กนอ. ส่งรถตรวจคุณภาพอากาศลงพื้นที่ เพลิงไหม้โรงงานย่านลาดกระบัง
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ส่งรถตรวจวัดคุณภาพอากาศลงพื้นที่เพลิงไหม้โรงงานย่านลาดกระบัง สั่งโรงงานระงับการประกอบกิจการชั่วคราว พร้อมเร่งหาสาเหตุ กำชับทุกนิคมอุตสาหกรรมคุมเข้มมาตรการเฝ้าระวังช่วงวันหยุดยาว เผยไร้ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า เหตุเพลิงไหม้โรงงานของบริษัท คิวแอนด์คิว โฮลดิ้ง จำกัด ถนนฉลองกรุง แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง เมื่อเวลาประมาณ 22.30 น.ของคืนที่ผ่านมา (28 ธ.ค.64) โดยใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ก่อนที่เพลิงจะสงบลงในเวลาประมาณ 24.00 น.
โรงงานดังกล่าวมีพื้นที่ 6 ไร่ 2 งาน ประกอบกิจการผลิตยางแผ่นและยางแผ่นพื้นรองเท้า มีพนักงาน จำนวน 120 คน ซึ่งเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้นบริเวณเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการผลิต ส่วนสาเหตุอยู่ระหว่างการสอบสวนจากเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเพื่อหาสาเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเบื้องต้นไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ส่วนมูลค่าความเสียหายยังไม่สามารถประเมินได้อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียด
ในขณะที่ น้ำที่ใช้ในการระงับเหตุเพลิงไหม้ กนอ.ได้ทำการปิดกั้นลำรางระบายน้ำฝน 4 จุด ภายในและบริเวณโดยรอบโรงงาน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำที่เกิดจากการดับเพลิงรั่วไหลออกสู่ภายนอกโรงงาน พร้อมทั้งเก็บน้ำตัวอย่างเพื่อตรวจสอบคุณภาพ
ส่วนทางด้านคุณภาพอากาศได้นำรถเคลื่อนที่สำหรับตรวจวัดคุณภาพอากาศ (Mobile Unit) จากสำนักนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดมาสนับสนุนการตรวจสอบในพื้นที่ รวมถึงได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับชุมชนในพื้นที่โดยรอบโรงงานแล้ว
ทั้งนี้ กนอ.อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 สั่งการให้บริษัทฯ หยุดประกอบกิจการทั้งหมด และให้จัดการน้ำเสีย สารเคมีปนเปื้อนจากการดับเพลิงที่ระบายลงลำรางน้ำฝนของนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธันวาคม 2564 โดยนิคมฯ ได้ปิดกั้นลำรางระบายน้ำฝนและเตรียมการสูบน้ำปนเปื้อนเข้าระบบบำบัด
“ในช่วงเทศกาลปีใหม่ซึ่งเป็นวันหยุดยาวนั้น ขอความร่วมมือทุกนิคมอุตสาหกรรม เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังความปลอดภัยและป้องกันอุบัติเหตุ รวมถึงการบาดเจ็บจากกระบวนการผลิตที่มีการใช้สารเคมีอันตรายร้ายแรง ตามมาตรฐาน “การจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต (Process Safety Management : PSM)” ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการเกิดอัคคีภัยจากการประกอบกิจการโรงงาน
รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการระงับอัคคีภัย อาทิ ออกหนังสือแจ้งสถานประกอบการในการป้องกันและเฝ้าระวังการเกิดอุบัติภัยในช่วงวันหยุดยาว พร้อมทั้งปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด” ผู้ว่าการ กนอ.กล่าวปิดท้าย