เปิดแผนคุมขยะอุตฯ ปี 65 หนุนโรงงานสีเขียว “บีซีจี”
กรมโรงงานคุมเข้มผู้ประกอบการลดก่อมลภาวะต่อชุมชนสิ่งแวดล้อม ประกาศเป้าหมายดันโรงงานอุตสาหกรรมสีเขียว 60% ในปี 2565
การบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมเป็นปัญหาที่มีมานาน ซึ่งการควบคุมต้องใช้ทั้งกฎหมาย การนำเทคโนโลยีมาร่วมบริหารจัดการ รวมถึงการผลักดันเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียวที่เป็นส่วนหนึ่งของ BCG (Bio-Circular-Green Economy)
กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมเป็นภารกิจสำคัญที่กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดขั้นตอน อำนวยความสะดวก และลดปัญหาอุปสรรคทางกฎหมาย ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการนำกากอุตสาหกรรมไปใช้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
วันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า ปี 2565 กรมโรงงานอุตสาหกรรม มีแผนสำคัญในการกำกับดูแลและตรวจสอบโรงงาน เพื่อให้การประกอบกิจการไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนรอบโรงงาน 3 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ 1 การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยเพิ่มโทษจำคุกกิจการที่ลักลอบทิ้งกากของเสียและแอบลักลอบปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำสาธารณะ ซึ่งเดิมมีเพียงโทษปรับทำให้ผู้ทำความผิดกล้าเสี่ยงไม่กำจัดของเสียจากอุตสาหกรรม ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมทั่วบริเวณที่มีการลักลอบทิ้ง
“การลักลอบทิ้งกากของเสียและการปล่อยน้ำเสียโดยไม่ผ่านการบำบัดเป็นความผิดร้ายแรง แต่กฎหมายกำหนดโทษปรับสถานเดียวไม่เกิน 200,000 บาท ส่งผลให้ผู้ทำผิดไม่กลัวกฎหมาย ประกอบกับโทษปรับมีอายุความเพียง 1 ปี กว่าจะพิสูจน์หรือหาตัวผู้ทำผิดมาลงโทษ บางครั้งขาดอายุความ กรมฯ จึงเร่งปรับปรุง พ.ร.บ.โรงงาน โดยเพิ่มโทษผู้ทำผิดจากเดิมมีบทลงโทษเฉพาะโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท จะเพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งคาดว่ามีผลบังคับใช้ปี 2565”
ประเด็นที่ 2 พยายามควบคุมไม่ให้กากอุตสาหกรรมออกนอกระบบและต้องจัดการที่รวดเร็ว เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยปริมาณกากอุตสาหกรรมปี 2563 แบ่งเป็นกากอุตสาหกรรมอันตราย 1.29 ล้านตัน และกากอุตสาหกรรมไม่อันตราย 16.63 ล้านตัน ซึ่งกากอุตสาหกรรมอันตรายที่เข้าระบบมีเพียง 1% ที่หายไป เชื่อว่ามีการคาดเคลื่อนจากการคำนวณไม่ได้เป็นการลักลอบนำออกแต่อย่างใด
ส่วนกากไม่อันตรายเข้าระบบเพียง 6.44 ล้านตัน อีก 10 ล้านตัน ตรวจสอบที่ไปไม่ได้ อีกทั้งมากกว่าครึ่งเป็นกากอุตสาหกรรมที่มีมูลค่า เช่น เศษไม้ เศษเหล็ก จึงเชื่อว่ามีการซื้อขายโดยไม่ได้ขออนุญาต
สำหรับแผนการป้องกันการลักลอบทิ้งของเสียอุตสาหกรรม ดังนี้
1.การดำเนินการพัฒนาเเละปรับปรุงระบบการขออนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะทำให้การขออนุญาตของผู้ประกอบการเป็นไปด้วยความสะดวกเเละรวดเร็วยิ่งขึ้น
2.การดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลการรายงานวัตถุดิบ กำลังการผลิต ของผู้รับกำจัดบำบัดเข้ากับระบบการจัดการของเสียอุตสาหกรรมแบบครบวงจร (E-fully Manifest) ซึ่งจะทำให้ผู้รับกำจัดบำบัดไม่สามารถรับของเสียมาเกินกว่ากำลังการผลิตได้
3.มาตรการป้องกันและควบคุมการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมโดยกำหนดให้การดำเนินการขนส่งของเสียอันตราย รถขนส่งต้องติดตั้งเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางและระบบระบุตำแหน่งของรถ (Global Positioning system : GPS) รวมทั้งจะต้องเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับระบบบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมแบบครบวงจรของกรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อการติดตามและกำกับการขนส่ง
4. การเพิ่มบทลงโทษสำหรับผู้ประกอบการที่การกระทำความผิด
“ทั้งนี้ เมื่อระบบ E-fully Manifest สมบูรณ์จะนำกากเข้าระบบได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตามหากโรงงานจงใจใช้รถขนกากอุตสาหกรรมนอกระบบ เมื่อตรวจสอบพบจะมีความผิด โทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งการใช้เทคโนโลยีติดตามการขนส่งและการใช้โทษจำคุกคาดว่าจะทำให้กากอุตสาหกรรมเข้ามาอยู่ระบบมากขึ้น”
นอกจากนี้ ได้ประกาศลดขั้นตอนระบบขออนุญาตและแจ้งการนำกากอุตสาหกรรมออกนอกโรงงาน ยกเว้นไม่ต้องขออนุญาต กากของเสียที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ เพิ่ม 37 รายการ รวมเป็น 64 รายการ กากของเสียจำพวกน้ำมันใช้แล้ว 22 รายการ ใช้เวลาพิจารณาอนุญาตไม่เกิน 1 วัน กากของเสียที่ไม่เป็นของเสียอันตราย ใช้เวลาไม่เกิน 3 วัน และที่เป็นของเสียอันตรายใช้เวลาไม่เกิน 5 วัน ทำให้ลดระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตนำกากอุตสาหกรรมหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกโรงงานจากเดิม 21 วัน
ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกอบการเพราะกากของเสียหลายชนิดมีมูลค่าทางเศรษฐกิจนำมาเป็นวัตถุดิบของโรงงานอื่นได้ถ้าอนุญาตได้เร็วจะเกิดประโยชน์ต่อวงจรเศรษฐกิจด้านการรีไซเคิล ลดปริมาณขยะอุตสาหกรรมที่ต้องนำไปกำจัด บำบัด เกิดการนำกากของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ สนับสนุนให้เกิดมูลค่าเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยคาดว่ามีผลบังคับใช้เดือน เม.ย.2565
ประเด็นที่ 3 บีซีจี เป้าหมายผลักดัน Green Industry โรงงานต้องเข้าระบบ 60% จาก 65,000 โรงงาน ในการขับเคลื่อนพื้นที่เป้าหมายสู่การเป็น “เมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม” ครบทั้ง 5 มิติ คือ มิติกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการบริหารจัดการ ทั่วประเทศ 39 จังหวัด 53 พื้นที่ เพื่อสร้างการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนและโรงงานอย่างยั่งยืนตามแผนงานการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในระยะ 20 ปี
ทั้งนี้ กรมฯ จะบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและขับเคลื่อนในระดับพื้นที่ร่วมกับจังหวัดเป้าหมาย เพื่อยกระดับพื้นที่สู่ระดับที่ 5 เมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม 18 พื้นที่ ภายในปี 2570 และครบทั้งหมด 53 พื้นที่ ในปี 2580 อันเป็นเป้าหมายของ “เมืองอยู่ดี คนมีสุข สิ่งแวดล้อมยั่งยืน” ที่ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ ให้ประชาชนและพนักงานโรงงานในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตรวมไปถึงสุขภาพที่ดี สอดคล้องไปกับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเมืองและประเทศ