คาดตลาดเริ่มทรงตัว การปรับลดงบดุลของเฟดไม่ได้เกิดขึ้นทันที
การลดงบดุลเฟดคืออะไร ทำไมตลาดถึงตอบสนองแรง? เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ทำการอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติม หรือที่รู้จักกันในชื่อ QE ซึ่งสภาพคล่องที่เติมเข้ามามีผล เหมือนการเปิดก๊อกน้ำให้ไหลเข้ามาในอ่าง
ซึ่งจะส่งผลบวกให้ราคาสินทรัพย์ต่างๆปรับเพิ่มขึ้น และมีผลให้งบดุลของเฟดมีขนาดเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อถึงจุดหนึ่งที่สถานการณ์วิกฤติคลี่คลายและเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติแล้ว เฟดก็มีความจำเป็นที่จะต้องดึงสภาพคล่องส่วนเกินดังกล่าวออกจากระบบ เหมือนการระบายน้ำออกจากอ่างไม่ให้ล้น ซึ่งจะมีผลให้งบดุลของเฟดมีขนาดลดลง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะเป็นลบต่อราคาสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ ซึ่งการลดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในรอบที่ผ่านมา เกิดขึ้นในช่วงปี 2561-62 ทำให้เงินทุนไหลออกจากหุ้นไทยและตลาดเกิดใหม่ และส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยงจำนวนมากมีราคาที่ลดลง ซึ่งถือเป็นภาวะที่ต้องจับตา
แต่การลดงบดุลยังไม่ได้เกิดขึ้นทันที การเข้าสู่นโยบายการเงินตึงตัว จะประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การเริ่มลดการผ่อนคลาย 2) การขึ้นดอกเบี้ย และ 3) การเริ่มลดขนาดงบดุล ซึ่งในรอบก่อนเราเห็นแต่ละขั้นตอนใช้เวลาประมาณ 2 ปี แต่ในรอบนี้ด้วยแรงกดดันเงินเฟ้อทำให้แต่ละขั้นตอนย่นเวลาลงมาก โดยขั้นตอนที่ 1 ใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ขณะที่ขั้นตอนที่ 2 คาดใช้เวลาไม่มากไปกว่านั้น ดังนั้นการเริ่มลดขนาดงบดุลเร็วที่สุด อาจจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง หรืออย่างช้าคือต้นปี 2566
ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของ SET Index ที่ 1,550-1,740 จุด เรายังคงมุมมองเชิงบวกต่อภาพการลงทุนในช่วงต้นปี จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของ ASEAN ที่เด่นกว่าภูมิภาคอื่นของโลก ซึ่งหนุนเงินทุนไหลเข้า อย่างไรก็ตาม ภาพความระวังต่อการปรับพอร์ตรับวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น และการปรับลดงบดุลของเฟด ซึ่งจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นและค่าเงินสหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น จะเป็นแรงกดดันต่อเงินทุนไหลออกในช่วงครึ่งปีหลัง สถานการณ์ดังกล่าวเชื่อว่าจะเป็นแรงกดดันให้เกิดการหมุนกลุ่ม ทำให้ระยะสั้นต้องระวังหุ้นแพง อาทิ เทคโนโลยี การแพทย์ ไฟฟ้า รวมถึงหุ้นอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่น่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อหุ้นธนาคาร พลังงาน และหุ้นที่ผลตอบแทนปันผลสูง
ตัวเลขผู้ติดเชื้อชี้ถึงการเริ่มเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 5 ศูนย์ข้อมูล Covid-19 รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อ 7 ม.ค.65 ที่ 7,526 ราย เพิ่มขึ้นจากวานนี้ที่ 5,775 ราย และเร่งตัวขึ้นชัดเจนจากต่ำกว่า 3 พันรายในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา บ่งชี้ถึงการเข้าสู่ระลอก 5 (Wave 5) อย่างชัดเจน ขณะที่ในวันนี้เราแนะติดตามการประชุม ศคบ. ที่คาดว่าจะมีการยกระดับมาตรการควบคุมโควิด-19 ซึ่งจะทราบผลในช่วงบ่าย ตลาดหุ้นไทยอาจผันผวน โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นที่กังวลเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการเข้มข้นที่อาจกระทบการดำเนินงาน อาทิ กลุ่มห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร สปา โรงภาพยนตร์ ขณะที่หุ้นได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจภายนอกหรือส่งออก อาทิ อาหาร เกษตร พลังงาน (ไม่รวมอิเล็กทรอนิกส์) เช่น TFG, TU, CPF, GFPT, TWPC, TVO, BANPU อาจเคลื่อนไหวดีกว่าในระยะสั้น นักลงทุนควรติดตามการเพิ่มของผู้ติดเชื้อที่มีการประเมนฉากทัศน์ (scenario) ของผู้ติดเชื้อสูงสุดอยู่ที่ 10,000-30,000 ราย ตลาดอาจมีแรงกดดันระยะสั้น แต่คาดจะฟื้นตัวดีเมื่อเห็นจำนวนการระบาดสูงสุดแล้ว ความผันผวนดังกล่าวคาดเปิดโอกาสลงทุนที่ดี
ภาพรวมกลยุทธ์: อาจเริ่มทรงตัวหรือฟื้นตัว เฟดส่งสัญญาณ แต่ยังไม่ได้เกิดขึ้นทันที เรายังคงมุมมองเชิงบวกสำหรับการลงทุนช่วง 4-5 เดือนแรก สำหรับผู้เก็งกำไร ไม่หลุด 1,640 จุด โมเมนตัมการเก็งกำไรไม่เปลี่ยนแปลง //หุ้นแนะนำ: BANPU*, BBL*, TU*, SUPER*, TIDLOR*
แนวรับ: 1,640-1,648 / แนวต้าน : 1,660-1,680 จุด สัดส่วน : เงินสด 50% : พอร์ตหุ้น 50%
ประเด็นการลงทุน
ซาอุฯ ลดราคาขายในเอเซีย - ซาอุดีอาระเบียลดราคาขายน้ำมันดิบทุกเกรดอย่างเป็นทางการในเดือนก.พ.นี้ สำหรับลูกค้าในเอเชียลงอย่างน้อย 1.10 ดอลลาร์/บาร์เรลจากระดับของเดือนม.ค.
ขอยกเลิกประกาศ ห้ามยกเลิกกรมธรรม์โควิด - คปภ. เผยมีเวลา 30 วันพิจารณาคำอุทธรณ์ของสมาคมประกันวินาศภัยยกเลิก 2 คำสั่ง "ห้ามยกเลิกกรมธรรม์-ค่ารักษาพยาบาล" โควิด ก่อนชงบอร์ดพิจารณา
TRC IPO – TRC กำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 78 ล้านหุ้น ที่ราคา 18.00 บาท/หุ้น เปิดให้จองซื้อในวันที่ 7, 10-11 ม.ค.65 และคาดว่าจะเข้าซื้อขายใน SET วันที่ 17 ม.ค.65
ประเด็นติดตาม: - 20 ม.ค. – ผลประกอบการกลุ่มธนาคาร / 26 ม.ค. – Fed meeting
(* หมายถึง หุ้นทางกลยุทธ์ ซึ่งอาจมีคำแนะนำต่างกับพื้นฐาน หรือที่ไม่ ได้อยู่ในการวิเคราะห์ของ UOBKH ซึ่งนักลงทุนควรพิจารณาตั้งจุดตัดขาดทุน 3-5% ของราคาที่เข้าซื้อ)