“พีทีจี”ดึง“สตาร์ทอัพ”ไทย ร่วมหนุน“นอนออยล์บิสสิเนส”
หลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย แต่การปรับตัวของ “ผู้ค้าน้ำมัน” ต่างไม่ได้มุ่งเป้าไปที่ขายขายน้ำมันเพียงอย่างเดียว ทั้งเทรนด์พลังงานทางเลือกเริ่มเข้ามา ทำให้ “พีทีจี เอ็นเนอยี” ผู้ให้บริการน้ำมันรายใหญ่ในไทยมองสถานการณ์นี้ทั้งมุมด้านโอกาสและความท้าทาย
รังสรรค์ พวงปราง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด(มหาชน) หรือ PTG กล่าวว่า ปี2565 จะเห็นสัดส่วนของนอนออยล์เพิ่มขึ้น โดยบริษัทฯ จะยังเดินหน้าต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตในอนาคต เช่น อุตสาหกรรมโอเลโอเคมิคอล (Oleo Chemical)เป็นต้น จากโครงการ Palm Complex ที่ปัจจุบันสามารถดำเนินโครงการได้เต็มกำลังการผลิต โดยคาดว่าจะต่อยอดผลิตภัณฑ์ ยา และเครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิวโดยเร็วๆ นี้จะเห็นผลิตภัณฑ์ออกมาวางจำหน่ายได้เนื่องจากขั้นตอนในการจะผลิตสินค้าแต่ละตัวจะต้องใช้ระยะเวลา 1-2 ปี และคาดว่าจะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงไตรมาส2/2565 ก็จะเริ่มขยายการลงทุนทั้งผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทั้งหาพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศที่สร้างความมั่นคงของโปรดักส์ที่ผลิตออกมาและสร้างความมั่นคงด้านของเทคโนโลยี
สำหรับการลงทุนกลุ่มสตาร์ทอัพ เร็วๆ นี้จะประกาศตัวลงทุนโดยจะเน้นกลุ่มสตาร์ทอัพราว 1-2 ราย โดยจะเน้นลงทุนกับกลุ่มสตาร์ทอัพที่เป็นคนไทยก่อน เพื่อสนับสนุนธุรกิจทั้งออยล์และนอนออยล์ โดยมุ่งเป้าไปที่การให้บริการแพลตฟอร์มมากกว่าเพื่อเดินตามวิสัยทัศน์ของพีทีจีที่อยากเห็นคนไทยอยู่ดีมีสุข พยายามสร้างความสะดวก ตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจช่วยให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น
รังสรรค์ กล่าวว่า สำหรับนโยบายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามนโยบาย 30/30 ซึ่งตั้งเป้าผลิตรถ Zero Emission Vehicle (ZEV) ซึ่งเป็นรถปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ.2030 หรือ พ.ศ.2573 นั้นจากการจัดงาน Motor Expo2021 ที่ผ่านมา ยอดขายรถEV ถือว่าน้อยมากหลักพันคันเท่านั้น โดยกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อคือกลุ่มคนกรุงเทพฯ ที่อาศัยอยู่ในเมือง
ทั้งนี้ สถานีชาร์จถือว่าสำคัญ โดยพีทีจีได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ติดตั้งสถานีชาร์จครอบลุมรองรับตลอดเส้นทางทั้งเขาใหญ่ หัวหิน กาญจนบุรี หรือแม้แต่ภาคเหนือ พีทีจีมีครบทุกภูมิภาค และในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.2565 พีทีจี จะขยายสถานีชาร์จเพิ่มอีก 20 สาขา จากปัจจุบันที่มี 5 สาขา โดยเป้าหมายการติดตั้งปี2565 อยู่ที่ 35 สาขา ซึ่งตามเป้าหมายเดิมจะต้องติดตั้งแล้วเสร็จ 17 สาขาภายในวันที่ 20 ธ.ค.2564 แต่ด้วยสถานการณ์โควิดจึงทำให้การนำเข้าล่าช้าออกไป โดยการลงทุนต่อสถานีอยู่ที่ 3-3.5 ล้านบาท เป็นสถานีชาร์จไฟฟ้าแบบ Quick Charge ทั้งหมด แรงดันอยู่ที่ 120 เมกะวัตต์ ในการชาร์จ 70-80% ใช้เวลาชาร์จไฟโดยแบ่งเป็นรถยุโรปแรงดันที่ 45-50 กิโลวัตต์ ใช้วลา 20 นาที ในขณะที่รถเอเชียจะรับแรงดันได้น้อยใช้เวลา 45 นาที
สำหรับเป้าหมายการขยายปั๊มพีที สเตชั่น ในปี2565 อยู่ที่ 80-100 สาขา จากปัจจุบันมีกว่า 2,200 สาขา และร้านกาแฟ 280 สาขา มีการเข้ามาใช้บริการอยู่ที่เฉลี่ยวันละ 1.5-1.8 ล้านคน ส่วนบัตรสมาชิก Max Card ขณะนี้สมาชิกเกือบ 17 ล้านสมาชิก ลูกค้าที่ใช้หมุนเวียนมีการแอคทีฟกว่า 20% โดยเพิ่มปีละกว่า 2 ล้านรายและคาดว่าอีก 5 ปีจะมีมากกว่า 30 ล้านสมาชิกตามเป้าหมาย
โดยบริษัทมียอดขายโตกว่า 10% ต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพ.ย.-ธ.ค.2564 ดังนั้น จึงมั่นใจว่าเป้าหมายการเติบโตปี2565 จะขยายตัวที่ 8-12% ส่วนงบลงทุนปี2565 ยังวางไว้ที่ 4,200-4,500 ล้านบาท โดยปี2564 ใช้ไปราว 3,100 ล้านบาท