ศูนย์วิจัยธ.ก.ส.เผยราคาสุกรในเดือนม.ค.พุ่ง6.31%
ศูนย์วิจัยธ.ก.ส.ชี้ความต้องการสินค้าช่วงเทศกาลปีใหม่และมาตรการของภาครัฐ ทำให้ราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ในเดือนม.ค.นี้ปรับเพิ่ม โดยราคาสุกรปรับเพิ่ม 4.5 - 6.31% เนื่องจาก ความต้องการเนื้อสุกรของร้านอาหารและผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้น
นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนมกราคม 2565 โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 9,966 - 10,075 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.17 - 2.27 เนื่องจาก ฮ่องกงมีความต้องการใช้ข้าวหอมมะลิเพื่อใช้ในช่วงเทศกาลตรุษจีน
ประกอบกับ ภาครัฐดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ฯ เพื่อชะลอการขายข้าวที่ออกสู่ตลาดในช่วงที่ผ่านมา ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 8,160 - 8,460 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.18 - 4.90 เนื่องจาก ผลผลิตข้าวเปลือกเหนียวนาปีออกสู่ตลาดน้อยลง และภาครัฐดำเนินมาตรการโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ฯ
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาอยู่ที่ 9.08 - 9.16 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.85 - 1.73 เนื่องจากสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 1 เข้าสู่ช่วงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 2 (ข้าวโพดหลังนา) ทำให้ปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกสู่ตลาดน้อยโดยมีผลผลิตเพียงร้อยละ 2.59 ของปริมาณผลผลิตทั้งปี
ขณะที่ ความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อผลิตอาหารสัตว์ยังคงเพิ่มขึ้น ประกอบกับยังมีการแข่งขันด้านราคา ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับเพิ่มราคารับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่
น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ราคาอยู่ที่ 18.97 - 19.41 เซนต์/ปอนด์ (14.05 - 14.38 บาท/กก.) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.87 - 4.25 จากความต้องการนำเข้าน้ำตาลของหลายประเทศที่เพิ่มขึ้น เพราะปริมาณน้ำตาลของประเทศผู้บริโภค เริ่มลดลงและค่าระวางเรือที่ปรับลดลงทำให้ต้นทุนการนำเข้าน้ำตาลลดลง
ประกอบกับความต้องการเอทานอลที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการในบราซิลปรับลดสัดส่วนจากการนำอ้อยเพื่อผลิตเป็นน้ำตาลทราย เปลี่ยนเป็นผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้น อีกทั้งโรงงานน้ำตาลในประเทศบราซิล 57 โรงงาน ได้ปิดทำการในช่วงเดือนพฤศจิกายน ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตน้ำตาลทรายของโลกปรับตัวลดลง
ยางพาราแผ่นดิบชั้น 3 ราคาอยู่ที่ 54.95 - 55.90 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 3.46 - 5.25 เนื่องจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ส่งผลให้มีความต้องการใช้ถุงมือยางในอุตสาหกรรมทางการแพทย์เพื่อใช้ในการรักษาโรคไวรัสโควิด-19 หรือฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ให้กับคนไข้เพิ่มขึ้น ประกอบกับภาครัฐดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพยางพาราของภาครัฐในการดูดซับผลผลิตยางพาราในตลาด
สุกร ราคาอยู่ที่ 77.56 - 81.29 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.45 - 6.31 เนื่องจากความต้องการเนื้อสุกรของร้านอาหารและผู้บริโภคเพื่อใช้ในการบริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่เพิ่มสูงขึ้น
ขณะที่ มีผลผลิตสุกรมีแนวโน้มลดลงจากการที่ผู้เลี้ยงสุกรจะชะลอการผลิตเพราะต้นทุนการผลิตที่สูง กุ้งขาวแวนนาไม ราคาอยู่ที่ 163.73 - 164.39 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.45 - 0.85 เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตกุ้งขาวแวนนาไมออกสู่ตลาดน้อย เพียงร้อยละ 5.82 ของผลผลิตทั้งปี
ขณะที่ ความต้องการบริโภคกุ้งเพิ่มขึ้นตามความเชื่อมั่นการบริโภคที่เริ่มฟื้นตัวและการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ และโคเนื้อ ราคาอยู่ที่ 98.00 - 101.00 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.29 – 3.36 เนื่องจากบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลปีใหม่ แม้จะมีการยกเลิกการจัดงานในบางพื้นที่ แต่ยังไม่มีการจำกัดการเดินทางกลับภูมิลำเนา เอื้อต่อธุรกิจท่องเที่ยวบริการและร้านอาหารต่าง ๆ สามารถเปิดบริการได้ รวมถึง การทยอยส่งโคเนื้อมีชีวิตไปจำหน่ายยังประเทศจีนผ่านประเทศลาว ปัจจุบันมีความต้องการซื้อแล้วกว่า 5 แสนตัว ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อราคาโคเนื้อที่เกษตรกรขายได้
ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 7,644 -7,701 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.70-1.43 เนื่องจากการแข่งขันด้านราคาส่งออกข้าวกับประเทศคู่แข่งยังคงรุนแรง และประเทศอินเดียผู้ส่งออกข้าวอับดับ 1 ของโลก ระบายข้าวในสต็อกเพิ่มขึ้น มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 2.20 - 2.26 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.88 – 3.51 เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนมกราคม 2565 ประมาณ 6.59 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 20.15 ของผลผลิตทั้งปีการผลิต 2564
ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 8.10 - 8.40 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 3.22 - 6.60 เนื่องจากมาตรการภาครัฐยังคงขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงงานสกัดตรึงราคาน้ำมันปาล์มดิบจากการที่ราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดปรับตัวสูงขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้บริโภค รวมถึงมีความกังวลเกี่ยวกับโควิดระลอกใหม่อาจส่งผลให้มีความต้องการใช้น้ำมันในการเดินทางลดลง