Gen Z ในจีนหมดหวัง! ว่างงานพุ่ง 17% ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ในปีนี้
แรงงานกลุ่ม Gen Z ในจีนหมดหวังที่จะมีงานมีเงินเลี้ยงชีพ เมื่อพบอัตราการว่างงานพุ่งสูงเกิน 17% ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 แล้วในปี 2024
อัตราว่างงานในหลายๆ ประเทศทั่วโลกยังคงพุ่งสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กจบใหม่หรือ First Jobber ในประเทศจีน ที่มีเด็กใหม่ทยอยจบการศึกษาออกมาจำนวนมากทุกๆ ปี ปีนี้เองก็เช่นกัน สถานการณ์ “ว่างงาน” ของเด็กจบใหม่ยังน่าเป็นห่วง
โดยล่าสุด South China Morning Post รายงานอ้างถึงข้อมูลจาก “สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน” ที่เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า อัตราการว่างงานของแรงงานรุ่น Gen Z ในจีน (กลุ่มอายุ 16-24 ปี ไม่รวมนักศึกษา) ยังคงว่างงานพุ่งสูงอยู่ที่ 17.1% ในเดือนตุลาคม 2024 ซึ่งแม้จะลดลงกว่าเดือนก่อนๆ เล็กน้อย แต่ก็ยังถือเป็นอัตราที่สูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สี่ของปีนี้ ส่งผลให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนโอกาสในการทำงานมากขึ้น
ทั้งนี้ หากดูข้อมูลย้อนหลังไปก่อนหน้านี้พบว่า อัตราว่างงานของคนรุ่นใหม่จีนในเดือนสิงหาคมของปีนี้ พุ่งสูงถึง 18.8% (ถือเป็นระดับสูงสุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว) ถัดมาในเดือนกันยายนอยู่ที่ 17.6% ส่วนในเดือนตุลาคมอัตราว่างงานอยู่ที่ 17.1% และล่าสุดในเดือนพฤศจิกายนนี้ ตัวเลขยังคงสูงใกล้เคียงกันอย่างต่อเนื่อง
จีนต้องแก้ปัญหาให้ไว ปีหน้าเด็กจบใหม่ล็อตใหญ่จ่อทะลักตลาดแรงงาน
ขณะเดียวกัน อัตราการว่างงานของกลุ่มอายุ 25-29 ปี (Gen Z และ Gen Y ตอนปลาย) เพิ่มขึ้นแตะ 6.8% ในเดือนที่แล้ว แม้ว่าจะมีข้อมูลอีกชุดหนึ่งจากทางการจีนที่ยืนยันว่า อัตราการว่างงานในเขตเมืองโดยรวมลดลงประมาณ 5% ในเดือนตุลาคมก็ตาม
อย่างไรก็ตาม จีนต้องเตรียมรับมือและหาทางแก้ปัญหานี้ให้ไว เพราะปีหน้าจะมีนักศึกษาจบใหม่ล็อตใหญ่อีก 12.22 ล้านคนที่เตรียมทะลักสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งมีจำนวนสูงเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้เกิดแรงกดดันด้านการจ้างงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากโอกาสด้านตำแหน่งงานต่างๆ ไม่ได้เติบโตในอัตราเดียวกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ ส่งผลให้มีความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นจากความท้าทายต่างๆ ที่คนรุ่นใหม่ในจีนต้องเผชิญ
เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนของปีที่แล้ว พบว่า อัตราการว่างงานของกลุ่มแรงงานอายุ 16-24 ปี พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 21.3% ซึ่งส่งผลกระทบต่อความพยายามฟื้นฟูของปักกิ่งหลังจากการระบาดใหญ่ จากนั้นทางการได้หยุดการเผยแพร่ข้อมูลรายเดือนในเดือนสิงหาคมเพื่อปรับเทียบอัตราการวัดใหม่ และหลังจากไม่มีการเปิดเผยตัวเลขใดๆ ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน อัตราที่ปรับเทียบใหม่สำหรับเดือนธันวาคมก็ได้รับการประกาศที่ 14.9%
ปัญหาว่างงาน-งานเงินเดือนต่ำ ปัจจัยก่อเหตุอาชญากรรมในสังคม
นอกเหนือจากความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจแล้ว การว่างงานยังสามารถสร้างแรงกดดันทางสังคมได้อีกด้วย ยกตัวอย่างภัยสังคมที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้ กับกรณีเหตุการณ์ที่คนร้ายโจมตีผู้คนด้วยมีด ที่สถาบันศิลปะและเทคโนโลยีอาชีวศึกษาอู๋ซี ในเมืองอี้ซิง มณฑลเจียงซู ซึ่งตั้งอยู่ในภาคตะวันออกของจีนเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ทำให้มี ผู้เสียชีวิต 8 รายและบาดเจ็บ 17 ราย (ห่างจากเซี่ยงไฮ้ไปทางตะวันตกประมาณ 200 กิโลเมตร)
ตำรวจท้องถิ่นกล่าวว่า ผู้ต้องสงสัยซึ่งเป็นอดีตนักศึกษาอายุ 21 ปี ถูกควบคุมตัวไว้ในที่เกิดเหตุ ส่วนสาเหตุที่ผู้ร้ายก่อเหตุนั้นเนื่องจากรู้สึกหงุดหงิดกับความล้มเหลวทางการเรียน และความไม่พอใจที่เขาได้รับเงินเดือนน้อยในฐานะพนักงานฝึกงานในโรงงาน