น่าห่วง! สถานการณ์แรงงานไทย ไตรมาส 2 ปี 2567 อัตราว่างงานเพิ่มขึ้น

น่าห่วง! สถานการณ์แรงงานไทย ไตรมาส 2 ปี 2567 อัตราว่างงานเพิ่มขึ้น

ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ “ภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่สองของปี 2567 และแนวโน้มปี 2567 พบว่า สถานการณ์ด้านแรงงานในระบบประกันสังคม: จำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นไตรมาสที่ 13

KEY

POINTS

  • สัดส่วนผู้ประกันตนที่ได้รับประโยชน์กรณีว่างงานตามมาตรา 33 ในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 1.92 สูงกว่าร้อยละ 1.84 ในไตรมาสก่อนหน้า
  • อัตราการว่างงานในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 1.07 สูงกว่าร้อยละ 1.01 ในไตรมาสก่อนหน้า และสูงกว่าร้อยละ 1.06 ในไตรมาส เดียวกันของปีก่อน
  • การเปิดโรงงานใหม่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การปิดโรงงานก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ภาครัฐต้องมีมาตรการช่วยเหลือสนับสนุนผู้ประกอบการไทย

ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ “ภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่สองของปี 2567 และแนวโน้มปี 2567 พบว่า สถานการณ์ด้านแรงงานในระบบประกันสังคม: จำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นไตรมาสที่ 13 โดยสัดส่วนผู้ประกันตนที่ได้รับประโยชน์กรณีว่างงานตามมาตรา 33 สูงกว่าไตรมาสก่อนหน้าแต่ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ในไตรมาสที่สองของปี 2567 ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เร่งขึ้นจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ประกอบด้วย ผู้ประกันตนภาคบังคับตามมาตรา 33 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 ในไตรมาสก่อนหน้า และผู้ประกันตนตามความสมัครใจ (มาตรา 40) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.56 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.64 ในไตรมาสก่อนหน้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

‘เทคโนโลยี ความยั่งยืน’ เปลี่ยนตลาดแรงงาน ‘ยานยนต์’ ต้องการแรงงานทักษะสูง

ตลาดแรงงานสายอาชีพบัญชียังมีความต้องการสูง

ผู้ประกันตนม.33 ได้รับประโยชน์จากว่างงาน

ขณะที่ ผู้ประกันตนตามความสมัครใจ (มาตรา 39) ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 8 ร้อยละ 5.9 เทียบกับการลดลงร้อยละ 5.1 ในไตรมาสก่อนหน้า สำหรับสัดส่วนผู้ประกันตนที่ได้รับประโยชน์กรณีว่างงานตามมาตรา 33 ในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 1.92 สูงกว่าร้อยละ 1.84 ในไตรมาสก่อนหน้า แต่ต่ำกว่าร้อยละ 2.13ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีจำนวนผู้ประกันตนที่ได้รับประโยชน์กรณีว่างงานตามมาตรา 33 เฉลี่ยจำนวน 2.31 แสนคน สูงกว่าจำนวน 2.18 แสนคน ในไตรมาสก่อนหน้า แต่ต่ำกว่าจำนวน 2.50 แสนคน ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

สำหรับ ผู้มีงานทำ: จำนวนผู้มีงานทำปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ตามการลดลงของผู้มีงานทำในภาคเกษตร เป็นสำคัญ ในขณะที่ผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 9 ส่วนอัตราการว่างงานสูงกว่าไตรมาสก่อนหน้าและสูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

โดยในไตรมาสที่สองของปี 2567ผู้มีงานทำจำนวนทั้งสิ้น 39.50 ล้านคน ลดลงร้อยละ 0.4 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.1 ในไตรมาสก่อนหน้าจำแนกเป็น ผู้มีงานทำชาวไทยจำนวน 36.17 ล้านคน (สัดส่วนร้อยละ 91.56) ลดลงร้อยละ 2.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.6 ในไตรมาสก่อนหน้า และผู้มีงานทำชาวต่างด้าวจำนวน 3.33 ล้านคน (สัดส่วนร้อยละ 8.44) เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.1 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.8 ในไตรมาสก่อนหน้า

น่าห่วง! สถานการณ์แรงงานไทย ไตรมาส 2 ปี 2567 อัตราว่างงานเพิ่มขึ้น

อัตราการว่างงานในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 1.07

ทั้งนี้ ผู้มีงานทำภาคเกษตร (สัดส่วนร้อยละ 27.97) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ร้อยละ 5.0 สอดคล้องกับการลดลงของผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญบางรายการ เช่น ข้าวเปลือก กลุ่มผลไม้ มันสำปะหลัง และยางพารา เป็นต้น

ในขณะที่ผู้มีงานทำนอกภาคเกษตร (สัดส่วนร้อยละ 72.03) เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 9 ร้อยละ 1.5 ตามการเพิ่มขึ้นของผู้มีงานทำในสาขาอุตสาหกรรม สาขาพักแรมและบริการด้านอาหาร สาขาก่อสร้าง เป็นสำคัญ ส่วนสาขาขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และรถจักรยานยนต์กลับมาขยายตัวอีกครั้ง

อัตราการว่างงานในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 1.07 สูงกว่าร้อยละ 1.01 ในไตรมาสก่อนหน้า และสูงกว่าร้อยละ 1.06 ในไตรมาส เดียวกันของปีก่อน โดยมีผู้ว่างงานเฉลี่ยจำนวน 4.29 แสนคน สูงกว่าผู้ว่างงานจำนวน 4.08 แสนคน ในไตรมาสก่อนหน้า และใกล้เคียงกับผู้ว่างงานจำนวน 4.29 แสนคน ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าเฉลี่ยครึ่งแรกของปี 2567 ผู้มีงานทำลดลงร้อยละ 0.3 ตามการลดลงของผู้มีงานทำในภาคเกษตรเป็นสำคัญและอัตราการว่างงานเฉลี่ยครึ่งปีแรกอยู่ที่ร้อยละ 1.04

น่าห่วง! สถานการณ์แรงงานไทย ไตรมาส 2 ปี 2567 อัตราว่างงานเพิ่มขึ้น

จ้างงานผู้ประกันตน ม.33 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

รวมสถานการณ์ด้านแรงงาน จากข้อมูลในเดือนเมษายน 2567 ของกองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานพบว่า ขณะนี้มีแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มีอยู่จำนวน 11,857,864 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.70 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2566 ที่มีอยู่จำนวน 11,659,514 คน แต่เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค. 2567 ที่มีอยู่จำนวน 11,882,607 คน ลดลงร้อยละ -0.21

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน สถานการณ์การว่างงานของไทยในระบบประกันสังคมในเดือน เม.ย.2567 มีผู้ว่างงาน จำนวน 228,840 คน เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.93 และ เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.67 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.74 โดยอัตราการว่างงานในระบบประกันสังคมในเดือน เม.ย.2567 อยู่ที่ร้อยละ 1.89 และจำนวนการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงานผ่านระบบขึ้นทะเบียนและรายงานตัวผู้ประกันตนกรณีว่างงานผ่านระบบออนไลน์ มีจำนวน 84,401 คน ซึ่งลดลงจากเดือน มี.ค.67 จำนวน 766 คน หรือลดลง -0.90 และลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2566 อยู่ที่จำนวน 3,220 คน หรือลดลง -3.68

“จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ภาพรวมสถานการณ์การจ้างงานของผู้ประกันตน ม.33 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยเฉพาะสาขาที่พักแรม ร้านอาหาร การค้า และการขนส่ง และสถานที่จัดเก็บสินค้าที่ฟื้นตัวได้ดี ในขณะที่สถานการณ์การว่างงาน และการเลิกจ้างมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสาขาที่ยังมีอัตราการว่างงานและการเลิกจ้างสูง ได้แก่ การโทรคมนาคม กิจกรรมไปรษณีย์ การรับส่งพัสดุภัณฑ์ และการผลิตภาพยนตร์ วีดีทัศน์และรายการโทรทัศน์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน รวมถึงการแข่งขันทางธุรกิจที่สูงขึ้น” นายไพโรจน์ กล่าว

ตำแหน่งงานว่างทั่วประเทศ 5 อันดับแรก

นายไพโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ว่างงาน ผมได้สั่งการให้กรมการจัดหางานเตรียมความพร้อมในการMatching งาน ให้กับผู้ที่ประสบปัญหาไว้เรียบร้อยแล้ว โดยขณะนี้มีตำแหน่งงานว่างสะสมอยู่ 505,553 อัตรา ตำแหน่งงานว่างทั่วประเทศ 5 อันดับแรก ได้แก่

1.แรงงานด้านการประกอบ,แรงงานบรรจุผลิตภัณฑ์

2.พนักงานขายของหน้าร้านและพนักงานสาธิตสินค้า, พนักงานขายโฆษณาและตัวแทนนายหน้า, ตัวแทนฝ่ายขายด้านเทคนิคและการค้า

3.เจ้าหน้าที่สำนักงานอื่นๆ

4.เจ้าหน้าที่คลังสินค้า

5.พนักงานรับส่งเอกสาร พนักงานขนสัมภาระ และพนักงานขนส่งสินค้าอื่นๆ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถช่วยเหลือบรรเทาได้สำหรับผู้ที่ต้องการสมัครงาน สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1-10 หรือสมัครงานผ่านทางแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” ซึ่งช่วยแก้ปัญหาการว่างงานโดยจะมีการรองรับการลงทะเบียนผู้ว่างงานหรือผู้หางาน ตลอดจนสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

น่าห่วง! สถานการณ์แรงงานไทย ไตรมาส 2 ปี 2567 อัตราว่างงานเพิ่มขึ้น

มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจในสภาวะปัจจุบันที่ยังคงมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูง ทั้งจากการเปลี่ยนผ่านทางด้านเทคโนโลยี ความเข้มงวดที่เพิ่มมากขึ้นด้านกฎระเบียบและมาตรฐานการค้าการผลิตระหว่างประเทศโดยเฉพาะประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สภาวะหนี้ภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูงที่ส่งผลให้ข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการยากมากขึ้น รวมถึงการเข้ามาแข่งขันของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศซึ่งกระทบต่อภาคการผลิตภายในประเทศ

แม้การเปิดโรงงานใหม่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การปิดโรงงานก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะการปิดตัวเพิ่มขึ้นของโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีภูมิคุ้มกันที่ไม่สูงนักในการเผชิญหน้ากับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจ ด้วยเงื่อนไขดังกล่าว

ภาครัฐมีความจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีมาตรการช่วยเหลือสนับสนุนผู้ประกอบการไทยกลุ่มดังกล่าว โดยมุ่งเน้นและให้ความสำคัญในส่วนของ

1) การยกระดับการผลิตและการดำเนินธุรกิจเช่น การให้ความช่วยเหลือการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง การสนับสนุนด้านองค์ความรู้ในเรื่องของการจัดการ การดำเนินธุรกิจและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจทั้งในระดับแนวราบหรือเครือข่ายธุรกิจที่มีขนาดใกล้เคียงกัน และการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจทั้งในระดับแนวลึกหรือเครือข่ายธุรกิจที่มีความสัมพันธ์กับธุรกิจหรือผู้ประกอบการขนาดใหญ่ เพื่อให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถน าพาตนเองให้เข้าไปสู่ระบบห่วงโซ่การผลิตขนาดใหญ่ของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ เป็นต้น

2) การส่งเสริมให้ธุรกิจเข้าถึงช่องทางการตลาดสมัยใหม่ โดยเฉพาะช่องทางการตลาดที่ใช้เทคโนโลยีออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่เน้นการกระตุ้นอุปสงค์ผ่านเทคนิคการใช้ Influencer ในการทำตลาดและเทคนิคการเล่าเรื่องเพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับสินค้า

3) การติดตามดูแลปัจจัยเสี่ยงที่อาจเข้ามากระทบกับการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs ทั้งในส่วนของการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่ไม่ได้มาตรฐานที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศควบคู่กับการดูแลและบริหารจัดการกลไกราคาสินค้าที่เป็นธรรมกับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

ตลอดจนพัฒนา/ปรับปรุงกลไกหรือกฎระเบียบที่เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจภายใต้สภาวะการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญทั้งในส่วนของเทคโนโลยีและประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการยกระดับศักยภาพการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ผ่านการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างเอกลักษณ์ของสินค้า ให้ตรงตามความต้องการของตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

รวมทั้งใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEsสามารถอยู่รอดและสามารถพัฒนาต่อยอดธุรกิจได้ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านสำคัญครั้งนี้ได้อย่างมั่นคง

น่าห่วง! สถานการณ์แรงงานไทย ไตรมาส 2 ปี 2567 อัตราว่างงานเพิ่มขึ้น