"หมูแพง"เปิดสาเหตุ-ทางแก้"พาณิชย์"เดิมพัน 3 เดือนเช็คสต็อก-ห้ามส่งออก

"หมูแพง"เปิดสาเหตุ-ทางแก้"พาณิชย์"เดิมพัน 3 เดือนเช็คสต็อก-ห้ามส่งออก

เมื่อธ.ค. 2563 ราคาหมูเนื้อแดงเฉลี่ยที่ กก.ละ 134 บาท แต่เดือนเดียวกันปีนี้ ราคาพุ่งไปที่ 175 บาท นี่คือราคาที่รายงานโดยหน่วยงานภาครัฐ แต่ในตลาดสดที่ผู้บริโภคซื้อ-ขายกันจริงราคาไปแตะที่ 250 บาท แล้ว เรื่องนี้มีสาเหตุและแนวทางแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ว่าได้มีมติแก้ปัญหาเนื้อหมูราคาแพง ประกอบด้วย1.ห้ามส่งออก เป็นเวลา 3 เดือน เบื้องต้นตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค. - 5 เม.ย. 2565 เพื่อให้หมูกลับเข้าสู่ระบบการบริโภคภายในประเทศก่อน

2.กำหนดให้ผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่ ตั้งแต่ 500 ตัวขึ้นไป / ผู้ค้าส่ง ที่มีหมูเกิน 500 ตัวขึ้นไป และห้องเย็นที่มีสต็อกหมู ตั้งแต่ 5,000 กิโลกรัมขึ้นไป แจ้งปริมาณ และราคาทุก 7 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค.นี้เป็นต้นไป เพื่อดูแลปริมาณหมู และสต็อกหมูที่มีอยู่ทั้งประเทศซึ่งกรมการค้าภายใน จะส่งเจ้าหน้าที่ร่วมกับกรมปศุสัตว์ ในการตรวจสอบ เพื่อจะได้เร่งบริหารจัดการระบายเนื้อหมูออกสู่ตลาด

3.กรมปศุสัตว์เร่งผลิตหมูเข้าสู่ระบบด้วยการส่งเสริมการเลี้ยงเพิ่มเติมเพื่อให้มีเพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศโดยซึ่งกระทรวงพาณิชย์พร้อมที่จะให้การสนับสนุน โดยเฉพาะมาตรการเร่งรัดส่งเสริมการเลี้ยงการช่วยให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยราคาถูกหรือเงื่อนไขผ่อนปรนเป็นพิเศษ และขอให้กระทรวงการคลังเข้ามามีบทบาทช่วยดูแลเรื่องนี้ต่อไป รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูเข้ามาเลี้ยงในระบบ GFM (Good Farming Management) ที่มีมาตรฐานและต้นทุนไม่สูงเกินไป เป็นระบบที่ป้องกันโรคได้และมีความปลอดภัยสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

ส่วนปริมาณการบริโภคหมูที่ยังขาดอยู่นั้น ไม่ได้มีการพิจารณาเรื่องการนำเข้าหมูจากต่างประเทศ เพราะจะกระทบกับเกษตรกรผู้เลี้ยง และมีปัญหาตามมาอีกมาก

\"หมูแพง\"เปิดสาเหตุ-ทางแก้\"พาณิชย์\"เดิมพัน 3 เดือนเช็คสต็อก-ห้ามส่งออก

ขณะเดียวกัน กำชับให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายขั้นเด็ดขาด ทั้งการดูแลให้ปิดป้าย แสดงราคา และไม่ให้มีการกักตุน เพื่อป้องกันการเอาเปรียบผู้บริโภค

“ส่วนสถานการณ์ราคาหมูจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณหมูที่จะเข้าสู่ระบบมาทดแทนปริมาณที่ขาดหายไป จากการเร่งส่งเสริมให้เกษตรกร เลี้ยงหมูมากขึ้น ซึ่งอย่างน้อยต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือน”

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ ได้รายงานสถานการณ์ปริมาณหมูในระบบ ว่า หมูเลี้ยงในระบบ อยู่ที่ 19 ล้านตัว ใช้สำหรับบริโภค 18 ล้านตัวอีก 1 ล้านตัวเป็นการส่งออก ซึ่งจากการคาดการณ์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี 2565 หมูเลี้ยงในระบบ จะเหลือเพียง 13 ล้านตัว ซึ่งไทย ใช้บริโภค 18 ล้านตัว ทำให้หมูเพื่อการบริโภคจะหายไปถึง 5 ล้านตัว หรือ 30%

นายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า วันที่ 7ม.ค.นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะหารือกับผู้เลี้ยงหมู เช่น สมาคมผู้เลี้ยงหมูในภาคต่างๆ บริษัทเอกชนรายใหญ่ผู้เลี้ยงหมู เพื่อจำหน่าย เพื่อหารือถึงมาตรการเพิ่มจำนวนหมูเข้าสู่ระบบการผลิต เพื่อให้เพียงพอกับการบริโภคในประเทศ ก่อนนำข้อสรุปที่ตกลงกันได้ระหว่างภาครัฐ เอกชนและเกษตรกร เสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (พิกบอร์ด)ต่อไป

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในประเทศมีประมาณ1.9แสนราย ในจำนวนนี้ประมาณ70%เป็นผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่ เมื่อเกิดปริมาณหมูลดลง ภาครัฐจะขอความร่วมมือกับรายใหญ่ให้เร่งผลิตหมูขุนเข้าระบบ ให้มากขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ผู้เลี้ยงพบสัญญาณการลดลงของหมูในระบบ ก็เร่งป้อนหมูเข้าระบบมาแล้วประมาณ2-3เดือนแล้วเชื่ออีกไม่นานปริมาณหมูและราคาจะเข้าสู่ภาวะปกติ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า จากการติดตามสถานการณ์การจำหน่ายอาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยวหมู ได้เริ่มมีการปรับขึ้นราคากันอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ทางร้านจำหน่ายได้ปิดป้ายแจ้งขออภัยลูกค้าว่าจำเป็นต้องปรับขึ้นราคา เนื่องจากหมูเนื้อแดงมีราคาสูงขึ้นจากที่เคยซื้อปกติ 160 บาท เป็น 200 บาท และราคาเริ่มทะลุเกิน 200 บาท ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น โดยพบว่ามีการปรับขึ้นราคาเมนูละ 5 บาท และบางร้านปรับขึ้นทีละ 10 บาท ด้านผู้บริโภคเป็นห่วงว่าการปรับขึ้นราคา ควรจะขึ้นเท่าที่จำเป็น ส่วนอาหารที่ใช้วัตถุดิบอื่น ที่ไม่ใช่หมู ก็ควรที่จะคงราคาเดิม เพราะไม่ได้รับผลกระทบและกังวลว่าเมื่อมีการปรับขึ้นราคา แล้วพอราคาวัตถุดิบลง ก็ไม่มีการปรับลงตาม

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เร่งให้มีการติดตามกรณีปัญหาราคาเนื้อหมูอย่าเพิ่งฉวยโอกาสจำหน่ายราคาเนื้อสุกรที่แพงเกินสมควร ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชน์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดว่าภายใน 4 เดือน จำนวนสุกรขุนจะเพิ่มขึ้น และราคาจะปรับเข้าสู่ภาวะปกติ

“ท่านนายกเป็นห่วงเรื่องราคาเนื้อสุกรที่ปรับตัวสูงขึ้น พร้อมนำเข้า หารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดการบูรณาการในแก้ปัญหาหมูแพง รวมทั้งราคาสินค้าแพงอื่นๆ ด้วย”

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า จากปัญหาราคาเนื้อสุกรที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งผลกระทบของโรคระบาดร้ายแรงในสุกรทำให้จำนวนสุกรออกสู่ตลาดลดลง ประกอบกับราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สำคัญ ๆ อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง เป็นต้น มีราคาแพงขึ้นอย่างมาก ทำให้เกษตรกรต้องรับภาระต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อเนื่องมายังผู้บริโภค ในการนี้ รัฐบาลได้เร่งออกนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการงดส่งออกสุกรมีชีวิต การงดเว้นการเก็บค่าธรรมเนียม/ภาษี รวมทั้งการส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อทดแทนการนำเข้า เพื่อช่วยเหลือด้านราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ รวมถึงการจัดสินเชื่อพิเศษเพื่อการฟื้นฟูการผลิตสุกรเป็นการจำเพาะ ผ่านระบบ ธ.ก.ส. เพื่อสร้างความเข้มแข็งในระบบการเลี้ยงสุกรที่ส่งผลดีทั้งต่อเกษตรกรผู้ผลิตและผู้บริโภค

ด้านนายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส. ได้จัดเตรียมสินเชื่อพิเศษสำหรับเป็นทุนในการสนับสนุนการเลี้ยงสุกร การเพาะปลูกผลผลิตทางการเกษตรที่จำเป็นต่อการผลิตอาหารสัตว์ และการวางระบบการเลี้ยงที่เป็นมาตรฐานเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงจากปัญหาโรคระบาดที่มักจะเกิดขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณสุกรให้ออกสู่ตลาดได้มากขึ้น วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.สินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ สำหรับเกษตรกรรายย่อยและบุคคลในครัวเรือนที่ประสงค์จะกู้เงิน เพื่อไปลงทุนเลี้ยงสุกรหรืออื่น ๆ เพื่อเป็นการสร้างอาชีพ วงเงินกู้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย 

2.สินเชื่อ Food Safety เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนหรือเพื่อเป็นค่าลงทุนในการส่งเสริมการประกอบอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อัตราดอกเบี้ยกรณีเกษตรกร MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.5% ต่อปี) กรณีผู้ประกอบการ นิติบุคคล กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือองค์กร กลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตร ดอกเบี้ย MLR (ปัจจุบัน MLR เท่ากับ 4.875% ต่อปี) พิเศษสำหรับผู้ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฯ หรือแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานราชการหรือเอกชน กรณีเกษตรกร ดอกเบี้ย MRR-1 กรณีผู้ประกอบการ นิติบุคคลต่าง ๆ ดอกเบี้ย MLR-0.5 ระยะเวลาชำระคืน กรณีค่าใช้จ่ายหมุนเวียน ไม่เกิน 12 เดือน (กรณีพิเศษ ไม่เกิน 18 เดือนนับแต่วันกู้) กรณีค่าลงทุน ไม่เกิน 15 ปี

3.สินเชื่อเสริมแกร่ง SME เกษตร เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนหรือค่าลงทุนในการประกอบธุรกิจ โดยมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ หรือรักษาสิ่งแวดล้อม กำหนด วงเงินกู้ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 – 2 ที่อัตรา4%  ต่อปี และปีที่ 3 – 10 อัตราดอกเบี้ย MRR-1 / MLR / MOR ตามประเภทของลูกค้า (ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.5% ต่อปี / MLR เท่ากับ 4.875% ต่อปี และ MOR เท่ากับ 6.25% ต่อปี) กรณีที่ผู้ประกอบการสามารถนำ Platform มาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจ หรือมีการรับซื้อผลผลิตเกษตรอินทรีย์หรืออาหารปลอดภัย (Food Safety) ที่มีมาตรฐานรับรองหรือรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรต้นน้ำหรือกลุ่มวิสาหกิจที่ได้รับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ไม่น้อยกว่า20% ของต้นทุนวัตถุดิบ หรือเป็นธุรกิจที่นำหลักโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ องค์รวม (BCG Model) อย่างใดอย่างหนึ่งมาใช้จะได้รับอัตราดอกเบี้ยในปีที่ 3 - 4 อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี เพิ่มอีก 2 ปี

จำนวนแม่พันธุ์หมูในจีนเพิ่ม4.7% 

เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและกิจการชนบทจีนรายงานเมื่อวันก่อนว่าจำนวนแม่พันธุ์สุกรเมื่อสิ้นเดือน พ.ย.2564 เพิ่มขึ้น 4.7% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.2563 มาอยู่ที่ 42.96 ล้านตัว แต่ลดลง 1.2% เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค. ซึ่งที่ผ่านมาจีนเลี้ยงสุกรเพิ่มหลังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรระบาดในจีนเมื่อปี 2561 ทำให้ผลผลิตลดลงมาก

โรงฆ่าสัตว์ที่มีกำลังการเชือดปีละ 20,000 ตัว เชือดสุกรไปแล้ว 235.89 ล้านตัวในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้น 66.1% จากปี 2563 ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นและอุปทานล้นเกินเป็นเหตุให้ราคาสุกรดิ่งลงในปี 2564 กำไรร่วงไปอยู่ในแดนลบ

กำไรสุทธิของฟาร์มสุกรขนาดใหญ่ประจำเดือน พ.ย. อยู่ที่ตัวละ 293 หยวน (1,553 บาท) ลดลง 187.3% จากเดือน ต.ค. มูลค่าลดลง 69% จากเดือน พ.ย.2563