เทคนิค "ซื้อสินทรัพย์" เข้าบริษัทให้คุ้มค่า "ประหยัดภาษี"

เทคนิค "ซื้อสินทรัพย์" เข้าบริษัทให้คุ้มค่า "ประหยัดภาษี"

เปิดเทคนิคการเลือกซื้อสินทรัพย์เพื่อประหยัดภาษีได้ ต้องเป็นสินทรัพย์แบบไหนที่ "สรรพากร" ยอมรับ เพราะหากเลือกซื้อผิด จากแทนที่จะลดหย่อนภาษีได้ ก็จะกลายเป็นเสียภาษีมากขึ้น!

เมื่อกิจการมีค่าใช้จ่าย (ที่สรรพากรยอมรับ) เยอะขึ้นเท่าไร ก็จะทำให้มีกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีน้อยลง ดังนั้นการใช้เงินที่ทำมาหาได้ของกิจการ มาใช้ในการซื้อสินทรัพย์เข้าบริษัท ก็เป็นอีกทางที่จะนำมาใช้วางแผนภาษีของกิจการเพื่อให้หักค่าใช้จ่ายให้ได้มากยิ่งขึ้นเช่นกันค่ะ

แต่สินทรัพย์แบบไหนและต้องทำอย่างไรบ้าง ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ เพราะถ้าหากเลือกวิธีซื้อสินทรัพย์เข้าบริษัทผิด อาจจะทำให้กิจการที่ใช้วิธีนี้กลายเป็นเสียภาษีมากขึ้นก็ได้

  • สินทรัพย์คืออะไร ? 

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับคำว่า "สินทรัพย์" กันเสียก่อน ว่าลักษณะแบบไหนบ้างที่เรียกว่าเป็น "สินทรัพย์ของธุรกิจ"

ความหมายของคำว่า “สินทรัพย์” คือ ทรัพยากรที่อยู่ในความควบคุมของกิจการ โดยที่ทรัพยากรดังกล่าวเป็นผลของเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งกิจการคาดว่าจะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจจากทรัพยากรนั้นในอนาคตได้  

หรืออธิบายแบบตรงตัวก็คือ หากกิจการซื้อหรืออะไรที่ได้มาแล้วสามารถใช้ประโยชน์ได้ หรือยังใช้ไม่หมดในทันที จะถือว่าของสิ่งนั้นเป็นสินทรัพย์ของธุรกิจ อย่างการซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานเข้าบริษัท เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก โทรศัพท์ เครื่องปรินเตอร์ มาใช้ในสำนักงาน ซึ่งมีอายุการใช้งานนานเกิน 1 ปี แบบนี้ก็ถือเป็นสินทรัพย์ของธุรกิจ

นอกจากนี้ยังรวมถึง "ลักษณะของสินทรัพย์" แบบอื่นๆ ดังนี้

1. สินทรัพย์ที่เป็นตัวเงินหรือเทียบเท่าเงิน เช่น เงินสด และตั๋วเงินรับต่างๆ
2. สินทรัพย์ที่เป็นสิทธิเรียกร้อง เช่น ลูกหนี้
3. สินทรัพย์ที่มีตัวตน เช่น ที่ดิน อาคาร รถยนต์
4. สินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน เช่น สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ สัมปทาน
5. รายจ่ายที่จ่ายไปแล้วจะให้ประโยชน์ต่องวดบัญชีถัดไป ได้แก่ ค่าใช้จ่ายล่วงหน้าประเภทต่างๆ เช่น ค่าโฆษณาจ่ายล่วงหน้า

  • ซื้อสินทรัพย์ในนามบริษัท

การซื้อสินทรัพย์เพื่อใช้ในบริษัท สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเสมอคือ ต้องซื้อในนามบริษัทเท่านั้น เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ทางภาษีได้อย่างเต็มที่และถูกต้องตามกฎหมาย สามารถนำมาหักค่าใช้จ่าย และหักเป็นค่าเสื่อมราคาได้

แต่ถ้าหากซื้อสินทรัพย์เป็นของส่วนตัว เช่น รถยนต์ บ้าน แล้วนำมาลงในนามบริษัท ถือว่าเป็นวิธีการที่ผิด เนื่องจากการนำสินทรัพย์ส่วนตัวมาลงในนามบริษัทและตัดค่าใช้จ่าย หรือค่าเสื่อมราคา แต่สินทรัพย์นั้นไม่ได้มีการใช้งานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการของบริษัทจริง จะไม่สามารถนำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีได้ ถือเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว เป็น "ค่าใช้จ่ายต้องห้าม"

ทั้งนี้ ในส่วนของสินทรัพย์ส่วนตัว แต่นำมาใช้ในกิจการจริง จะเข้าข่ายอยู่ในกลุ่มของการเช่า โดยค่าเช่าที่เหมาะสมในการนำมาเป็นค่าใช้จ่ายไม่ควรสูงเกินกว่าปกติ และค่าเช่านี้จะถือเป็นรายได้ของผู้ให้เช่าที่ต้องรวมเป็นรายได้ยื่นภาษีด้วย  

  • มีหลักฐานเอกสารซื้อสินทรัพย์

สินทรัพย์ต่างๆ ที่ซื้อมาใช้ในสำนักงาน นอกจากจะต้องซื้อในนามบริษัทแล้ว ต้องให้ออกเอกสารเป็นใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี หรือบิลเงินสดที่มีชื่อ ที่อยู่ของผู้ขาย และต้องระบุชื่อผู้ซื้อในนามบริษัทเท่านั้น ข้อมูลในเอกสารต้องถูกต้อง ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด จึงจะสามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานค่าใช้จ่ายของบริษัท เพื่อใช้ประโยชน์ในการหักค่าใช้จ่ายตอนยื่นภาษีได้  

และต้องเก็บเอกสารหลักฐานการซื้อขายสินทรัพย์นั้นๆ ให้ครบทั้งหมด เพราะเมื่อใดที่สรรพากรเรียกตรวจสอบขอเอกสารเพิ่มเติมย้อนหลัง กิจการต้องสามารถส่งหลักฐานและเอกสารได้ครบตามที่แจ้งกับสรรพากรไว้ ไม่เช่นนั้นจากที่เสียภาษีน้อยลง หากถูกสรรพาประเมินภาษีใหม่ทั้งหมด อาจกลายเป็นว่าต้องเสียภาษีมากขึ้น 

  • สินทรัพย์ที่ได้มาจากการเช่าซื้อ

ในกรณีสินทรัพย์อยู่ในลักษณะเช่า เช่น เครื่องจักร รถยนต์ อาคาร จะมีอยู่ 2 แบบด้วยกัน คือแบบ “เช่าซื้อ” และ “ลิสซิ่ง” ซึ่งกิจการต้องพิจารณาให้ดีว่าจะเลือกใช้เป็นสินทรัพย์แบบลิสซิ่งหรือเช่าซื้อ เนื่องจากสินทรัพย์ประเภทนี้ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้แตกต่างกันดังนี้

1.เช่าซื้อ หรือสินทรัพย์ที่ได้มาโดยการทำสัญญาเช่าซื้อ โดยเมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญา กรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์จะตกเป็นของกิจการทันที สินทรัพย์ลักษณะนี้แม้กิจการจะยังไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่ถือเป็นสินทรัพย์ของกิจการตั้งแต่เริ่ม ค่าใช้จ่ายที่สามารถบันทึกได้จะเป็นค่าเสื่อมราคาต่อปีรวมดอกเบี้ย เมื่อคำนวณแล้วจะต้องไม่เกินราคาที่จะต้องผ่อนชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น

การนำไปลดหย่อนภาษีจะได้น้อยกว่าแบบลิสซิ่ง คือได้น้อยกว่าค่าเช่ารายเดือน จึงเหมาะสำหรับธุรกิจ SMEs รายเล็กที่ยังมีภาระหนี้และภาระภาษีไม่มากนัก  

2.ลิสซิ่ง คือ สัญญาเช่า เมื่อหมดสัญญาสามารถเลือกได้ว่าจะเป็นเจ้าของ เช่าต่อ หรือคืนสินทรัพย์ให้กับเจ้าของ จึงไม่ถือเป็นสินทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ธุรกิจแต่เป็นลักษณะการเช่ามาใช้งาน ซึ่งสามารถบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายได้ เป็นลักษณะของค่าเช่ารายเดือนตามที่จ่ายจริง 

ค่าเช่ารายเดือนถือเป็นค่าใช้จ่ายได้ทั้ง 100% สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวน และนำไปลดหย่อนภาษีได้มากกว่าแบบเช่าซื้อ  ซึ่งเหมาะกับธุรกิจที่มีกำไรสูงและต้องการลดกำไรเพื่อให้เสียภาษีน้อยลงจำนวนมาก

  • SMEs หักค่าเสื่อมราคาสินทรัพย์ได้มากกว่า

อย่างที่กล่าวไปบ้างแล้วเกี่ยวกับค่าเสื่อมราคา เพราะสินทรัพย์ที่มีอายุการให้ประโยชน์ระยะยาวมากกว่า 1 ปี จะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายที่เรียกว่า “ค่าเสื่อมราคา” ด้วย (หมายความว่า กิจการไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินทรัพย์นั้นภายในครั้งเดียว แต่ต้องทยอยหักเป็นค่าใช้จ่าย ตามจำนวนปีของอายุการให้ประโยชน์ของสินทรัพย์ชิ้นนั้นๆ)

ดังนั้น สำหรับกิจการที่เป็น SMEs เมื่อมีการซื้อทรัพย์สิน สามารถหักค่าเสื่อมราคาในอัตราพิเศษ สำหรับทรัพย์สินที่ซื้อมาหลังวันที่ 31 มกราคม 2545 เป็นต้นไป โดยมีเงื่อนไขของ SMEs ดังนี้

1.เป็นนิติบุคคลไทย ที่มีสินทรัพย์ถาวร (อาคาร และอุปกรณ์) ไม่รวมที่ดิน ไม่เกิน 200 ล้านบาท

2.มีการจ้างแรงงาน ไม่เกิน 200 คน

ตัวอย่างเช่น...

- คอมพิวเตอร์ รวมถึงอุปกรณ์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ สามารถนำมาหักเป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้ร้อยละ 40 ณ วันที่ได้สินทรัพย์มา และส่วนที่เหลือไม่น้อยกว่า 3 รอบบัญชี (ร้อยละ 33.33 ต่อปี)

- โรงงาน สามารถหักค่าเสื่อมได้ร้อยละ 25 ในวันที่ได้มา และส่วนที่เหลือหักไม่น้อยกว่า 20 รอบบัญชี (ร้อยละ 5 ต่อปี)

- เครื่องจักร สามารถหักเป็นค่าเสื่อมราคาได้ร้อยละ 40 ณ วันที่ได้สินทรัพย์มา และส่วนที่เหลือภายใน 5 รอบบัญชี (ร้อยละ 20 ต่อปี)

สรุป

เนื่องจากสินทรัพย์เป็นสิ่งจำเป็นที่กิจการต้องซื้อเข้าบริษัท เพื่อใช้ในธุรกิจให้ดำเนินกิจการต่อได้จนบรรลุเป้าหมายอยู่แล้ว การตัดสินใจซื้อสินทรัพย์ใดๆ ก็ตาม ขอเพียงให้กิจการคิดเสมอว่าสินทรัพย์ที่จะซื้อมานั้น จะนำมาใช้อะไร รวมถึงสามารถใช้วิธีไหนได้บ้างที่ถูกต้องตามกฎหมาย ที่จะมาช่วยทำให้สินทรัพย์ที่ซื้อมานั้นเกิดความคุ้มค่า และประหยัดภาษีได้มากที่สุด ก็จะทำให้กิจการสามารถวางแผนภาษีได้อย่างถูกต้อง และเกิดประโยชน์มากที่สุดแล้วนั่นเอง

-----------------------------------
Source : Inflow Accounting
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่