เด็กจบใหม่ตกงานพุ่ง แม้จบ ป.ตรี แต่ว่างงานนานเป็นปี 65% บ่นอุบ งานหายาก!

เด็กจบใหม่ตกงานพุ่ง แม้จบ ป.ตรี แต่ว่างงานนานเป็นปี 65% บ่นอุบ งานหายาก!

สภาพัฒน์ เผย ไตรมาส 3/2567 แรงงานไทยอัตราว่างงานพุ่ง 4.1 แสนคน เพิ่มขึ้น 3.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว โดยผู้ที่ว่างงานยาวเป็นปีเพิ่ม 16% แม้จบปริญญาตรี โดยผู้ว่างงาน 65% ระบุสาเหตุว่า หางานไม่ได้

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ สภาพัฒน์ เผยรายงาน "ภาวะสังคมไทย"  ประจำไตรมาสที่  3/2567 ในส่วนของภาคแรงงานไทย ระบุว่า คนไทยว่างงานเพิ่มขึ้น จำนวน 4.1 แสนคน เพิ่มขึ้น 3.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566

โดยคิดเป็นอัตราว่างงาน 1.02% เพิ่มขึ้นจาก 0.99% ในปีก่อนหน้า ซึ่งเพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่มที่เคยทำงานแล้ว และกลุ่มที่ไม่เคยทำงานมาก่อน เพิ่มขึ้นจำนวน 1.8 และ 2.3 แสนคน หรืออยู่ที่ 2.8% และ 3.5% ตามลำดับ

โดยผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน ส่วนใหญ่ "ลาออก" มาจากสาขาการขายส่ง/ขายปลีก และสาขาการผลิต ขณะที่กลุ่มที่ไม่เคยทำงานมาก่อน ส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาสูงสุดในระดับอุดมศึกษา มัธยมปลาย และมัธยมต้น ตามลำดับ

คนจบ ป.ตรี 65% หางานไม่ได้ เด็กจบใหม่เหนื่อยหางานขั้นสุด

นอกจากนี้ ผู้ว่างงานระยะยาวตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าสูงถึง 16.2% หรือมีจำนวน 81,000 คน โดยกว่า 65% ระบุสาเหตุว่า หางานไม่ได้ ขณะที่ 71.3% ไม่เคยทำงานมาก่อน ซึ่งในจำนวนนี้ เกือบ 3 ใน 4 อยู่ในช่วงอายุ 20 - 29 ปี (คนรุ่นใหม่ Gen Y - Z) 

สำหรับอัตราการว่างงานในระบบอยู่ที่ 1.82% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 1.93% โดยมีผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานทั้งสิ้น 74,000 คน ซึ่งกว่า 95% เป็นแรงงานในภาคการผลิต

สำหรับสาขาที่การจ้างงานหดตัวลง คือ สาขาการขายส่ง/ขายปลีก ซึ่งลดลง 0.8% และสาขาการผลิตลดลง 1.4% โดยเฉพาะในสาขาการผลิตผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตยานยนต์ รถพ่วง และรถกึ่งพ่วง ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีผลผลิต ที่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 

โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ที่ทำให้โครงสร้างการผลิตแบบเดิมไม่ตอบสนองความต้องการของตลาด เช่น การผลิต Hard Disk ที่เปลี่ยนจาก Hard Disk Drive (HDD) เป็น Solid State Drive (SSD) รวมทั้งยานยนต์ที่เน้นไปที่รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เป็นต้น

คนไทยทำงานหนักขึ้น ชั่วโมงทำงานเพิ่มขึ้น 2.7% หรืออยู่ที่ 47.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ชั่วโมงการทำงานโดยรวมเพิ่มขึ้น แต่บางส่วนยังต้องการทำงานเพิ่มอีก โดยในไตรมาสสาม ปี 2567 แรงงานไทยมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยในภาพรวมเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2.0% หรือเพิ่มขึ้นเป็น 43.3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่แรงงานในภาคเอกชน ทำงานเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.7% หรือเพิ่มขึ้นเป็น 47.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยผู้ทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้นที่ 3.8% 

ขณะที่ผู้เสมือนว่างงาน และการว่างงานแฝง ลดลงกว่า 32.9% และ 27.2% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ผู้ทำงานต่ำระดับกลับเพิ่มขึ้นกว่า 15.0% ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ใน ภาคเกษตรกรรม ขณะที่ในสาขานอกภาคเกษตรกรรม ส่วนใหญ่อยู่ในสาขาการขายส่ง/ขายปลีก และสาขาการก่อสร้าง

ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น เฉลี่ยในภาพรวมอยู่ที่ 15,718 บาทต่อเดือน

ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นทั้งภาพรวมและภาคเอกชน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ โดยเมื่อต้นปี 2567 โดยค่าจ้างเฉลี่ยในภาพรวมของกลุ่มแรงงานในระบบ (ตามการจัดเก็บแบบเดิม) อยู่ที่ 15,718 บาทต่อคนต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสสาม ปี 2566 อยู่ที่ 1.8%

ขณะที่ค่าจ้างเฉลี่ยในภาพรวมที่รวมกลุ่มแรงงานอิสระ อยู่ที่ 16,007 บาทต่อคนต่อเดือน ส่วนค่าจ้างเฉลี่ยของภาคเอกชน อยู่ที่ 14,522 บาทต่อคนต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า  2.7%

เปิดลิสต์ 3 ประเด็นด้านแรงงานที่ต้องให้ความสำคัญ

1. การส่งเสริมการปรับตัวของแรงงาน โยกย้ายจากอุตสาหกรรมเดิมสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่

ปัจจุบันหลายอุตสาหกรรมเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ทำให้โครงสร้างการผลิตแบบเดิม ไม่ตอบสนองความต้องการของตลาด ซึ่งส่งผลกระทบให้แรงงานในสาขาดังกล่าว "ตกงาน" เป็นจำนวนมาก

ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ รถพ่วง และรถกึ่งพ่วง ที่มีแรงงานอยู่ถึง 4.6 แสนคน กำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงความต้องการของผู้บริโภค ที่หันไปใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ส่งผลให้ยอดผลิตและจำหน่ายรถยนต์สันดาปของสถานประกอบการในไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง 

โดยยอดการผลิตในช่วงเดือนมกราคม - กันยายน ปี 2567 ลดลง 28.34% เทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่ด้านการจ้างงาน พบว่า เริ่มมีการปลดพนักงานออก โดยผลการสำรวจผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ จากภาวะเศรษฐกิจและการเข้ามาของคู่แข่งรายใหม่ โดยเฉพาะรถยนต์ EV ของชมรมผู้บริหารบุคคลธุรกิจอุตสาหกรรม (MAC+) พบว่า ในเดือนสิงหาคม 2567 สถานประกอบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และการประกอบรถยนต์ จำนวน 83 แห่ง มีจำนวนพนักงานลดลงจากเดือนมกราคม 2567 ประมาณ 3.5 พันคน

อีกทั้งสถานประกอบการมากกว่าครึ่ง มีการงดการทำงานล่วงเวลา (งด OT) ตลอดจนมีการใช้มาตรา 75 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ในการจ่ายค่าจ้างในอัตราที่ต่ำลง และการเปิดโครงการสมัครใจลาออก/เกษียณอายุก่อน 60 ปี (Early Retirement) สำหรับพนักงานประจำ 

ดังนั้น เพื่อบรรเทาความเสี่ยง ต่อสถานะการจ้างงานของแรงงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง อาจต้องมีนโยบายหรือมาตรการในการส่งเสริม การปรับตัวของผู้ประกอบการ ให้สามารถมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานการผลิตแบบใหม่ หรือส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตอื่น ตลอดจนมีแนวทางในการ upskill และ reskill ให้แก่แรงงาน เพื่อให้สามารถปรับตัวหรือเปลี่ยนอุตสาหกรรมได้

2. การเตรียมความพร้อมด้านทักษะแรงงาน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ระบุว่า อุตสาหกรรมที่มีการลงทุนเพิ่มส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งส่วนหนึ่งมีความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ซึ่งสายงานเหล่านี้อาจมีการจ้างแรงงานไทยประมาณ 1.7 แสนคน ไม่ว่าจะเป็น..

- กิจการดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่
- การประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์และวงจร
- การผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์
- การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
- การผลิตเครื่องจักรความแม่นยำสูง
- การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

 อย่างไรก็ตาม ผลการจัดอันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านดิจิทัล ปี 2566 ของ IMD สะท้อนให้เห็นว่า บุคลากรของไทยยังมีจุดอ่อน และยังต้องพึ่งพาแรงงานทักษะสูงจากต่างชาติ ดังนั้น เพื่อให้แรงงานไทยได้รับประโยชน์จากการลงทุนดังกล่าว ตลอดจนการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่มีมูลค่าสูงและใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้นในอนาคต ทุกภาคส่วนต้องเร่งการผลิต และพัฒนาทักษะของแรงงานไทยอย่างจริงจัง โดยเฉพาะด้าน STEM ซึ่งปัจจุบันยังมีข้อจำกัดทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ

3. อุทกภัยส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพ ทำราคาสินค้าเกษตรแพงขึ้น 

สถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2567 ส่งผลให้พื้นที่เกษตรกรรมมากกว่า 7.7 แสนไร่ใน 53 จังหวัด ได้รับความเสียหาย ทั้งจากการถูกน้ำท่วม และดินโคลนทับถม และส่งผลต่อความสามารถในการเพาะปลูกของที่ดิน ซึ่งทำให้ผลผลิตทางการเกษตร มีปริมาณลดลง โดยเฉพาะที่เป็นพืชระยะสั้น

ในระยะถัดไปอาจกระทบต่อค่าครองชีพของประชากรไทย เนื่องจากต้นทุนของวัตถุดิบอาจสูงขึ้นเนื่องจากการขาดแคลน โดยกระทรวงพาณิชย์ ควรตรวจสอบราคาสินค้าไม่ให้มีการปรับเพิ่มสูงจนเกินไป และกลายเป็นการซ้ำเติมภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นผู้ประสบปัญหาน้ำท่วมโดยตรง