‘บัณฑิต - ศุภวุฒิ’ แนะรัฐ เร่งฟื้นเศรษฐกิจเร่งด่วน ลดผลกระทบ ‘โอมิครอน’
สองนักเศรษฐศาสตร์ชูปัจจัยท้าทายเศรษฐกิจไทยปี 65 “ศุภวุฒิ” ชี้ ภารกิจเร่ง ภาครัฐต้องเร่งฟื้นเศรษฐกิจ หวังลดผลกระทบโอมิครอน ก่อนเศรษฐกิจพังคนไม่มีรายได้ ด้าน “บัณฑิต” ชี้โอมิครอนประมาทไม่ได้หวั่นกระทบเศรษฐกิจไทยลากยาว ชูเงินเฟ้อเป็นปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตเศรษฐกิจ
นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ปัจจัยท้าทายของเศรษฐกิจไทยปี 2565 คือ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากผลกระทบของ “โอมิครอน” เนื่องจากขณะนี้ คนไม่ได้กลัวโควิด-19 เท่ากับกลัวเศรษฐกิจพังไม่มีรายได้
ดังนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย รวมถึงการสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัว เป็นปัจจัยท้าทายที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญ เพราะมองว่าผลกระทบจาก “โอมิครอน” ไม่น่ากระทบมากนัก โดยสิ่งที่ต้องให้ความสนใจคือ ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง เพราะวันนี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวไล่หลังคนอื่นๆ
“เราหวังว่าโอมิครอนจะมีผลกระทบไม่มาก แม้จะมีผลมาก แต่รัฐก็ควรให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้เกิดความต่อเนื่อง เพราะวันนี้เราฟื้นตัวไล่หลังคนอื่นๆ จีดีพีของไทยโตได้อย่างมาก 1% คนอื่นโต 6% ฉะนั้นเศรษฐกิจไทยถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องเข้าไปจัดการเป็นหลัก”
จับตาสหรัฐถอนคิวอี - ขึ้นดอกเบี้ย
สำหรับความท้าทายของเศรษฐกิจไทยข้างหน้า นอกจากฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยแล้ว เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ทั้งการที่ประเทศไม่มีแผนยุทธศาสตร์ชัดเจน หรือแผนยุทธศาสตร์ล้าหลัง ดังนั้นควรทำให้ยุทธศาสตร์การเดินของเศรษฐกิจไทยชัดเจนมากขึ้น
ปัจจัยถัดมาคือ ภายใต้การดำเนินนโยบายการเงินของต่างประเทศ โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ย จะทำให้ภาวะการเงินตึงตัวมากขึ้น หลังสหรัฐถอนคิวอี ขึ้นดอกเบี้ย ทำให้แรงกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่เหลือเฟือปีนี้ จะมีน้อยในปีหน้า ภายใต้ข้อจำกัดของการดำเนินนโยบายการเงินของไทยที่ต่างกับต่างประเทศมากขึ้น
“เศรษฐกิจไทย เรายังต้องพึ่งการส่งออก โดยปีหน้าเรามองว่าส่งออกน่าจะขยายตัวไม่ถึง 10% เพราะการเร่งตัวของปีนี้ ดังนั้นเราควรมอง หาโอกาสใหม่ๆ ขณะที่เรามองว่ามีโอกาสสูงที่จะมีการเลือกตั้งในปีหน้า ดังนั้นหวังว่านักการเมือง จะมีนโยบายที่จับต้องได้ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่นโยบายลด แลก แจก แถม”
“บัณฑิต” ชี้โอมิครอน - เงินเฟ้อกดดัน
นายบัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล กล่าวว่า ผลกระทบจาก “โอมิครอน”เป็นประเด็นที่ประมาทไม่ได้ การระบาดทั่วโลกจะส่งผลต่อเศรษฐกิจคงมาจาก 3 ทาง
1.เศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวลดลง กระทบการส่งออกและรายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศ
2.กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะถูกเลื่อนหรือถูกกระทบการผลิตในประเทศ
และ 3.กรณีการระบาดรุนแรง และรัฐต้องออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดการระบาด ผลต่อเศรษฐกิจก็จะมากขึ้นโดยเฉพาะถ้าภาคธุรกิจชะลอการลงทุน
ดังนั้นโอมิครอนเป็นความเสี่ยงด้านลบต่อเศรษฐกิจปีหน้า จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความสามารถในการควบคุมการระบาด
ส่วนปัจจัยท้าทายที่สุดสําหรับเศรษฐกิจไทย 2 เรื่องคือ การบริหารจัดการการระบาดของโอมิครอนและปัญหาเงินเฟ้อ
ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้เชื่อมโยงกัน การระบาดของโอมิครอนจะทําให้ซับพลายเชนในเศรษฐกิจโลกถูกกระทบ สร้างปัญหาคอขวดในระบบการผลิตทําให้ปัญหาเงินเฟ้อที่เศรษฐกิจโลกมีขณะนี้จะยิ่งยืดเยื้อ กระทบอัตราเงินเฟ้อในประเทศเรา ทําให้ปีหน้ารัฐบาลจะอยู่ในสภาวะลำบากทางนโยบายระหว่างการฟื้นเศรษฐกิจและการดูแลเงินเฟ้อว่าจะตัดสินใจอย่างไร
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์