย่งชิงการใช้น้ำอย่างหนักจนคณะกรรมการต้องลาออก ทำให้ชุมชนต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเรื่อยมา มีการใช้น้ำอย่างอิสระ จะเก็บเงินต่อเมื่อท่อมีปัญหา ซึ่งในปี 2555-2559 เกิดภาวะแล้งและเกิดไฟป่า เดือน มี.ค.-มิ.ย.2558 ชุมชนต้องประสบวิกฤติขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง
ผลการสืบค้น จากเดิมที่เคยคิดว่าสาเหตุน้ำแห้ง เพราะน้ำบนภูเขามีน้อยลง ปัญหาของระบบประปา การจัดการน้ำขาดประสิทธิภาพ และการทำเกษตรบนภูเขา แต่หลังศึกษาข้อมูลพบว่าปัญหาเกิดจากแรงดันน้ำและคุณภาพของท่อประปาที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้น้ำน้อย จึงนำมาสู่การแก้ปัญหา “การลดแรงดันน้ำ” ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านเคยพยายามทำมานานแต่ยังทำไม่สำเร็จ
สำหรับวิธีการติดตั้งระบบประปาชุมชนเพื่อแก้ปัญหาท่อประปาหลุดแตก คือการเปลี่ยนมาใช้วัสดุที่ได้มาตรฐาน, มีการทำข้อต่อลดแรงดัน 6 ตัว ตลอดระยะทาง 4 กิโลเมตร, ลดขนาดท่อจาก 2 นิ้วเป็น 1 นิ้ว ติดตั้งทุกระยะ 20 เมตร ช่วยลดระดับน้ำที่ไหลลงจากภูเขา เปลี่ยนจากท่อหนึ่งเส้นแยกออกเป็น 2 เส้น (เข้า 1 ออก 2) เป็นรูปตัว Y
นอกจากนี้ยังมีเทคนิคการระบายลมและการระบายตะกอน โดยการทำจุดระบายลมโดยทำจุดที่ค่อนข้างสูงของประปา ต่อท่อแบบสามทางเพื่อเปิดระบายลมออก และการทำจุดระบายตะกอนดิน โดยทำจุดต่ำสุดของประปา ต่อท่อแบบ 3 ทางบริเวณท้องช้าง หรือจุดที่ต่ำที่สุดของแต่ละช่วง เพื่อเปิดระบายตะกอนน้ำออก แก้ปัญหาน้ำขุ่น ตลอดจนการตั้งคณะกรรมการจัดการน้ำชุมชนขึ้นมาใหม่โดยมาจากตัวแทนทั้ง 9 คุ้ม เพื่อสร้างความเป็นธรรมและโปร่งใส และการนำหลักคุณธรรมมาใช้ในการบริหารงาน จนสามารถดำเนินโครงการแล้วเสร็จเมื่อต้นปี 2561
งานวิจัยยังทำให้ชุมชนค้นพบว่าการต่อข้อต่อที่เหมาะสม ไม่ได้มีผลเพียงแค่ลดแรงดันน้ำเท่านั้น แต่กลับยังสามารถเพิ่มแรงผลักดันน้ำขึ้นสู่ที่สูงได้ด้วย นี่คือองค์ความรู้ 2 ชุด ที่ได้ชาวบ้านได้รับ วิธีการแก้ปัญหาทั้งระบบท่อประปาภูเขา และวิธีการลดแรงดันน้ำที่ถูกต้อง ด้วยการแลกเปลี่ยนกับผู้เชี่ยวชาญ เกิดประโยชน์ในด้านสังคม ทำให้ชุมชนมีน้ำพร้อมใช้สำหรับทุกคน ชุมชนมีรายได้ในการบริหารจัดการน้ำเพิ่มขึ้น 4 เท่าจากการจัดเก็บค่าน้ำชุมชน (ยกเว้นวัด ศาลากลางบ้าน โรงเรียน) และมีรายได้จากการขายกล้าไม้กว่า 4 แสนบาทต่อปี ยังไม่รวมรายได้จากการเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP นววิถี ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการที่มีน้ำใช้
นอกจากนี้ยังเกิดประโยชน์ในด้านสิ่งแวดล้อม เพราะแม้ปริมาณฝนลดลงในช่วงปี 2559-2561 แต่กลับมีน้ำในป่าต้นน้ำเพิ่มขึ้น 9,072 ลูกบาศก์เมตร และยังช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าถึง 96% ปัจจุบันบ้านตาดรินทองถือเป็นต้นแบบของการจัดการน้ำประปาภูเขาหรือบนพื้นที่ลาดชันที่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานและชุมชนอื่นๆ เป็นจำนวนมาก และท้ายที่สุด ชาวบ้านให้ความร่วมมืออย่างดี เพราะชาวบ้านได้เรียนรู้ถึงคุณค่าและตระหนักถึงการอนุรักษ์แหล่งน้ำมากขึ้น