ข้าว-มันสำปะหลัง-ยาง ราคาเด่น ปัจจัยเศรษฐกิจโลก หนุนส่งออก

ข้าว-มันสำปะหลัง-ยาง ราคาเด่น  ปัจจัยเศรษฐกิจโลก หนุนส่งออก

ความต้องการอาหารของโลกที่เพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวจากการระบาดโรคโควิด-19 เริ่มบรรเทา ขณะที่สภาพภูมิอากาศ ที่เอื้ออำนวย ให้ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญเพิ่มขึ้น เป็นแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจการเกษตรหรือจีดีพีเกษตร ในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 2 – 3%

ฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญในปี 2565 ในส่วนของข้าว ทางกระทรวงเกษตรสหรัฐคาดว่าในฤดูกาลผลิต ปี 2564/65 ข้าวของโลกจะมีประมาณ 511 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 0.87%โดยเป็นปริมาณที่ใกล้เคียงกับความต้องการบริโภค

ขณะที่การค้าข้าวของโลกจะมีประมาณ 48.67 ล้านตันข้าวสาร ลดลง 1.37% ประเทศที่คาดว่าจะส่งออกได้เพิ่มขึ้นเช่นออสเตรเลีย บราซิล เมียนมา ไทย ปากีสถานและเวียดนาม ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกได้ลดลง เช่น กัมพูชา อินเดีย จีน และสหรัฐ

ข้าว-มันสำปะหลัง-ยาง ราคาเด่น  ปัจจัยเศรษฐกิจโลก หนุนส่งออก

ด้านประเทศที่คาดว่าจะนำเข้ามากขึ้น เช่น ไอวอรี่โคสต์ สหภาพยุโรป(อียู) สหรัฐ อิหร่าน โมซัมบิก และเนปาล ส่วนประเทศที่จะนำเข้าลดลง เช่น บังคลาเทศ บราซิล ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ ฟิลิปปินส์ และเซเนกัล โดยในช่วงปลายปี 2564 มีสต็อกข้าวโลกอยู่ 187.94 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 0.24%

 

สำหรับผลผลิตของไทยคาดว่าในปี 2565

มีเนื้อที่รวม70 ล้านไร่ จะมีปริมาณรวม32 ล้านตัน ข้าวเปลือก แยกเป็น

  • ข้าวนาปี เนื้อที่ 62.60 ล้านไร่ ผลผลิต 26 ล้านตัน
  • นาปรังเนื้อที่ 10.6 ล้านไร่ ผลผลิต 6 ล้านตัน

ข้าวเปลือก ในจำนวนนี้คาดว่าจะบริโภคภายในประเทศ ประมาณ 17.69 ล้านตัน ข้าวเปลือก เพิ่มขึ้น 3.51% เนื่องจากความต้องการบริโภคและการแปรรูปอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นส่วนการส่งออกคาดว่าจะมีปริมาณ 6.5 - 7 ล้านตัน ข้าวสาร มูลค่า 1.2-1.29 แสนล้านบาท

“แม้สินค้าสำคัญอย่างข้าวจะดูสดใสในปี 2565 แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยง ด้านโลจิสติกส์ที่การไหลเวียนของตู้สินค้ายังไม่ปกติและค่าระวางเรือยังสูงอยู่ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และ การระบาดของโรค”

 

ส่วน มันสำปะหลัง คาดว่าไทยจะมีเนื้อที่ 9.66 ล้านไร่ผลผลิต รวม 32.50 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.71% จากการใช้ท่อนพันธุ์ที่ดี ในราคาเฉลี่ยที่เกษตรกรดับที่ 2.33 บาทต่อ กิโลกรัม (กก.)ผลผลิตส่วนใหญ่จะนำไปแปรรูปเป็นมันเส้น,มันอัดเม็ด,แป้งมันสำปะหลังและเอทานอล ซึ่งมีความต้องการมากขึ้น

ข้าว-มันสำปะหลัง-ยาง ราคาเด่น  ปัจจัยเศรษฐกิจโลก หนุนส่งออก

คาดว่าจะเป็นผลให้ไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้นจากปี2564 ที่ส่งออกได้ 9.44 ล้านตันมูลค่า 1.1 แสนล้านบาท ตลาดที่สำคัญส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย แยกตามประเภทคือ มันเส้น ส่งออกจีน มันอัดเม็ดส่งออกญี่ปุ่น สหรัฐ เนเธอร์แลนด์ แป้งมันสำปะหลัง ส่งในจีน ไต้หวัน อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น แป้งมันสำปะหลัง ในญี่ปุ่น จีน และอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 คาดว่าไทยยังต้องนำเข้ามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์บางส่วน จาก กัมพูชา และสปป.ลาว เนื่องจากผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการส่วนใหญ่นำมาแปรรูปแล้วส่งออก

 

 

ยางพารา คาดว่าผลผลิตโลกจะมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2564ที่ผลิตได้รวม 23.38 ล้านตันจากกลุ่มผู้ผลิตยางใหม่ คือกัมพูชา สปป.ลาว  เมียนมา และเวียดนาม ที่ขยายพื้นที่ปลูกในปี 2553-55 ซึ่งเริ่มโตและเปิดหน้ากรีดได้แล้ว  อีกทั้งหลายพื้นที่อายุยางอยู่ในช่วงเริ่มให้ผลผลิตสูง

ในขณะที่คาดว่าความต้องการใช้ยางพาราของโลกจะปรับตัวสูงขึ้นเช่นกันจากโควิดเริ่มคลี่คลาย แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงกรณีการขาดแคลนตู้คอนเทรนเนอร์ และความไม่แน่นอนของนโยบายทางการค้าระหว่างประเทศจีนและสหรัฐที่อาจจะส่งผลความต้องการใช้ยางของโลกชะลอตัวลง

 

สำหรับประเทศไทย ในปี 2565 คาดว่าจะมีเนื้อที่กรีด 21.84 ล้านไร่ลดลง 0.41%เนื่องจากเกษตรกรโค่นยางอายุมาก แล้วปรับเปลี่ยนไปปลูกไม้ผล โดยคาดว่าจะมีผลผลิตยาง4.9 ล้านตันเพิ่มขึ้น 1.66% โดยจะส่งออก 3.96 ล้านตัน ดึงราคาที่เกษตรกรได้รับให้สูงตามไปด้วย จากปี 2564 ที่ขายได้ประเภทยางแผ่นดิบคุณภาพ3 ที่ 51.83 บาทต่อ กก. ลดลง 0.57%เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

 

ด้านไก่เนื้อ ของโลกคาดว่าจะมีผลผลิต 1 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.81%จากปี 64 ขยายตัวตามความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับโรคโควิด 19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลายและมีการผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น ส่งผลให้ประเทศ ผู้ผลิตที่สำคัญ ทั้งสหรัฐ บราซิล จีนและอียูขยายการผลิตเพิ่มขึ้น

 

       การส่งออกในปี 2565 คาดว่าจะ ทำได้ 945,000 ตัน เพิ่มขึ้น 1.32%มูลค่า 103,487 ล้านบาทขยายตัวสอดรับกับปริมาณ ความต้องการบริโภคของตลาด โดยเฉพาะญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน และอียูที่มีแนวโน้มนำเข้าเนื้อไก่จากไทยเพิ่มขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิด 19

 

ด้านกุ้ง สมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า ผลผลิตกุ้งเลี้ยงปี2564โดยรวมอยู่ที่ 2.8 แสนตัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากปี 2563อยู่ที่2.7แสนตันคาดปี2565ผลิตได้3 แสนตัน หรือเพิ่มขึ้น4% โดยกุ้งของไทยยังมีปัญหา โรคระบาด เช่นโรคหัวเหลืองอีเอชพีขี้ขาว ในขณะที่ราคาและการส่งออก ยังมีปัจจัยเสี่ยง ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท

 

จากสถานการณ์ผลผลิตการเกษตรปี2565 ที่มีสัญญาณดีน่าจะเป็นอีกแรงพยุงทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งในภาพรวมและระดับครัวเรือนเกษตรกรให้ผ่านความยากลำบากจากอาการบาดเจ็บเพราะพิษโควิดที่ผ่านมาได้