สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์ วันที่ 3-7 มกราคม 2565
เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 2 สัปดาห์ที่ 33.74 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่หุ้นไทยเคลื่อนไหวอย่างผันผวนในสัปดาห์แรกของปี 2565
สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
- เงินบาทผันผวน โดยแข็งค่าในช่วงแรก ก่อนจะพลิกแตะระดับอ่อนค่าสุดรอบ 2 สัปดาห์ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงวันทำการแรกๆ ของปีสอดคล้องกับสัญญาณเงินทุนไหลเข้า โดยเฉพาะแรงซื้อสุทธิในพันธบัตรระยะสั้นและหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดีเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นตามสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ที่สะท้อนผ่านรายงานการประชุมเฟด ซึ่งบ่งชี้ว่า เฟดมีการหารือเรื่องการบริหารจัดการระดับงบดุล ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในช่วงที่เฟดทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังยุติมาตรการ QE ในปีนี้
- ในวันศุกร์ (7 ม.ค. 65) เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.67 หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 สัปดาห์ที่ 33.74 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.41 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันพฤหัสบดีก่อนหน้า (30 ธ.ค. 64)
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (10-14 ม.ค. 65) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.20-34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ และสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคานำเข้า/ส่งออก ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนม.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดปล่อยกู้ใหม่สกุลเงินหยวน การส่งออกเดือนธ.ค. ของจีน และข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรม อัตราว่างงานเดือนพ.ย. ของยุโรป ด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย
- หุ้นไทยผันผวน ก่อนจะกลับมาปิดที่ระดับเดียวกับระดับปิดของสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,657.62 จุด ไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 97,177.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.04% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 8.53% มาปิดที่ 631.79 จุด
- หุ้นไทยปรับตัวขึ้นช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ท่ามกลางแรงซื้อต่อเนื่องของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ โดยมีหุ้นกลุ่มพลังงาน ธนาคารและไฟแนนซ์ปรับตัวขึ้นมากสุด อย่างไรก็ดี หุ้นไทยร่วงลงแรงในเวลาต่อมาตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ ท่ามกลางความกังวลต่อการเตรียมคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟด สถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว และการเร่งศึกษาการเก็บภาษีจากการขายหุ้นของกรมสรรพากร แต่กระนั้นดัชนีหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (10-14 ม.ค. 65) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,645 และ 1,620 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,665 และ 1,680 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงทิศทางเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีราคานำเข้าและดัชนีราคาส่งออกเดือนธ.ค. 64 ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนธ.ค. 64 ของจีน ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนธ.ค. 64 ของญี่ปุ่น ตลอดจนผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย. 64 ของยูโรโซน