105 กิจการตัวอย่างข้อมูลความยั่งยืน !
ในปีนี้ 105 กิจารที่สามารถรักษาระดับการเปิดเผยข้อมูล "เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม" ให้เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ และร่วมกันตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG Target 12.6 ที่ระบุให้มีการผลักดันกิจการโดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติ-บริษัทขนาดใหญ่
เมื่อวันศุกร์ (17 ธ.ค.) ที่ผ่านมา ได้มีการประกาศรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ปี 2564 ซึ่งจัดขึ้นโดยประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน หรือ Sustainability Disclosure Community (SDC) ในความดูแลของสถาบันไทยพัฒน์
ปัจจุบัน การจัดทำข้อมูลความยั่งยืนของกิจการเพื่อเปิดเผยต่อสาธารณะ ได้กลายเป็นบรรทัดฐานของภาคธุรกิจที่ใช้สื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียขององค์กร เทียบเท่ากับการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินของกิจการให้แก่ผู้ลงทุน
ข้อมูลความยั่งยืนที่กิจการเปิดเผยตามมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับกลยุทธ์การดำเนินงาน การกำกับดูแล แนวการบริหารจัดการ และผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่สะท้อนทั้งในทางบวกและทางลบตามความเป็นจริง
ในรายงานการสำรวจ KPMG Survey of Sustainability Reporting 2020 ระบุว่า ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วโลก ได้มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนในอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี ค.ศ.2020 ร้อยละ 96 ของบริษัทในกลุ่ม G250 (บริษัทที่มีรายได้สูงสุด 250 แห่งในโลก จากการจัดอันดับของ Fortune 500) และร้อยละ 80 ของบริษัทในกลุ่ม N100 (บริษัทที่มีรายได้สูงสุด 100 แห่ง คัดจาก 5,200 บริษัท จาก 52 ประเทศทั่วโลก) มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนเปิดเผยต่อสาธารณะ
ทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้กำหนดมาตรฐาน รวมทั้งหน่วยงานผู้กำกับดูแล และตัวกลางซื้อขายหลักทรัพย์ ต่างมีการออกแนวทางการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน และมีการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การประกาศเกียรติคุณแก่องค์กรผู้จัดทำรายงาน เป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยผลักดันให้ภาคธุรกิจมีการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนดังกล่าวได้อย่างเสมอต้นเสมอปลายและกระจายตัวไปในวงกว้าง โดยสถาบันไทยพัฒน์ได้ทำหน้าที่เป็นองค์กรผู้จัดหลัก และเป็นทั้งองค์กรผู้ร่วมจัดมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 เป็นต้นมา
สำหรับโครงการประกาศรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนปีนี้ มีองค์กรสมาชิกประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนที่เข้ารับการพิจารณารางวัลจำนวน 125 ราย แบ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 95 ราย บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ 11 ราย บริษัททั่วไปที่มิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และองค์กรอื่นๆ อีก 19 ราย
องค์กรที่ได้รับรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนมีจำนวนทั้งสิ้น 105 ราย เป็นรางวัลเกียรติคุณ (Sustainability Disclosure Award) จำนวน 40 ราย ประกาศเกียรติคุณ (Sustainability Disclosure Recognition) จำนวน 45 ราย และกิตติกรรมประกาศ (Sustainability Disclosure Acknowledgement) จำนวน 20 ราย ( ดูผลการประกาศรางวัล ได้ที่ https://thaipat.org )
การเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบรายงานความยั่งยืนในปีนี้ ราวสองในสามขององค์กรผู้จัดทำรายงานที่เข้าร่วมรับการพิจารณารางวัล มีการจัดทำรายงานความยั่งยืนที่อ้างอิงจากมาตรฐาน GRI ที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการมาตรฐานความยั่งยืนสากล (GSSB) ในความอุปถัมภ์ขององค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative)
ทั้งนี้ แนวทางและมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนที่ได้รับการอ้างอิงมากสุด ได้แก่ GRI โดยคิดเป็นสัดส่วนราวสองในสามของบริษัทที่จัดทำรายงานในกลุ่ม N100 และราวสามในสี่ของบริษัทที่จัดทำรายงานในกลุ่ม G250
และจากการสำรวจของ GRI ณ สิ้นปี ค.ศ.2020 ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับโลกด้านการเปิดเผยรายงานความยั่งยืน ในอันดับที่เก้า และรั้งอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน ตามด้วยสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และเมียนมาร์ ตามลำดับ
สำหรับการพิจารณาตัดสินรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ใช้เกณฑ์ 3 ด้าน ที่อ้างอิงจาก Ceres-ACCA ประกอบด้วย ด้านความสมบูรณ์ (Completeness) ของเนื้อหา น้ำหนักคะแนนร้อยละ 45 ด้านความเชื่อถือได้ (Credibility) ของเนื้อหา น้ำหนักคะแนนร้อยละ 35 ด้านการสื่อสารและนำเสนอ (Communication) เนื้อหา น้ำหนักคะแนนร้อยละ 20 ตามลำดับ
ภาพรวมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนขององค์กรผู้จัดทำรายงานในปีนี้ พบว่า ได้รับคะแนนด้านการสื่อสารและการนำเสนอเนื้อหาในสัดส่วนมากสุด รองลงมาเป็นด้านความสมบูรณ์ของเนื้อหา และในด้านความเชื่อถือได้ของเนื้อหา ตามลำดับ
ในโอกาสนี้ ขอแสดงความยินดีกับองค์กรผู้จัดทำรายงานที่ได้รับรางวัลในปีนี้ ทั้ง 105 ราย ที่สามารถรักษาระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ให้เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ และร่วมกันตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG Target 12.6 ที่ระบุให้มีการผลักดันกิจการ โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ รับข้อปฏิบัติที่ยั่งยืนไปดำเนินการ และผนวกข้อมูลด้านความยั่งยืนเข้าไว้ในรอบการรายงานประจำปีของบริษัท อย่างต่อเนื่องติดต่อกันทุกปี