โปรเจคส่งท้ายปีรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ "ช.การช่าง" ผนึกพันธมิตรเก่า "ซิโนไทย"
รฟม.เปิดชิงโปรเจคส่งท้ายปี รถไฟฟ้าสีม่วงใต้ “เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ” 8.2 หมื่นล้าน “ช.การช่าง-ซิโนไทย” ชูประสบการณ์งานอุโมงค์ ผนึกสู้ “ไอทีดี-เนาวรัตน์” ด้านยูนิค ฉายเดี่ยวยื่นครบทั้ง 6 สัญญา คาดสรุปชื่อผู้ชนะประมูลไตรมาส 1 ปีหน้า
โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) จะเป็นส่วนต่อขยายจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ ที่เปิดบริการมาตั้งแต่ปี 2559 โดยการประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรกถูกยกเลิกการประมูลเมื่อวันที่ 27 ส.ค.2564 เพราะขาดการดำเนินในขั้นตอนของการให้ความเห็นของผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม
ทั้งนี้ แม้การประมูลจะล่าช้าออกไป แต่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ออกมายืนยันถึงการเปิดให้บริการในปี 2570
รายงานข่าวจาก รฟม.เปิดเผยว่า ภายหลัง รฟม.เปิดขายซองเอกสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) พบว่ามีเอกชนซื้อซองเอกสารรวม 12 ราย แบ่งเป็น บริษัทไทย จำนวน 7 ราย และบริษัทต่างชาติ จำนวน 5 ราย ซึ่งมีกำหนดเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 27 ธ.ค.2564 พบว่า 5 บริษัทรับเหมาไทยรายใหญ่ร่วมประมูลโครงการทั้งรูปแบบกิจการร่วมค้าและยื่นข้อเสนอในนามบริษัท รวม 3 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 กิจการร่วมค้า CKST ที่มีพันธมิตรระหว่างบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ยื่นข้อเสนอประกวดราคาครบทั้ง 6 สัญญา รวมเอกสารที่ใช้ยื่นประกอบการพิจารณารวมกว่า 265 กล่อง
กลุ่มที่ 2 กิจการร่วมค้า ITD-NWR MRT ที่มีพันธมิตรระหว่างบริษัท อิตาเลียนไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) ยื่นข้อเสนอประกวดราคาครบทั้ง 6 สัญญาเช่นเดียวกัน โดยมีเอกสารประกอบการพิจารณารวม 150 กล่อง
รวมทั้ง ยังมีบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เข้ายื่นข้อเสนอเพียงรายเดียวในนามบริษัท โดยยื่นข้อเสนอครบทั้ง 6 สัญญา
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีวงเงินโครงการรวม 78,720 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้างงานโยธา 77,385 ล้านบาท ค่าสิ่งก่อสร้างทดแทนหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบ 1,335 ล้านบาท และเผื่อเหลือเผื่อขาด (Provisional Sum) 3,582 ล้านบาท โดยประกอบไปด้วย 6 สัญญา ครอบคลุมทั้งงานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ รวมไปถึงอาคารจอดแล้วจร จำนวน 4 แห่ง
เคาะผลประมูลไตรมาส 1
สำหรับหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอครั้งนี้ รฟม.ใช้วิธีพิจารณาซองเทคนิคร่วมกับซองราคา (Price Performance) คือ เอกชนผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ (ซองที่ 1) หลังจากนั้น รฟม.จะพิจารณาซองเทคนิค (ซองที่ 2) และซองราคา (ซองที่3) พร้อมกัน โดยกำหนดสัดส่วนคะแนนเทคนิคไว้ที่ 30 คะแนน และคะแนนราคาที่ 70 คะแนน
นอกจากนี้ รฟม.ยังกำหนดผู้ที่เข้าร่วมประมูลจะต้องมีผลงานในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 20 ปี ก่อนยื่นซองประมูล รวมทั้งคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลทุกราย จะต้องมีผลงาน อาทิ ผู้ยื่นข้อเสนอสัญญาที่ 1 จะต้องมีผลงานไม่น้อยกว่า 14,160 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา, ผู้ยื่นข้อเสนอสัญญาที่ 2 จะต้องมีผลงานไม่น้อยกว่า 11,570 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และผู้ยื่นข้อเสนอสัญญาที่ 3 จะต้องมีผลงานไม่น้อยกว่า 11,010 ล้านบาท ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เป็นต้น
อย่างไรก็ดี รฟม.คาดว่าหลังเปิดรับข้อเสนอเอกชนแล้วเสร็จ จะเสนอผลการคัดเลือกเอกชนให้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. พิจารณาผู้ชนะประมูลได้ภายในไตรมาสแรกปี 2565 หลังจากนั้นจะลงนามสัญญาทันทีภายในไตรมาส 2 เพื่อเร่งรัดเริ่มงานก่อสร้างภายในไตรมาส 3 โดยจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างตามสัญญา 2,005 วัน แล้วเสร็จประมาณปลายปี 2570
“ซิโน-ไทย”มั่นใจประสบการณ์
นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ มีความมั่นใจในการแข่งขันครั้งนี้ จากประสบการณ์งานก่อสร้างรถไฟฟ้าและงานอุโมงค์รถไฟฟ้า
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าโครงการนี้น่าจะมีการแข่งขันสูง เพราะถือเป็นโครงการที่มีมูลค่าสูง และเป็นงานภาครัฐส่งท้ายปี 2564 แต่จากเงื่อนไขข้อกำหนดในเอกสารประกวดราคา ข้อกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกของ รฟม.ค่อนข้างต้องการผู้ที่มีประสบการณ์งานขนาดใหญ่ และงานเฉพาะ ดังนั้นจะมีเอกชนรายใหญ่เท่านั้นที่คุณสมบัติเข้าเกณฑ์
“ยูนิค”ยื่นเดี่ยวชิงสีม่วงใต้
แหล่งข่าวจากบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่งแอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เผยว่า บริษัทฯ ยื่นข้อเสนอในนามบริษัทรายเดียว โดยยื่นข้อเสนอทั้ง 6 สัญญา เพราะมั่นใจในประสบการณ์งานที่ผ่านมา โดยบริษัทฯ มีประสบการณ์ตรงตามที่ รฟม.กำหนดในทีโออาร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานก่อสร้างอุโมงค์ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ เป็นผู้ก่อสร้างอุโมงค์หินในจังหวัดเชียงใหม่ ระยะทาง 13 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นงานที่มีเทคนิคค่อนข้างมาก อีกทั้งยังมีประสบการณ์ร่วมก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก รถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง
รายงานข่าวจาก รฟม.ระบุว่า สำหรับผู้ซื้อซองอีก 6 ราย ที่ไม่ได้ยื่นซองประมูลในครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.บริษัทรับเหมาก่อสร้างไทย คือ บริษัท เอ เอส แอสโซซิเอท เอ็นยิเนียริ่ง (1964) จำกัด , บริษัท สี่แสงการโยธา (1997) จำกัด
2.บริษัทรับเหมาก่อสร้างต่างประเทศ คือ บริษัท ซิโนไฮโดร คอรืปอเรชั่น ลิมิเต็ด , Tokyu Construction Company Limited , Kumagai Kumi Company Limited , บริษัท สุมิโตโม มิตซุย คอนสตรัคชั่น จำกัด และ Ssangyong Engineering & Constrution Company Limited
“ช.การช่าง-ซิโนไทย”พันธมิตรเก่า
รายงานข่าวระบุว่า ช.การช่างและซิโน-ไทย ก่อนหน้านี้เคยมีการร่วมพันธมิตรในนามกิจการร่วมค้า CKST เพื่อประมูลงานโยธารถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี โดยคว้างานก่อสร้างจำนวน 3 สัญญา มูลค่ารวม 46,971 ล้านบาท
ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้ซิโน-ไทยได้ร่วมยื่นข้อเสนอประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในนามกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR จับพันธมิตรกับบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ซึ่งในโครงการเดียวกันนี้มีคู่แข่ง คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM บริษัทในเครือ ช.การช่าง ได้ยื่นประมูลด้วย
ส่วนกิจการร่วมค้า ITD-NWR MRT เป็นความร่วมมือครั้งแรกระหว่างอิตาเลียนไทยและเนาวรัตน์พัฒนาการเพื่อประมูลโครงการรถไฟฟ้า แต่ก่อนหน้านี้ กิจการร่วมค้า ITD-NWR ได้ร่วมกันประมูลโครงการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำตามแนวถนนราชพฤกษ์ 4,014.3 ล้านบาท รวมไปถึงโครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว 26,568 ล้านบาท