กบง. เคาะขยายเวลาอุ้ม LPG ราคา 318 บาทต่อถังอีก 1 เดือน
กบง. พิจารณาคงราคาขายก๊าซหุงต้ม 318 บาท/ถัง 15 กก. ถึง 31 ม.ค.2565 เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน ไฟเขียวแผนการขับเคลื่อนฯ สมาร์ทกริด หนุนการพัฒนาระบบไฟฟ้าในอนาคต
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) กล่าวว่า ที่ประชุม กบง.เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2565 มีมติให้ขยายระยะเวลา คงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 14.3758 บาทต่อกิโลกรัม โดยมีกรอบเป้าหมายเพื่อให้ราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ต่อไปอีก 1 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 1-31 มกราคม 2565) โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการ ติดตามสถานการณ์ราคา และประสานคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อพิจารณาบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องกับการทบทวนการกำหนดราคาก๊าซ LPG ต่อไป แล้วนำเสนอแนวทางการบริหารจัดการราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ต่อ กบง. พิจารณาอีกครั้ง
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ที่ประชุม กบง. มีมติเห็นชอบแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ระยะปานกลาง พ.ศ. 2565–2574 (แผนการขับเคลื่อนฯ ระยะปานกลาง) ซึ่งเป็นแผนเพื่อขับเคลื่อนด้านสมาร์ทกริดตามกรอบแผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – 2579 โดยมีวิสัยทัศน์ (Vision) คือ “ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และการจัดการทรัพยากรในระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่จำเป็น รองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้ายุคใหม่ อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม"
โดยการขับเคลื่อนการดำเนินงานจะประกอบด้วย
เสาหลักที่ 1 การตอบสนองด้านโหลดและระบบบริหารจัดการพลังงาน (DR & EMS)
เสาหลักที่ 2 การพยากรณ์ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียน (RE Forecast)
เสาหลักที่ 3 ระบบไมโครกริดและโปรซูเมอร์ (Microgrid & Prosumer)
เสาหลักที่ 4 ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS)
เสาหลักที่ 5 การบูรณาการยานยนต์ไฟฟ้า (EV Integration) และแผนอำนวยการสนับสนุน
ทั้งนี้ แผนการขับเคลื่อนฯ ระยะปานกลาง จะมีความสำคัญและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบไฟฟ้าในอนาคต ซึ่งจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับระบบโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศให้สามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน
รวมถึงการใช้ประโยชน์จากแหล่งพลังงานแบบกระจายศูนย์ (DERs) ประเภทต่างๆ ที่จะเติบโตตามแนวโน้มของโลก เพื่อช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งไปสู่พลังงานสะอาดและลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปีค.ศ. 2050 ตามที่นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเจตจำนงในการประชุม COP26 และเกิดประโยชน์ในมิติของความสมดุลด้านพลังงาน (Energy Trilemma) มีความสอดคล้องกับหลักการเสริมสร้างความยั่งยืนตามยุทธศาสตร์ของด้านความมั่นคง ด้านความมั่งคั่ง และด้านความยั่งยืน อีกด้วย
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ตามแผนการขับเคลื่อนฯ ระยะปานกลาง และให้นำกิจกรรม/โครงการ รวมถึงงบประมาณของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งภายใต้แผนการขับเคลื่อนฯ ระยะปานกลาง เสนอคณะกรรมการจัดทำแผนบูรณาการการลงทุนและการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า (คณะกรรมการจัดทำแผนบูรณาการฯ) พิจารณาต่อไป