CEO of the Year 2021 “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์”
ปี 2564 เป็นปีที่ยากลำบากในการขับเคลื่อนธุรกิจ หลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นปีที่ 2 มีจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยมากกว่า 2 ล้านคน
ในขณะที่ภาคธุรกิจต้องมีการปรับตัวจากปัจจัยกดดันทั้งโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการเข้าสู่ New Normal รวมทั้งการที่ภาคธุรกิจได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรับมือวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อคนไทยทุกคน
ปัจจัยดังกล่าวเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้รับการคัดเลือกจากกองบรรณาธิการกรุงเทพธุรกิจให้เป็น “CEO of the Year 2021” หรือ “สุดยอดซีอีโอ”
การพิจารณาดังกล่าวกองบรรณาธิการกรุงเทพธุรกิจใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกครอบคลุม การมีส่วนร่วมในการก้าวข้ามวิกฤติโควิด-19 รวมถึงการขับเคลื่อนองค์กรสู่การเปลี่ยนแปลง หรือ Transformation และ Environmental Social and Governance (ESG)
“อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” เข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2563 เป็นซีอีโอคนที่ 10 ของ ปตท.ที่เข้ามารับตำแหน่งในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ขยายวงกว้างและรัฐบาลประกาศใช้มาตรการล็อคดาวน์
“โควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและภาคส่งออกที่หยุดชะงัก และต้องยอมรับว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศไทยจะเสียเปรียบกว่าประเทศอื่น แต่ก็มีด้านบวก คือ เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดการตื่นตัวให้ใช้เทคโนโลยี”
ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท.เข้ามาช่วยแก้ปัญหาโควิด-19 ตั้งแต่เริ่มวิกฤติต้นปี 2563 ช่วงนั้นประเทศไทยขาดแคลนอุปกรณ์ อาทิ แอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย และในช่วงปลายปี 2563 ที่สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเริ่มดีขึ้น จึงร่วมกับบริษัทในกลุ่ม ปตท.ทำโครงการ Restart Thailand โดยเปิดรับกลุ่มแรงงาน พนักงาน และนักศึกษาระดับ ปวช.ถึงปริญญาตรีจบใหม่ทั่วประเทศ 25,000 อัตรา
นอกจากนี้ การแพร่ระบาดระลอก3 กลุ่ม ปตท.ได้จัดตั้งโครงการ ลมหายใจเดียวกัน กลุ่ม ปตท.เพื่อส่งมอบเครื่องช่วยหายใจสำหรับผู้ป่วยวิกฤติ และเครื่องให้ออกซิเจนอัตราไหลสูงรวม 400 เครื่อง พร้อมทั้งมอบงบประมาณจัดซื้อออกซิเจนเหลวแก่โรงพยาบาลในพื้นที่วิกฤตและมีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อใช้รักษาอาการผู้ป่วยโควิด-19 ในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัด รวม 400 แห่ง สนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์ในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม 7 แห่ง
รวมถึงจัดหาและนำเข้ายาเรมดิซีเวียร์ ยาต้านโควิด 2,000 ขวด มอบให้แก่ภาครัฐ เพื่อใช้ช่วยผู้ป่วย โควิด และนำเข้ามาบริจาคเพิ่มเติมให้กับสภากาชาดไทยอีก 10,000 ขวด รวมทั้งจัดหาและนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์อีก 1.2 ล้านเม็ด
ตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 กลุ่ม ปตท.ได้เข้าช่วยเหลือสนับสนุนหน่วยงานทางการแพทย์และหน่วยงานต่างๆ ตั้งแต่เริ่มการระบาดในปี 2562 จนถึงเดือน พ.ย.2564 รวมมูลค่าสนับสนุนกว่า 1,800 ล้านบาท
“วิกฤติโควิด-19 บวกกับปัญหาน้ำมันตกต่ำรวมถึงเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบถ้วนหน้า เพื่อก้าวสู่มิติที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งเทคโนโลยี ดิสรัปชัน เพื่อให้ก้าวผ่านปัจจัยดังกล่าว และจากการที่ ปตท.ได้ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และจะต้องขับเคลื่อนทุกชีวิต ทั้งชุมชน สังคม ประเทศ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมโดยพลังงานสะอาด”
หากย้อนไปช่วงก่อตั้ง ปตท.เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2521 เป็นช่วงวิกฤติการณ์ทั่วโลกเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมัน ปตท.เริ่มจัดหาน้ำมันตอบสนองความต้องการในประเทศให้เพียงพออย่างเร่งด่วน และจัดหาปิโตรเลียมจากแหล่งในประเทศเพิ่มเติม ทำให้พึ่งพาตนเองลดการพึ่งพาจากต่างประเทศได้
หลังจากนั้น ปตท.ได้ขยายธุรกิจต่อเนื่องจนได้ตั้ง ปตท.สผ.ที่เป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของคนไทย รวมทั้งขยายการลงทุนเครือข่ายก๊าซ จัดส่งก๊าซ ทั้งบนบกและในทะเล โรงแยกก๊าซ เพิ่มมูลค่าและพัฒนาการใช้ก๊าซฯ และต่อยอดการขยายสู่ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) รองรับความต้องการก๊าซที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
ด้วยสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้อุตสาหกรรมพลังงานอยู่ในช่วง Energy Transition ที่จะมุ่งสู่พลังงานสะอาด เพื่อลดปัญหาสภาวะโลกร้อน และการใช้พลังงานในรูปแบบไฟฟ้าที่จะอำนวยความสะดวกมากขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคและรูปแบบการใช้พลังงานที่เปลี่ยนไป และการดำเนินงานของ ปตท.ได้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์เดิมในการเป็นบริษัทพลังงานไทยข้ามชาติชั้นนำ
ทั้งนี้ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่ Energy Transition และรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ปตท.ได้กำหนดวิสัยทัศน์ใหม่เป็น “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต” สร้างพลังขับเคลื่อนทุกชีวิต ดำเนินธุรกิจควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คน สังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อม โดยจะเข้าสู่ธุรกิจพลังงานอนาคตและเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว สร้างการเติบโตที่ยั่งยืนทางด้านพลังงาน และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย 6 กลุ่มธุรกิจ คือ
ธุรกิจ Future Energy ปรับพอร์ทการลงทุนขยายไปธุรกิจพลังงานใหม่ อาทิ พลังงานหมุนเวียน ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการศึกษาโอกาสในธุรกิจไฮโดรเจน
ธุรกิจ Life science เล็งเห็นโอกาสจากโลกเข้าสู่สังคมสูงวัยและกระแสการดูแลสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน
ธุรกิจ Mobility & lifestyle ที่จะรองรับพฤติกรรมผู้บริโภค
ธุรกิจ High value business ต่อยอดปิโตรเคมีสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง
ธุรกิจ Infrastructure & logistics ด้วยระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย
ธุรกิจ AI, Robotics & Digitalization ที่ดิจิทัล หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ
สำหรับธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า สิ่งที่ ปตท.กำลังทำคือการเข้าสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร โดยจัดตั้ง บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) เพื่อดำเนินธุรกิจ EV Value Chain และยังร่วมกับบริษัท Foxconn ซึ่งเป็นบริษัทที่มีองค์ความรู้ในการสร้างโรงงานผลิตรถไฟฟ้าตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อศึกษาและเตรียมแผนตั้งโรงงานผลิตรถไฟฟ้าในไทย ด้วยคอนเซปท์แบบ BOL หรือ Build Operate Localize โดยใช้แพลต์ฟอร์มของฟ็อกซ์คอนน์ MIH Platform ซึ่งจะลดระยะเวลาในการพัฒนารถไฟฟ้าจาก 4 ปี เหลือ 2 ปี
ทั้งนี้ อรุณพลัส จะถือหุ้นสัดส่วน 60% ส่วนฟ็อกคอนน์ถือหุ้น 40% ใช้เงินลงทุนระยะแรก 1-2 พันล้านดอลลาร์ ใช้เวลาสร้าง 1-2 ปี กำลังผลิต 30,000 คันต่อปี และเพิ่มเป็น 150,000 คัน ภายในปี 2573
รวมทั้งล่าสุดลงนามความร่วมมือกับ โฮซอน นิว เอนเนอร์ยี่ ออโต้โมบิล จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน ศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายธุรกิจและการผลิตรถยยนต์ไฟฟ้าในไทย สำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดย อรุณ พลัส ร่วมกับ โออาร์ ตั้งเป้าติดตั้งหัวจ่ายไฟ 300 แห่ง ในสถานี PTT station และ 1,300 จุด ในปี 2565
นอกจากนี้ ตั้งบริษัท อีวี มี พลัส จำกัด เพื่อให้บริการ Digital Platform สำหรับธุรกิจ EV เปิดบริการเช่ารถ EV ในรูปแบบ B2B และ B2C พร้อมบริการเกี่ยวกับสถานีอัดประจุไฟฟ้าและการซ่อมบำรุงยานยนต์ไฟฟ้าผ่านแพลทฟอร์มครบวงจรเพื่อกระตุ้นความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยสร้าง Ecosystem ครบวงจร มีบริการให้เช่า EV พร้อมแล้ว 100 คัน เปิดบริการเต็มรูปแบบต้นปี 2565
ในขณะที่ธุรกิจ Life Science ปตท.ได้จัดตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เมื่อปลายปี2563 เพื่อเป็นแกนนำในการลงทุนธุรกิจ Life Science โดยเป็นพันธมิตรกับบริษัทชั้นนำด้านการซื้อขายยาและสิทธิบัตรที่มีเครือข่ายทั่วโลก พร้อมผลักดันยุทธศาสตร์ประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางทางด้านนวัตกรรมเพื่อสุขภาพของอาเซียน และเพิ่มโอกาสการลงทุนด้านเทคโนโลยีผลิตยาขั้นสูงจากต่างประเทศในไทยอีกด้วย