ยกเลิกทริปภูเก็ต 30% เซ่นพิษ "โอมิครอน" รัฐคุมเข้ม!
นับเป็น 2 สัปดาห์แห่งความท้าทายของภาคท่องเที่ยวไทย! หลังจากรัฐบาลปรับมาตรการคุมเข้ม ป้องกันควบคุมโรคสำหรับสถานการณ์การระบาดของสายพันธุ์ “โอมิครอน” ตามมติของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา
ระงับการลงทะเบียนผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรยื่นขอไทยแลนด์พาส (Thailand Pass) ประเภท Test & Go และแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) เป็นการชั่วคราว ยกเว้น “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” และการเข้ามาแบบกักตัว ตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.2564-4 ม.ค.2565
ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวภูเก็ต กล่าวว่า ประเมินว่าในช่วง 2 สัปดาห์ที่รัฐบาลปรับมาตรการระงับลงทะเบียนฯประเภท Test & Go และแซนด์บ็อกซ์ในพื้นที่อื่นๆ ยกเว้นภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่ยังดำเนินการได้ ประกอบกับสถานการณ์ในตลาดหลัก “ยุโรป” พบการระบาดซ้ำของโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวกังวลเรื่องการล็อกดาวน์และต้องกักตัวขากลับประเทศต้นทาง ส่งผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยวของ “ภูเก็ต” ทำให้นักท่องเที่ยวยกเลิกการเดินทางเข้าพักในช่วง 2 สัปดาห์ดังกล่าวที่ประมาณ 30%
“อย่างไรก็ตาม พอมีโมเดลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มารองรับ พบว่าไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ช่วยลดแรงกดดันของผู้ที่จะเดินทางเข้ามา เนื่องจากพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าภูเก็ตช่วงไฮซีซั่น ส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรป รวมถึงรัสเซียและคาซัคสถานที่ต้องเดินทางเข้าภูเก็ตด้วยรูปแบบแซนด์บ็อกซ์หรือพำนักอย่างน้อย 7 วัน นิยมพำนักระยะยาวอยู่แล้ว แต่จะมีผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวจากตลาดระยะใกล้ที่มีการพำนักไม่ถึง 7 วัน เช่น สิงคโปร์ มากกว่า”
สำหรับสถิติการต้อนรับนักท่องเที่ยวของ จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2564 พบว่ามีนักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่เปิดประเทศ 1 พ.ย.-27 ธ.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 110,346 คน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวประเภท Test & Go จำนวน 76,632 คน เป็นชาวต่างชาติ 73,234 คน และชาวไทย 3,398 คน ส่วนนักท่องเที่ยวประเภทแซนด์บ็อกซ์ จำนวน 33,422 คน เป็นชาวต่างชาติ 32,878 คน และชาวไทย 544 คน ขณะที่นักท่องเที่ยวประเภทเข้ารับการกักตัว จำนวน 292 คน เป็นชาวต่างชาติ 271 คน และชาวไทย 21 คน
โดยสถิตินักท่องเที่ยว 5 อันดับแรกที่เดินทางเข้า จ.ภูเก็ต สูงสุด อันดับ 1 คือ “รัสเซีย” 16,805 คน รองลงมาคือเยอรมนี 11,742 คน อังกฤษ 9,474 คน สวีเดน 6,376 คน และฝรั่งเศส 5,635 คน
และเมื่อดูสถิตินักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่เปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2564 จนถึงวันที่ 27 ธ.ค. มีจำนวนเดินทางเข้ามาแล้วกว่า 171,028 คน
ภูมิกิตติ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้ามีการระงับลงทะเบียนฯยาวนานเกิน 2 สัปดาห์ที่กำหนด โดยเหตุของการระงับมาจากการระบาดของโอมิครอนภายในประเทศไทยอย่างเห็นได้ชัดและทำให้ระบบสาธารณสุขตึงเครียด เช่น อัตราการรักษาตัวในโรงพยาบาลสูงขึ้นหรือมียอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ก็ต้องมีการจัดการเพื่อควบคุมการระบาด แต่ถ้าไม่มีเหตุเหล่านี้ มองว่าภาครัฐอาจไม่จำเป็นต้องระงับการลงทะเบียนฯต่อ อย่างไรก็ตามการกลับมาเปิดระบบฯอีกครั้งต้องอยู่บนพื้นฐานความพร้อมด้วย! ทั้งระบบในการติดตามนักท่องเที่ยวและระบบการแจ้งผลแล็บ
“ถ้าภาครัฐตัดสินใจขยายเวลาระงับการลงทะเบียนฯออกไปอีก มองว่าต้องดูที่เหตุว่าเกิดจากอะไร แต่ถ้าถามว่าภูเก็ตจะเตรียมรับมืออย่างไร ตอนนี้ภูเก็ตก็มีโมเดลแซนด์บ็อกซ์รองรับ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนประเทศไทยในการรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาก่อนกระจายไปสู่ภูมิภาคอื่น”
ด้านสถานการณ์ท่องเที่ยวช่วงหยุดยาว “เทศกาลปีใหม่ 2565” ของภูเก็ต สมาคมฯประเมินว่าจะมีอัตราการเข้าพักที่ประมาณ 70% เป็นอัตราเดียวกับตลอดเดือน ธ.ค.นี้ จากโรงแรมที่กลับมาเปิดให้บริการ 40%
ละเอียด บุ้งศรีทอง นายกสมาคมโรงแรมไทย (ภาคเหนือตอนบน) กล่าวว่า สำหรับภาคการท่องเที่ยวของ “เชียงใหม่” ยังไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนักจากการปรับมาตรการระงับการลงทะเบียนฯของ ศบค.ที่ส่งผลต่อตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากมีการกระจายนักท่องเที่ยวจากกรุงเทพฯและภูเก็ตมาเชียงใหม่ไม่มาก ประกอบกับตลาดที่หล่อเลี้ยงภาคท่องเที่ยวเชียงใหม่ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวในประเทศกว่า 90% และพบการฟื้นตัวชัดเจนหลังจากเข้าสู่ไฮซีซั่นของภาคเหนือ แม้จะมีประเด็นความกังวลเรื่องการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน แต่พบว่า “นักท่องเที่ยวไทยยังมั่นใจ” ไม่ยกเลิกการเดินทาง!
“เราเห็นสัญญาณการฟื้นตัวดีของภาคท่องเที่ยวเชียงใหม่ แม้จำนวนสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 จะหมดตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมาแล้วก็ตาม โดยคาดว่าตลอดเดือน ธ.ค.นี้เชียงใหม่จะมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่ 80% จากโรงแรมที่เปิดให้บริการประมาณ 60% ของทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากอัตราการเข้าพักเดือน พ.ย.ที่ผ่านมาซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 58%”
ส่วนแนวโน้มสถานการณ์ท่องเที่ยวเชียงใหม่ในไตรมาส 1 ปี 2565 สมาคมฯมองว่ายัง “เป็นบวก” แม้ปัจจุบันจะพบการระบาดซ้ำและคลัสเตอร์ใหม่ในเชียงใหม่ โดยในเดือน ม.ค.2565 น่าจะมีอัตราการเข้าพักไม่ต่ำกว่า 60-70%
“ถ้ารัฐบาลไม่เร่งดำเนินการออกมาตรการที่เข้มข้นขึ้นเพื่อสกัดการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอน มองว่าอาจส่งผลกระทบในระยะยาวในช่วงไตรมาส 2-3 ของปีหน้าซึ่งตรงกับโลว์ซีซั่นของภาคการท่องเที่ยวเชียงใหม่”