“บังคลาเทศ-ปากีสถาน” ฐานใหม่ “เวิลด์เฟล็กซ์”
เงินระดมทุนพร้อม ! แผนธุรกิจโลดแล่นทันที ! “ณัฐ วงศาสุทธิกุล” เอ็มดี “เวิลด์เฟล็กซ์” ฉายภาพการเติบโต เร่งขยายกำลังผลิต-รุกตลาดใหม่ “จุดขาย” น้องใหม่ไอพีโอ 142 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 7.20 บาท เทรดวันแรกก่อนคริสต์มาส
เมื่อตลาดเดิมที่คลุกคลีมาตลอด 30 ปี ของ บมจ. เวิลด์เฟล็กซ์ หรือ WFX ทั้งในและประเทศจีน คิดเป็นสัดส่วน “ส่งออก” ตลาดจีน 98% และไทย 2% ไม่สามารถผลักดันฐานะการเงินให้ขยายตัวสม่ำเสมอ หลังในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าจะพึ่งพิงตลาดจีนอย่างเดียวคงไม่ได้แล้ว ! เนื่องจากตลาดจีนเริ่มมีปัญหาทั้งค่าแรงที่แพงขึ้น ดังนั้น ตลาดในอุตสาหกรรมดังกล่าวจึงเติบโตช้า ขณะที่ตลาดไทยตลาดไม่เติบโตแล้ว
แต่ด้วยคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ใน “ปัจจัย 4” สะท้อนผ่าตลาดทั่วโลกในปัจจุบันมีปริมาณ “ความต้องการ” (ดีมานด์) การใช้เส้นด้ายยางยืด มีมูลค่าสูงถึง “2 แสนตันต่อปี” ฉะนั้น หนึ่งในบริษัทที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่วยต้องมี บมจ. เวิลด์เฟล็กซ์ หรือ WFX ผู้ผลิตและจำหน่ายเส้นด้ายยางยืดชนิดเคลือบแป้งและเส้นด้ายยางยืดชนิดเคลือบซิลิโคนรายแรกของไทย
ล่าสุด บมจ.ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TRUBB ผู้ผลิตน้ำยางข้น และผู้ถือหุ้นใหญ่ WFX จำนวน 66.35% (ตัวเลขหลังเสนอขาย IPO) กำลังเดินหน้าสร้าง “ความมั่งคั่ง” ครั้งใหม่ ! ด้วยการนำ WFX ก้าวเข้าสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น โดยเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวน 142 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 7.20 บาท คาดซื้อขายวันแรก (เทรด) ก่อนวันคริสต์มาส
โดยแบ่งเป็นจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ TRUBB จำนวนไม่เกิน 11.36 ล้านหุ้น จัดสรรให้แก่กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานของบริษัทไม่เกิน 14.20 ล้านหุ้น เสนอขายให้แก่ผู้มีอุปการคุณของบริษัทไม่เกิน 18.46 ล้านหุ้น และเสนอขายต่อบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์จำนวนไม่น้อยกว่า 97.98 ล้านหุ้น
“ณัฐ วงศาสุทธิกุล” กรรมการผู้จัดการ บมจ. เวิลด์เฟล็กซ์ หรือ WFX แจกแจงแผนการเติบโตในอนาคตให้ “กรุงเทพธุรกิจ BizWeek” ฟังว่า จากสารพัดปัญหา ! ทำให้ 4-5 ปีที่ผ่านมา บริษัทวางกลยุทธ์ธุรกิจใหม่ ด้วยการมองหา “โอกาส” ตลาดใหม่นอกประเทศจีน อย่าง เวียดนาม , กัมพูชา , บังคลาเทศ , ปากีสถาน , อินโดนีเซีย เป็นต้น โดยเฉพาะปัจจุบัน “ประเทศบังคลาเทศและปากีสถาน” บริษัทมีรุกเข้าไปทำตลาดมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นสองประเทศที่มีต้นทุนค่าแรงต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการผลิตสิ่งทอประเภทต่างๆ เข้าไปลงทุนจำนวนมาก
สำหรับ เป้าหมายของการเข้าระดมทุนในตลาดหุ้นครานี้ ! เพื่อสร้าง “โอกาส” รองรับการเติบโต รวมทั้งเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดใหม่ๆ ภายใต้ “จุดแข็ง” ของบริษัทที่เหนือกว่าคู่แข่งในตลาด ไม่ว่าจะเป็นความได้เปรียบของโปรดักท์ที่มีความหลากหลาย ครอบคลุมทุกขนาดและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด อีกทั้ง บริษัทยังมีความได้เปรียบด้านการเข้าถึง “วัตถุดิบ” (ยางพารา) เพราะโรงงานผลิตของบริษัทอยู่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำยางข้นอันดับ 1 ของโลก เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเส้นด้ายยางยืด รวมทั้งการที่มี TRUBB ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำยางข้นในไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ช่วยให้บริษัทเข้าถึงวัตถุดิบที่มีคุณภาพในปริมาณที่ต้องการได้
สะท้อนผ่านเงินขายหุ้นไอพีโอบริษัทนำไปใช้ “ขยายกำลังผลิตเส้นด้ายยางยืด” กำลังผลิต 12,400 ตันต่อปี จากกำลังผลิตปัจจุบัน 35,000 ตันต่อปี คาดจะใช้เงินไอพีโอจำนวน 350 ล้านบาท
โดยบริษัทแบ่งการลงทุนออกเป็น 2 เฟส ซึ่งลงทุน “เฟสแรก” กำลังผลิต 6,200 ตันต่อปี คาดจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ช่วงกลางปี 2565 และ “เฟสสอง” กำลังผลิต 6,200 ตันต่อปี จะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในช่วงปลายปี 2566 ทำให้บริษัทสามารถรองรับคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) ของลูกค้าได้มากขึ้น และทำให้บริษัทสามารถรักษาระดับการเติบโตของยอดขายได้เฉลี่ย 15% ต่อปี
“เรามองเห็นตลาดที่มีโอกาสในการขยายเข้าไปอีกมาก จากปริมาณความต้องการเส้นด้ายยางยืดทั่วโลก แม้ว่าผู้ประกอบการเส้นด้ายยางยืดในโลกมีอยู่หลายราย แต่มีเพียงไม่กี่ประเทศที่เป็นผู้นำตลาดที่ครองส่วนแบ่งตลาด (Market share) มากสุด รวมถึงบริษัทที่เป็นผู้นำที่ครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับต้นๆ ทำให้มีศักยภาพรองรับออเดอร์ลูกค้าอีกมาก”
นอกจากนี้ นำไปใช้คืนหนี้เงินกู้ระยะสั้นที่มีดอกเบี้ยสูง จำนวน 400 ล้านบาท ทำให้บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลงไปได้อย่างมีนัยสำคัญ และทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ของบริษัทลดลงมาที่ 0.3 เท่า จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.12 เท่า ทำให้บริษัทมีภาระหนี้สินลดลง รวมถึงการบริหารสต็อกและค่าเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้บริษัทสามารถควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ 248.12 ล้านบาท
เขาบอกต่อว่า ในแผนธุรกิจของบริษัทมีการวางกลยุทธ์ไว้ล่วงหน้า โดยการเจาะ “ตลาดใหม่ๆ” สร้างผลิตภัณฑ์คุณภาพที่มีความหลากหลาย การขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับการเติบโตที่วางแผนไว้ส่งผลให้บริษัทสามารถผลิตและจำหน่ายเส้นด้ายยางยืดที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านขนาดและคุณภาพที่แตกต่างกันไปสามารถรองรับความต้องการที่แตกต่างของเส้นด้ายยางยืดได้เพิ่มขึ้น ทั้งจากฐานลูกค้าเดิมและการขยายฐานลูกค้าใหม่
รวมถึง สัดส่วนรายได้จากการจำหน่ายสินค้าให้แก่กลุ่มลูกค้าประเภท “ผู้ใช้งานโดยตรง” (End-user) ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งบริษัทสามารถจำหน่ายสินค้าให้แก่กลุ่มลูกค้าประเภทผู้ใช้งานโดยตรง ได้ในราคาที่สูงกว่ากลุ่มลูกค้าประเภท “ผู้จำหน่ายสินค้า” (Distributor) ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) ส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นบางส่วนของอุปสงค์ของเส้นด้ายยางยืดชนิดเคลือบแป้งซึ่งเป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น สายคล้องหน้ากากผ้า ยางยืดขอบชุด PPE และหมวกคลุมผมทางการแพทย์ เป็นต้น
ขณะที่ ผลการดำเนินงานในงวด 9 เดือนแรกปี 2564 เติบโตโดดเด่น โดยมีรายได้รวม 2,583 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51% เทียบงวดเดียวกันของปีก่อนมีรายได้รวม 1,715 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 188 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 218% เทียบงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 59 ล้านบาท ถือเป็นการ “สร้างสถิติสูงสุด” เป็นประวัติการณ์
ท้ายสุด “ณัฐ” บอกไว้ว่า เรามีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง คาดบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรดีขึ้น สอดคล้องกับแผนการเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้ง ที่สามารถผลิตสินค้าได้หลากหลายชนิดมากยิ่งขึ้นทั้งในด้านขนาดและคุณภาพ เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น และในหลากหลายอุตสาหกรรมอีกด้วย
“เมื่อเรารู้ว่าตลาดตรงไหนมีความต้องการสินค้าของเรา เราจะตามไปด้วย ดังนั้น เราต้องเตรียมพร้อมรองรับออเดอร์ลูกค้า ด้วยการขยายกำลังการผลิตเพิ่ม”