Ethnic Foods แรงขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทยหลังเปิดประเทศ?
การท่องเที่ยวและอาหารสามารถได้รับการพัฒนาควบคู่กันไปได้โดยเฉพาะในจังหวะที่เศรษฐกิจประเทศต้องการแรงขับเคลื่อนหลังการเปิดประเทศ
อุตสาหกรรมอาหารนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในพื้นที่ EEC ที่ภาครัฐให้การสนับสนุน โดยเฉพาะ Food for the Future ซึ่งเป็นหนึ่งใน 10 S-Curve ที่จะเป็น Growth Engine ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอาหารยังมีบทบาทสำคัญและมากขึ้นในการสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วย โดยพิจารณาจากสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มเทียบกับค่าใช้จ่ายรวมของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่โน้มสูงขึ้นจาก 18.7% ในปี 2012 มาอยู่ที่ 21.2% ในปี 2019 ทั้งนี้ หากการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron ไม่รุนแรงจนต้อง Lock down กันอีกรอบ การท่องเที่ยวไทยน่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น และอุตสาหกรรมอาหารก็จะได้รับผลดีตามไปด้วย โดยหนึ่งใน Sub-Sector ของอุตสาหกรรมอาหารที่ผู้เขียนมองว่าจะมีโอกาสช่วยหนุนการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวได้ คือ Ethnic Foods
หลายท่านอาจสงสัยว่า Ethnic Foods จะเป็นแรงขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทยหลังเปิดประเทศได้อย่างไร? แต่ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ ผู้เขียนอยากจะให้ท่านทำความรู้จักกับ Ethnic Foods ก่อนว่าคืออะไร?
Ethnic Foods หมายถึง อาหารที่แต่ละประเทศใช้บริโภคในชีวิตประจำวัน โดยนำความรู้เกี่ยวกับวัตถุดิบท้องถิ่น มาผสมผสานในการปรุงอาหาร จนเป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น เช่น อาหารไทย อาหารไทยตามภูมิภาค อาหารจีน อาหารญี่ปุ่น อาหารอินเดีย เป็นต้น สำหรับรูปแบบของอาหาร Ethnic Foods มีหลากหลาย เช่น เครื่องปรุงรส อาหารพร้อมปรุงและพร้อมทาน ขนม ผลิตภัณฑ์นม เป็นต้น
กลับมาคำถามที่ว่า Ethnic Foods จะเป็นแรงหนุนการท่องเที่ยวไทยหลังเปิดประเทศได้อย่างไร?
ประการแรก Ethnic Foods ของไทยเป็นหนึ่งในแม่เหล็กดึงดูดชาวต่างชาติ สะท้อนจากผลการสำรวจของ CNN Travel (2021) เรื่อง Which country has the best food? พบว่า ไทยติดหนึ่งในประเทศที่มีอาหารที่ดีที่สุดในโลก เนื่องจากอาหาร Ethnic Food ไทยมีการผสมผสานรสชาติต่างๆไว้ได้อย่างลงตัว หรือการสำรวจของ Chef’s Pencil (2020) ในหัวข้อ Most Popular Ethnic Cuisines in America ที่ระบุว่า อาหาร Ethnic Foods ของไทยได้รับความนิยมเป็นอันดับที่ 4 จากบรรดา Ethnic Foods ที่ได้รับความนิยมในสหรัฐฯ
ประการที่สอง Ethnic Foods ช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพที่มีแนวโน้มเติบโต โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Foods Tourism หรือ Gastronomy Tourism) ซึ่งจากข้อมูลของ Allied Market Research (2020) ประเมินว่า มูลค่าตลาดการท่องเที่ยวเชิงอาหารของไทยในปี 2027 หรือ 6 ปีข้างหน้า จะมีมูลค่าเท่ากับ 24 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือเกือบ 8 แสนล้านบาท คิดเป็นอัตราขยายตัวเฉลี่ยปีละ 10.6% เนื่องจากพฤติกรรมนักท่องเที่ยวยุคใหม่ต้องการเรียนรู้วัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอาหารแต่ละท้องถิ่น
ประการสุดท้าย Ethnic Foods ช่วยหนุนอาหารท้องถิ่น และส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวรายพื้นที่ โดยปัจจุบันผู้ประกอบการ Ethnic Foods มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์อาหารท้องถิ่นที่มีความหลากหลาย และแม้ Ethnic Foods ไทยจะเป็นที่นิยมอยู่แล้วจากผู้บริโภคในต่างประเทศ แต่จากการสำรวจของ Skift research (2019) เรื่อง The Future of Food Tourism in Thailand ชี้ว่า ผู้บริโภคในต่างประเทศที่ได้ลองทานอาหาร Ethnic Foods ของไทยแล้ว ก็ยังอยากจะมารับประทานอาหารและเรียนรู้วัฒนธรรมของอาหารในท้องถิ่นที่เป็นแหล่งกำเนิดของอาหาร Ethnic Foods ด้วยตัวเอง
โดยสรุปแล้ว Ethnic Foods ช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวไทยหลังเปิดประเทศ ในกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ทั้งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงอาหาร โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สร้างรายได้สำคัญให้กับประเทศ และมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ในระดับสูงถึง 91% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในภาคตะวันออก ผู้ประกอบการทั้ง Ecosystem ตั้งแต่ธุรกิจผลิตอาหาร Ethnic Foods ไปจนถึงร้านอาหาร บริษัทนำเที่ยวในท้องถิ่น รวมถึงภาครัฐควรร่วมมือกันในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยโดยรวม อีกทั้งช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการจ้างงานและเป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และช่วยฟื้นฟูธุรกิจที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวด้วย