“กัญชง”ผู้เล่นใหม่ พืชเศรษฐกิจไทยหลังโควิด
“กัญชง” ถือว่าเป็นพืชที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อยอดทางธุรกิจได้มากมาย และกำลังเป็นสินค้าที่นิยมของผู้บริโภคกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ทั้งต้น ใบ เมล็ด เปลือก
อลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่ากัญชงสามารถเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของไทยสามารถแปรรูปใช้ประโยชน์ได้ไม่น้อยกว่า10กลุ่มอุตสาหกรรมตั้งแต่อุตสาหกรรมอาหารและยาจนถึงอุตสาหกรรมยานยนต์และไฮเทค
ที่สำคัญคือ“สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง”(องค์การมหาชน) ในสังกัดกระทรวงเกษตรฯได้ทำการวิจัยและพัฒนากัญชงมากว่า10ปีจนสามารถพัฒนาพันธุ์กัญชงผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นรายแรกและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภท เรียกว่ามีองค์ความรู้และฐานข้อมูลดีที่สุดในประเทศไทย
นอกจากนั้นน้ำมันและสารสกัดจากเมล็ดกัญชง ยังใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์อาหาร ความงาม และผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีทั้งโปรตีน วิตามินอี และโอเมก้าสูงมาก นำเป็นส่วนประกอบอาหาร ช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยลดการเกิดโรคมะเร็ง หรือพัฒนาเป็นครีมกันแดด ครีมบำรุงผิว รักษาโรคผิวแห้งคันและสะเก็ดเงินได้เป็นอย่างดี
แม้แต่ในอุตสาหกรรมการเกษตร สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ย อาหารสัตว์ หรือผลิตเป็นพลังงานชีวมวลในรูปแบบต่างๆ เช่น ถ่านไม้ แอลกอฮอล์ น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น แกนของต้นกัญชงมีคุณสมบัติดูดซับกลิ่น น้ำ หรือน้ำมัน ที่ประเทศญี่ปุ่นจึงมีการปลูกต้นกัญชงเพื่อช่วยดูดซับกัมมันตภาพรังสีอีกด้วยจากสรรพคุณที่กล่าวมาทั้งหมดถือได้ว่า กัญชงเป็นพืชมหัศจรรย์โดยแท้จริง
ปัจจุบันอุตสาหกรรมเส้นใยกัญชงและอุตสาหกรรมอาหารจากกัญชงเจริญเติบโตรวดเร็วมาก มีการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมมากกว่า30 ประเทศทั่วโลก ซึ่งอังกฤษเป็นผู้นำระดับโลกในอุตสาหกรรมนี้
"กัญชง”จึงเป็นพืชมหัศจรรย์ในอนาคต เส้นใยกัญชงจะเข้ามาทดแทนเส้นใยเคมีทั้งหมด เพื่อลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แต่สำหรับประเทศไทย โลกของเส้นใยไหมกัญชง (Hemp Silk) ซึ่งเป็นเส้นใยที่ดีที่สุดและกำลังมีอนาคตที่สดใสในอุตสาหกรรมผ้าทอกัญชง “
ปัจจุบัน มีกว่า 10กลุ่มผลิตภัณฑ์รอกัญชงไทยประกอบด้วยกลุ่มเวชภัณฑ์ยา,กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง,กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเครื่องดื่มและอาหารเสริม(Super Food),กลุ่มผลิตภัณฑ์กระดาษ,กลุ่มผลิตภัณฑ์สิ่งทอเสื้อผ้า,กลุ่มผลิตภัณฑ์นิรภัย,กลุ่มก่อสร้างและวัสดุภัณฑ์,กลุ่มผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์,กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพและกลุ่มผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีเช่นซูเปอร์คาพาซิเตอร์(Super Capacitor)เป็นต้น
สำหรับ“กัญชง” หรือเฮมพ์ (Hemp)เป็นพืชที่จัดอยู่ในตระกูลเดียวกับ ”กัญชา” (Marijuana) ขณะนี้มีพื้นที่ที่ได้รับการอนุญาตปลูกแบบควบคุมเพียง 5 จังหวัดเท่านั้น ต่อไปจะต้องปลดล็อคกัญชงให้เกษตรกรและ เอกชนปลูกโดยขออนุญาตได้ทั่วประเทศและต้องกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปกัญชงเพื่อใช้ในประเทศและส่งออกโดยตั้งเป้าให้ไทยเป็นฮับกัญชงของอาเซียน
ดังนั้นเป็นโอกาสทองของประเทศไทยและเกษตรกรของเราที่จะมีพืชเศรษฐกิจฐานรากใหม่เป็นพืชแห่งอนาคต เข่นเดียวกับที่สหรัฐผ่านกฎหมายฟาร์มบิลล์(Farm bill2018)ปลดล็อคกัญชงเมื่อปีที่ผ่านมาสร้างงานสร้างอาชีพใหม่ๆกว่า22มลรัฐ