MTC ลั่นปีหน้าผุด “สินเชื่อเงินผ่อน” เสริมพอร์ต ”แสนล้าน”

MTC ลั่นปีหน้าผุด “สินเชื่อเงินผ่อน” เสริมพอร์ต ”แสนล้าน”

"เมืองไทยแคปปิตอล" ลั่นปี 2565 ! ลุยธุรกิจ "สินเชื่อเงินผ่อน" หนุน พอร์ตเติบโต 30% แตะระดับ "แสนล้านบาท" พร้อมเดินหน้าเปิดสาขาเป็น 6,300 แห่ง หวังกระจายสาขาเข้าถึงลูกค้าทั่วประเทศ

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปี 2564 “ธุรกิจให้บริการสินเชื่อ” ถูกสารพัดปัจจัยลบเข้ามากระทบภาครวมอุตสาหกรรมไม่น้อย ไล่มาตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเมืองไทยที่ทวีความรุนแรงมากกว่าปี 2563 มาตรการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ยังคงมีนโยบายควบคุมดอกเบี้ยสินเชื่อ ภาพการเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดของสถาบันการเงิน และล่าสุดการขยับตัวเข้ามาของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ประกาศตั้งบริษัทย่อยเข้ามาชิงตลาดทำให้มองได้ว่าการแข่งขันน่าจะดุเดือดมากยิ่งขึ้น 

หนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถและสินเชื่อส่วนบุคคลอย่าง บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC ที่ปัจจุบันถือเป็นเบอร์ 1 ของตลาดจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์และรถยนต์มือสอง ที่ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดราว 2 แสนล้านบาท โดย MTC มี “ส่วนแบ่งทางการตลาด” (มาร์เก็ตแชร์) กว่า 50% 

“ชูชาติ เพ็ชรอำไพ” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC ให้สัมภาษณ์พิเศษ “หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ” ว่า แม้ในภาพรวมอุตสาหกรรมให้บริการสินเชื่อจะเติบโตชะลอตัว แต่ในส่วนของบริษัทไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าว สะท้อนผ่านปี 2565 บริษัทตั้งเป้าเติบโต 30% ซึ่งพอร์ตสินเชื่อของบริษัททะลุ 100,000-120,000 ล้านบาท จากปลายปีนี้คาดว่าสินเชื่อคงค้างสิ้นปีจะอยู่ที่ 90,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 80,000 กว่าล้านบาท 

โดยในปีหน้าจะเป็นปีที่บริษัทก้าวสู่ธุรกิจ “แสนล้านบาท” ซึ่งในปีหน้าสถานการณ์เศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น และไม่น่ามีภัยแล้งเพราะมีน้ำเต็มเขื่อน ดังนั้น ความต้องการสินเชื่อน่าจะดีโดยฐานลูกค้า MTC มีอยู่ราว 2.5 ล้านราย ซึ่ง 80-90% เป็นเกษตรกร

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มพอร์ตสินเชื่อยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเป็นผลจากความต้องการสินเชื่อที่ยังเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากปัจจุบันความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากเศรษฐกิจชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังไม่สู้ดี ทำให้ลูกค้ามีความจำเป็นต้องการเงินทุนเพิ่มขึ้น ประกอบกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยทำให้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ การขยายสาขาจะสามารถเข้าถึงลูกค้าได้เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยการขยายสาขา ในปี 2565 บริษัทตั้งเป้ามีสาขารวม 6,300 สาขา และเพิ่มเป็น 7,000 สาขา ในปี 2566 โดยปัจจุบันมีสาขาทั้งสิ้น ณ ไตรมาส 3 ปี 2564 อยู่ที่ 5,665 สาขา สำหรับยอดสินเชื่อต่อสาขาเฉลี่ยอยู่ที่ 15 ล้านบาทต่อสาขาในปัจจุบัน ซึ่งสูงกว่าคู่แข่งในตลาด 

ทั้งนี้ ปัจจุบัน MTC แบ่งพอร์ตธุรกิจออกเป็น 5 ธุรกิจ ประกอบด้วย 1.ธุรกิจให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถ 2. ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล 3.โฉนดที่ดิน 4.สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ 

และ 5. สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ (ลิสซิ่ง) ซึ่งดำเนินธุรกิจภายใต้บริษัท เมืองไทยลิสซิ่ง จำกัด (MTLS) ซึ่งบริษัทเพิ่งทำธุรกิจในปี 2562 โดยผลดำเนินงานที่ผ่านมาธุรกิจเติบโตก้าวกระโดดมาก แม้ว่าตลาดเช่าซื้อจะแข่งขันกันดุเดือด แต่บริษัทใช้กลยุทธ์สร้างการเติบโตจากฐานลูกค้าเดิม เนื่องจากลูกค้าที่จำนำทะเบียนรถกับบริษัทต้องมีการเปลี่ยนรถใหม่อยู่แล้ว ดังนั้น บริษัทจึงเสนอโปรดักท์ตัวนี้ให้ลูกค้าเดิมที่มีประวัติดีก่อน 

“หากลูกค้าอยากจะเปลี่ยนรถจักรยานยนต์คันใหม่เราก็เสนอผลิตภัณฑ์ตัวนี้ให้กับลูกค้าที่มีประวัติที่ดี โดยเราก็ไปซื้อรถจักรยานยนต์ที่ร้านค้ามาให้ และให้ลูกค้ามาทำสัญญากับบริษัท เพราะฉะนั้น เราก็ไม่ได้ไปแข่งขันกับใคร เพียงแต่เราให้บริการลูกค้าเดิมของเราเอง”

MTC ลั่นปีหน้าผุด “สินเชื่อเงินผ่อน” เสริมพอร์ต ”แสนล้าน” โดยปี 2564 ผลประกอบการเติบโตดีมาก ปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนรายได้จากธุรกิจลิสซิ่งประมาณ 5% ของรายได้รวม สะท้อนจากยอดขายรถจักรยานยนต์ใหม่ปีละ 1.5 ล้านคัน คิดเป็นสัดส่วนเงินผ่อน 1.2 ล้านคัน ซึ่งบริษัทมีมาร์เก็ตแชร์ประมาณ 8-10% คิดเป็นจำนวนยอดขายราว 5,000-8,000 คันต่อเดือน หรือเป็นมูลค่า 350-500 ล้านบาทต่อเดือน 

ทั้งนี้ ในปี 2565 นอกจากบริษัทเติบโตตามธุรกิจเดิมแล้ว ! บริษัทจะมี “ธุรกิจใหม่” (New Business) หรือ ธุรกิจที่ 6 เข้ามาเสริมพอร์ตสร้างการเติบโต ภายใต้บริษัทลูกคือ บริษัท เมืองไทย เพย์ เลเทอร์ จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท โดยจะนำเสนอผลิตภัณฑ์ “ซื้อก่อนผ่อนทีหลัง” คาดว่าจะเริ่มดำเนินธุรกิจได้ต้นปี 2565 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการวางระบบหลังบ้าน โดยบริษัทจะเสนอผลิตภัณฑ์ตัวใหม่นี้ให้ลูกค้าผ่านสาขาที่มีอยู่ทั้งหมด 

อย่างไรก็ตาม โปรดักท์ผ่อนสินค้าดังกล่าวจะเข้ามาเป็นอีกหนึ่งรายได้เสริมของบริษัท คาดว่าสินค้าที่บริษัทจะนำเสนอให้ลูกค้าจะเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในชีวิตประจำวัน เช่น โต๊ะ, ตู้เย็น, คอมพิวเตอร์, โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น โดยคาดว่ามูลค่าสินค้าที่จะให้ลูกค้าผ่อนกับบริษัทจะมีมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท โดยเบื้องต้นบริษัทจะเน้นฐานลูกค้าเดิมที่มีกว่า 3 ล้านราย และมีประวัติผ่อนชำระดี ซึ่งอนาคตบริษัทมีโอกาสดีลกับร้านค้าต่างๆ ในต่างจังหวัดก็จะเป็นพวกห้างค้าปลีก บิ๊กซี , โลตัส , แม็คโคร เป็นต้น 

“ปีหน้าตั้งเป้าเติบโต 30% โดยมีรายได้เสริมจาก 2 ธุรกิจเข้ามาคือ MTLS และ เมืองไทย เพย์ เลเทอร์ ดังนั้น เปรียบเป็นเก้าอี้มี 4 ขา ซึ่งตอนนี้เราก็มี 2 ขาแล้ว ถือว่าแข็งแรงในระดับหนึ่ง และในอนาคตเราจะมีขาที่ 3 หรือ ขาที่ 4 เข้ามาแน่นอน” 

ทั้งนี้ ช่วงวิกฤติโควิด-19 บริษัทไม่ได้รับผลกระทบมากนักสะท้อนจากหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ที่ไม่ได้เพิ่มขึ้น ยังอยู่ที่ระดับ 1.1-1.2% เนื่องจากบริษัทมีการสกรีน หรือคัดกรองลูกค้าตั้งแต่แรกที่มาขอกู้กับบริษัท หากเสี่ยงมากก็จะให้วงเงินน้อยหน่อย รวมถึงพิจารณาว่าเป็นคนในพื้นที่หรือไม่ ซึ่งบริษัทปล่อยกู้ต่อรายไม่ได้สูงมากประมาณ 1-3 หมื่นบาทต่อราย ชำระเดือนละ 1,000 บาท ระยะเวลา 12-15 เดือน จึงไม่เป็นภาระมาก ทำให้การชำระไม่ค่อยมีปัญหา

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีเงินทุนแข็งแกร่ง สัดส่วนหนี้ต่อทุน (D/E) ยังต่ำอยู่ที่ 2.8 เท่า ยังสามารถระดมทุนได้อีก 4-5 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมาปล่อยสินเชื่อ ซึ่งบริษัทใช้ทั้งหุ้นกู้ และสินเชื่อแบงก์ ดังนั้น สภาพคล่องจึงไม่มีปัญหายังสามารถขยายธุรกิจไปได้อีก 4-5 ปีข้างหน้า 

สำหรับเป้ารายได้ปีนี้มั่นใจว่ายังเติบโตตามเป้า 30% จากปีที่ผ่านมา เป็นผลจากการขยายสาขา และขยายพอร์ตสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง โดยมองว่า แนวโน้มในไตรมาส 4 ปี 2564 รายได้จะทำสถิติสูงสุดใหม่อีกครั้ง จากไตรมาส 3 ปี 2564 ที่ทำสถิติสูงสุดที่ 4,032 ล้านบาท 

“ในไตรมาส 4 ปี 64 มองว่า พอร์ตสินเชื่อน่าจะเติบโตได้ 30% จากไตรมาส 3 ปี 64 ที่เติบโตได้ 26% โดยจะเป็นผลจากการขยายสาขาได้ต่อเนื่อง และปีหน้าคาดว่าจะเติบโตทะลุ 100,000 ล้านบาทได้อย่างแน่นอน” 

ท้ายสุด “ชูชาติ” บอกไว้ว่า ปีหน้าต้องติดตามเกณฑ์กำกับดูแลใหม่ๆ ของภาครัฐ อย่างตอนนี้ก็มีเรื่องดอกเบี้ยเช่าซื้อที่จะให้ผู้ประกอบการคิดอัตรา 15% ต่อปี ซึ่งมีการเปิดรับความคิดเห็นไปแล้ว ก็มีเสียงคัดค้านและอยากให้อ้างอิงกับดอกเบี้ยพิโกไฟแนนซ์ที่ 33%

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์