​“หมีพ่นไฟ” จ่าย 10 ล้าน หลังศาลตัดสิน ฐาน “ลวงขาย” เปิดข้อกฎหมาย ผิดตรงไหน?

​“หมีพ่นไฟ” จ่าย 10 ล้าน หลังศาลตัดสิน ฐาน “ลวงขาย” เปิดข้อกฎหมาย ผิดตรงไหน?

​​เปิดข้อกฎหมาย ศาลตัดสิน “หมีพ่นไฟ” จ่าย 10 ล้าน ให้ "เสือพ่นไฟ" ฐาน “ลวงขาย” ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 

จากกรณี "เสือพ่นไฟ" ชนะคดีละเมิดเครื่องหมายการค้า โดยศาลสั่งให้ "หมีพ่นไฟ" ชดใช้เงิน 10 ล้านบาท ฐานลวงขาย ซึ่งกลายเป็นค่าเสียหายสูงสุดในคดีเครื่องหมายการค้าไทย ทำให้เกิดความสงสัยว่า สิ่งใดที่ทำได้ หรือทำไม่ได้บ้าง กรุงเทพธุรกิจออนไลน์จึงขอเปิดข้อกฎหมายจากพ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 

การลวงขาย (Passing Off) เป็นการทำให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกว่าสินค้าของตน มีความเกี่ยวข้อง หรือเข้าใจว่าเป็นสินค้าของแบรนด์อื่น แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเครื่องหมายทางการค้า ตามมาตรา 46 วรรค 2 ที่ระบุไว้ว่า

“บุคคลใดจะฟ้องคดี เพื่อป้องกันสิทธิการละเมิดในเครื่องหมายการค้า ที่ไม่ได้จดทะเบียน หรือ เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดสิทธิดังกล่าวไม่ได้

บทบัญญัติมาตรานี้ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน ในอันที่จะฟ้องคดีบุคคลอื่นซึ่งเอาสินค้าของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น”

ในกรณีของ เสือพ่นไฟ ฟ้อง หมีพ่นไฟ นั้นทางศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ หมีพ่นไฟ (The Fire Bear) ได้ใช้ชื่อแบรนด์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ที่มีความใกล้เคียงกับ เสือพ่นไฟ (The Fire Tiger) อีกทั้งทำธุรกิจขายชานมไข่มุกเช่นเดียวกัน ตลอดจนการใช้ประติมากรรมรูปหัวหมีพ่นไฟ ที่มีลักษณะอ้าปากเป็นช่องส่งสินค้าชานมไข่มุกให้แก่ลูกค้า เป็นการกระทำละเมิด ฐานลวงขาย เนื่องจากมีลักษณะการดำเนินธุรกิจที่คล้ายกับ เสือพ่นไฟ ซึ่งทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าทั้งสองแบรนด์เป็นสินค้าที่มีเจ้าของเดียวกัน นั่นเอง

​“หมีพ่นไฟ” จ่าย 10 ล้าน หลังศาลตัดสิน ฐาน “ลวงขาย” เปิดข้อกฎหมาย ผิดตรงไหน?

ทางด้าน “สืบสิริ ทวีผล” ทนายความฝ่ายเสือพ่นไฟ เปิดเผยว่า คดีนี้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายหลายส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความคุ้มครองเกี่ยวกับหลักกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่เรียกว่า “Trade Dress” หรือ ความคุ้มครองการตกแต่งรูปลักษณ์ของสินค้าและบริการ 

โดย Trade Dress นั้นเป็นการให้ความคุ้มครองเครื่องหมายในภาพรวม เช่น การคุ้มครองฉลาก หีบห่อ บรรจุภัณฑ์ของสินค้า นอกเหนือจากเครื่องหมายการค้า รวมถึงให้ความคุ้มครอง การจัดหน้าร้านหรือการตกแต่งสถานที่ให้บริการอันมีลักษณะโดดเด่นเป็นที่จดจำของผู้บริโภคนั่นเอง

นอกจากกรณีของเสือพ่นไฟ และ หมีพ่นไฟแล้ว ยังมีกรณีของร้านราเม็งเจ้าหนึ่งของไทย ที่ได้รับแรงบันดาลใจในการตกแต่งร้าน รูปแบบการให้บริการ เมนูสูตรพิเศษ คล้ายกับร้านราเม็งชื่อดังของประเทศญี่ปุ่น ทำให้หลายคนเข้าใจว่า เป็นร้านเดียวกันกับที่ญี่ปุ่นมาเปิดสาขาในประเทศไทย จนสื่อญี่ปุ่นนำไปรายงานข่าว 

แต่ทั้งนี้ ในกรณีดังกล่าวร้านราเม็งในประเทศญี่ปุ่นไม่สามารถดำเนินการฟ้องร้องร้านราเม็งในประเทศไทยได้ เนื่องจากเป็นคนละประเทศ และไม่ได้มีการจดสิทธิบัตรในประเทศไทย ในขณะเดียวกันถ้าหากร้านราเม็งในประเทศไทยไปจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับอัตลักษณ์และระบบของร้านไปจดสิทธิบัตรก่อน เมื่อร้านที่ญี่ปุ่นมาเปิดสาขาในประเทศไทยก็อาจจะมีปัญหาได้

อีกกรณีที่เป็นที่พูดถึงเมื่อต้นเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา คือ กรณีของร้านก๋วยเตี๋ยวเรือทอง “สมิทธ์” และ “ทองสยาม” ที่ชาวโซเชียลตั้งข้อสังเกตว่ามีความคล้ายคลึงกันตั้งแต่ชื่อร้าน การจัดร้าน ตลอดจนการวางรูปเล่มรายการอาหาร ส่งผลให้ลูกค้าเกิดความสับสน

ปลา - อัจฉรา บุรารักษ์” เจ้าของร้านทองสมิทธ์ ได้ออกมาโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับร้านก๋วยเตี๋ยวเรือคู่กรณี ขณะที่ “ก้องชนิทร์ หยาง” เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวเรือทองสยาม ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ ว่าทางร้านไม่ได้เลียนแบบใคร ทุกอย่างล้วนเป็นไอเดียของทางทีมงานเอง ส่วนชื่อร้าน แม้จะมีคำว่า “ทอง” เช่นเดียวกัน แต่ก็เป็นคนละสี ซึ่งกรณีนี้ ไม่ได้มีรายงานว่า ทางร้านทองสมิทธ์ได้ยื่นเรื่องฟ้องร้องหรือไม่

สำหรับความคล้ายคลึงที่เกิดขึ้นนั้น จะหาคำตอบทางข้อกฎหมายได้อย่างไร ว่า เป็นเพียงความบังเอิญ หรือ ตั้งใจ เรื่องนี้ หากดูข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 กำหนดความคุ้มครองเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง และเครื่องหมายร่วม ได้กำหนดสิ่งที่เรียกว่า “เครื่องหมาย” หมายถึง ภาพถ่าย ภาพประดิษฐ์ ตรา ชื่อ คำ ข้อความ ตัวหนังสือ กลุ่มของสี รูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ ซึ่งจะมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันก็ได้  

สำหรับข้อกฎหมายอื่น ๆ ตามพ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มีอีก 2 ข้อหาที่น่าสนใจ คือ “การปลอมเครื่องหมายการค้า” และ “การเลียนเครื่องหมายการค้า"

สำหรับการปลอมเครื่องหมายการค้า ปรากฏอยู่ใน มาตรา 108 โดยบัญญัติไว้ว่า

บุคคลใดปลอมเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรองหรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสี่ปีหรือปรับไม่เกินสี่แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

นั่นหมายความว่า การปลอมเครื่องหมายการค้า คือ การนำเครื่องหมายการค้าคนอื่นมาใช้กับสินค้าของตน มีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท

ขณะที่ การเลียนเครื่องหมายการค้า ปรากฏอยู่ใน มาตรา 109 โดยบัญญัติไว้ว่า

บุคคลใดเลียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรองหรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการ เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ดังนั้น การเลียนเครื่องหมายการค้า คือ การนำเครื่องหมายการค้าของคนอื่น มาใช้กับสินค้าตนเอง  โดยที่อาจจะมีการดัดแปลงเครื่องหมายการค้านั้น ๆ ไม่เหมือนต้นฉบับ 100% เพื่อให้คนเข้าใจว่า เป็นสินค้าจากแบรนด์นั้น ๆ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท

โดยการขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งขายหน้าร้านและขายผ่านช่องทางออนไลน์ นั้นมีความผิดทั้งการปลอมเครื่องหมายการค้าและการเลียนเครื่องหมายการค้า นอกจากนี้ยังมีความผิดตาม พรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 31 ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท และถ้าเป็นความผิดเพื่อการค้า ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน-2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สำหรับในคดีที่เสือพ่นไฟทำการฟ้องนั้น ศาลได้ตัดสินให้ ทางหมีพ่นไฟมีความผิดฐานลวงขาย ต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 10,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันฟ้อง รวมถึงชำระค่าเสียหาย เดือนละ 100,000 บาท นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะยุติการกระทำละเมิดดังกล่าว

 

ที่มา:

พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

IDG Thailand