รู้จัก "DeFi" พร้อมเข้าใจ "ความเสี่ยง" และวิธีควบคุมความเสี่ยง ก่อนลงทุน
ในยุคดอกเบี้ยเงินฝากแสนถูก สำหรับนักลงทุนสาย "คริปโทเคอร์เรนซี" จึงเริ่มหันมาสนใจสร้าง Passive Income ผ่านวิธีที่เรียกว่า "DeFi" ซึ่งแม้จะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่า แต่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยง จึงขอชวนไปทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงของการลงทุนใน DeFi กัน
หลังจากที่คริปโทเคอร์เรนซีกลายมาเป็นจุดสนใจของผู้คนในปัจจุบัน สิ่งที่น่าจะเริ่มถูกพูดถึงบ่อยไม่แพ้กันหนึ่งในนั้นคือ DeFi ที่เปรียบเสมือนนการนำเทคโนโลยีของคริปโตมาพัฒนาต่อยอดขึ้นไปอีกหนึ่งขั้น
สิ่งที่ทำให้ผู้คนเริ่มสนใจใน DeFi ก็คือเรื่องของผลตอบแทนที่บางคนอาจมองว่าเพียงแค่ฝากคริปโทฯ ไว้ก็สามารถสร้าง Passive Income ได้ อย่างไรก็ตาม DeFi ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ที่มาพร้อมกับความเสี่ยง
ดังนั้นในบทความนี้เราจะมาทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงของการลงทุนใน DeFi เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเทคโนโลยีทางการเงินยุคใหม่นี้
- DeFi คืออะไร?
DeFi ย่อมาจาก Decentralized Finance หมายถึง “การเงินแบบกระจายศูนย์” DeFi จึงเป็นระบบการเงินที่ไม่มีตัวกลาง เกิดขึ้นจาก Smart Contract ที่เปรียบเสมือนโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือแอพพลิเคชันที่อยู่บนเครือข่ายบล็อกเชน ทำให้คำสั่งที่อยู่บน Smart Contract สามารถทำงานได้อย่างอัตโนมัติเมื่อเงื่อนไขครบตามที่ถูกกำหนด
DeFi มีบริการตั้งแต่การกู้ยืม การแลกเปลี่ยน การฝากออม การประกัน และบริการอื่น ๆ อีกมากมาย
แต่ในเมื่อ DeFi เป็นการเงินที่ไม่มีตัวกลาง แล้วเงินที่ใช้สำหรับให้บริการมาจากที่ไหน?
คำตอบคือเงินส่วนหนึ่งมาจากผู้ใช้ที่ฝากเงินเข้าไปใน DeFi เพื่อสนับสนุนบริการของ DeFi นั้น ๆ เช่น ฝากเงินเพื่อสนับสนุนสภาพคล่องของกระดานแลกเปลี่ยน (Decentralized Exchange) หรือฝากเงินเข้า Pool เพื่อเป็นกองให้ผู้ใช้รายอื่นเข้ามากู้ยืม (Lending) เป็นต้น
ที่นี้ จุดที่ทำให้ DeFi ได้รับความสนใจ หนึ่งในนั้นคือการ Yield Farming หรือการฟาร์มผลตอบแทน ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นการสร้างรายได้แบบ Passive Income ด้วยคริปโทฯ อีกรูปแบบหนึ่ง
- Farming คืออะไร?
ในวงการคริปโทฯ หรือ DeFi การทำฟาร์มมิ่งคือการสนับสนุนบริการของ DeFi ด้วยการฝากเงินหรือคริปโทฯ เข้าไปใน DeFi เพื่อให้ DeFi นำเงินไปหมุนเวียนสำหรับบริการต่าง ๆ โดยอัตโนมัติ ขณะที่ผู้ใช้ก็แค่รอรับผลตอบแทน
สมมติว่า ฝากเงินเข้าไปใน DeFi ที่ให้บริการเกี่ยวกับการกู้ยืม หรือฝากเข้าไปใน Pool ที่รวมเงินจากผู้ใช้คนอื่นเข้ามา เงินที่ฝากเข้าไปอาจถูก "ล็อก" ไม่ให้ถอนออกมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง
แต่ละ DeFi จะมีระยะเวลาล็อกแตกต่างกันออกไป พอมีผู้ใช้คนอื่นมากู้ยืมเงินไปจาก Pool และคืนเงินให้พร้อมดอกเบี้ยในเวลาต่อมา ดอกเบี้ยดังกล่าวก็จะถูกจ่ายเป็นผลตอบแทนให้กับผู้ฝากเงินเข้ามาตามสัดส่วนของเงินต้นที่ฝากไว้
กระบวนการทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติตาม Smart Contract ผู้ใช้จึงแทบไม่จำเป็นต้องทำอะไรเลย นอกจากฝากเงินเข้าไป และรอให้ผลตอบแทนงอกเงย ซึ่งบางครั้งในการฟาร์มกับ DeFi ก็ให้ผลตอบแทนมากกว่าการฝากธนาคารเสียอีก และยังเหมาะกับผู้ที่ไม่ค่อยมีเวลามากนัก
- ความเสี่ยงของ DeFi และวิธีควบคุมความเสี่ยง
เมื่อเข้าใจหลักการทำงานและวิธีสร้างผลตอบแทนกับ DeFi แล้วเรียกได้ว่าเป็นอีกทางเลือกการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนแบบ Passive Income ที่น่าสนใจ
อย่างไรก็ตาม DeFi จัดว่าเป็นการลงทุนอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งการลงทุนย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยง ที่นักลงทุนทุกคนควรศึกษาทำความเข้าใจและใช้วิจารณญาณป็นอย่างสูงก่อนเริ่มลงทุนใน DeFi
ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ "ความเสี่ยงของ DeFi" มีดังต่อไปนี้
1. ความน่าเชื่อถือของ DeFi
เนื่องจาก DeFi ส่วนใหญ่มักจะอยู่บน Public Blockchain หรือบล็อกเชนสาธารณะ เช่น Ethereum, Binance Smart Chain, และ Bitkub Chain ที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมและเขียน Smart contract ขึ้นมาได้ จึงส่งผลให้เกิด DeFi ขึ้นในเครือข่ายเหล่านี้เต็มไปหมด
ผลที่ตามมาคือ DeFi บางตัวอาจเป็นสแกมหรือแชร์ลูกโซ่ที่สร้างขึ้นมาเพื่อหลอกเอาเงินของนักลงทุน หรือ DeFi บางตัวก็มีช่องโหว่ทาง Smart Contract หรือ บั๊ก (Bug) ที่อาจเป็นช่องให้มิจฉาชีพแทรกแซงเข้ามาได้
ดังนั้น สิ่งที่ควรทำก่อนเลือกใช้บริการ DeFi คือตรวจสอบว่า DeFi นั้นมีความน่าเชื่อถือมากแค่ไหน และให้บริการทางการเงินรูปแบบใด โดยอาจตรวจสอบผ่านเว็บไซต์อย่าง Coinmarketcap, Coingecko หรือลองค้นหาชื่อ DeFi และดูว่าคนอื่น ๆ มีความเห็นกับ DeFi ตัวนั้นอย่างไร
อีกวิธีหนึ่งคือการลองค้นหาว่า DeFi ตัวนั้นได้รับการ Audit โดยองค์กรที่น่าเชื่อถือแล้วหรือไม่ เป็นต้น
2. การเลือก Wallet
DeFi ส่วนใหญ่จะทำงานร่วมกับ Wallet เช่น MetaMask, Safepal, Formatic, TokenPocket ซึ่ง Wallet เหล่านี้มักจะอยู่ในรูปแบบของแอพพลิเคชันที่สามารถดาวน์โหลดและติดตั้งลงบนอุปกรณ์ได้ ขณะที่ DeFi แต่ละตัวจะรองรับ Wallet แตกต่างกันออกไป ดังนั้นจึงควรตรวจสอบให้ดีว่า DeFi ที่สนใจรองรับ Wallet อะไรบ้าง
ทั้งนี้ Wallet ที่ยกตัวอย่างมา แตกต่างกับ Wallet ของ Exchange เนื่องจากเป็น Wallet ที่ผู้ใช้ต้องดูแล Private Key ด้วยตัวเอง ซึ่ง Private Key หากทำสูญหายหรือเผลอลบข้อมูลแอพพลิเคชัน เงินก็อาจหายไปโดยไม่สามารถกู้คืนมาได้
Wallet ส่วนใหญ่จะมี Recovery Phase หรือชุดคำศัพท์จำนวน 12-24 คำที่ใช้สำหรับการกู้ Private Key ในกรณีเปลี่ยนเครื่องหรือเผลอลบแอพฯก็สามารถใช้ Recovery Phase ในการกู้ข้อมูลคืนมาได้ ซึ่งในขั้นตอนการติดตั้ง Wallet ตัวแอพพลิเคชันมักจะแจ้งเตือนให้ทำการจด Recovery Phase ไว้อยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม การจดบันทึก Recovery Phase ควรจดลงบนกระดาษหรืออุปกรณ์ที่ไม่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเพื่อป้องกันข้อมูลรั่วไหล และต้องเก็บรักษากระดาษบันทึกในที่ลับสายตา เพราะไม่ว่าใครก็ตามที่รู้ Recovery Phase ก็จะสามารถสร้าง Private Key ขึ้นมาและใช้เป็นของตัวเองได้เลย
3. ค่าธรรมเนียมเครือข่าย หรือ Gas Fee
เนื่องจาก DeFi สร้างอยู่บนบล็อกเชน การที่จะสามารถโอนเงินหรือเหรียญเข้าไปใน DeFi และทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้ จำเป็นต้องจ่ายค่าธรรมเนียมหรือ Gas Fee โดยมักจะจ่ายเป็นเหรียญของเครือข่ายนั้น ๆ เช่น DeFi บน Ethereum ก็ต้องจ่ายด้วย ETH หรือถ้าอยู่บน Bitkub Chain ก็ต้องจ่ายด้วยเหรียญ KUB เป็นต้น
มูลค่าของค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายขึ้นอยู่ความซับซ้อนของ Smart Contract และความหนาแน่นของเครือข่าย ซึ่งบางครั้งค่าธรรมเนียมอาจสูงกว่าธุรกรรมที่ต้องการทำเสียอีก ดังนั้นก่อนการยืนยันธุรกรรมใด ๆ ก็ควรตรวจสอบค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายด้วยเสมอ
ทั้งนี้ การใช้ Wallet เมื่ออยู่ในขั้นตอนการยืนยันธุรกรรม ตัวแอพพลิเคชันจะแสดงให้เห็นว่าจะจ่ายค่าธรรมเนียมเท่าไหร่ ซึ่งค่าธรรมเนียมของแต่ละเครือข่ายนั้นไม่ตายตัว โดยแอพฯ Wallet มักจะคำนวณให้โดยอัตโนมัติว่าจะจ่ายเท่าไหร่ บาง Wallet ผู้ใช้สามารถกำหนดเองได้ ซึ่งการจ่ายค่าธรรมเนียมจะส่งผลต่อระยะเวลาที่ใช้ยืนยันธุรกรรม ยิ่งจ่ายเยอะก็มีแนวโน้มที่ธุรกรรมจะได้รับการยืนยันเร็วขึ้น
4. ผลตอบแทนที่จะได้รับ (APY&APR)
สิ่งแรกที่นักลงทุนมักจะใช้พิจารณาเลือก DeFi ก็คือเรื่องของผลตอบแทนที่จะได้รับ ส่วนใหญ่จะแสดงออกมาในรูปแบบของ APY (Annual Percentage Yield) และ APR (Annual Percentage Rate) ที่เป็นการคำนวณเปอร์เซ็นต์คร่าว ๆ ว่าจะได้ผลตอบแทนเท่าไหร่เมื่อฝากเงินเข้ามาครบ 1 ปี
APY และ APR มีความแตกต่างกันคือ APY จะคำนวณโดยนำผลตอบแทนที่จะได้รับภายในช่วงหนึ่งปีเข้ามาทบกับเงินต้นไปเรื่อย ๆ ขณะที่ APR คำนวณโดยใช้แค่เงินต้นเท่านั้น จึงทำให้ APY มักจะมีตัวเลขที่สูงกว่า APR
อย่างไรก็ตาม APY/APR เป็นเพียงตัวเลขที่คำนวณจากปัจจัย ณ ปัจจุบันเท่านั้น โดยปัจจัยดังกล่าว ได้แก่ มูลค่าของ DeFi ราคาเหรียญ จำนวนผู้ใช้ ความหนาแน่นของเครือข่าย ค่าธรรมเนียม ฯลฯ จึงมีความเสี่ยงที่ตัวเลข APY/APR จะเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไป
ดังนั้นการเลือก DeFi จึงไม่ควรพิจารณาแค่ผลตอบแทน แต่ควรดูความน่าเชื่อถือของ DeFi และโอกาสเติบโตในอนาคตด้วย
5. ความผันผวนของราคา
อีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องระมัดระวังในการใช้บริการ DeFi คือ ความผันผวนของราคา ไม่ว่าจะเป็นราคาของเหรียญที่ใช้จ่ายเป็น Gas Fee หรือเหรียญที่นำไปฝากบน DeFi หากมูลค่าของเหรียญตกต่ำลงระหว่างที่ฝากอยู่บน DeFi การถอนเหรียญและผลตอบแทนออกมาขายอาจไม่สามารถให้ผลกำไรอย่างที่ต้องการได้ ซึ่งสิ่งนี้เรียกว่า Impermanent Loss
สมมติว่าฝาก 1 ETH เข้าไปใน DeFi ณ ขณะที่ราคาของ ETH อยู่ที่ 100,000 บาท/เหรียญ หลังจากนั้น 6 เดือน ได้ผลตอบแทนมา 0.2 ETH รวมเป็น 1.2 ETH และถอนออกมาทั้งหมดเพื่อที่จะขาย แต่ราคา ETH ณ ขณะนั้น กลับลดลงเหลือ 80,000 บาท/เหรียญ ทำให้ขาย 1.2 ETH ได้เพียง 96,000 บาท คิดเป็น Impermanent Loss -4% หรือขาดทุน 4,000 บาท เป็นต้น
- ตัวอย่างความเสียหายที่เคยเกิดจาก DeFi
เนื่องจาก DeFi เป็นเทคโนโลยีที่ยังใหม่และเป็นสิ่งที่ใครก็สามารถเข้าถึงได้ ที่ผ่านมาจึงเกิดเหตุการณ์ความเสียหายกับผู้ใช้ DeFi มากมาย โดยมักมาในรูปแบบถูกเจ้าของแพลตฟอร์มฮุบเงินและเชิดหนี ตามตัวไม่ได้ หรือที่เรียกกันในวงการว่า Rugpool ส่งผลให้สินทรัพย์ของผู้ใช้หายไปในพริบตา
ตัวอย่างล่าสุดที่ตกเป็นข่าวเมื่อไม่นานมานี้ คือ DeFi100 อีกหนึ่ง DeFi ที่ได้รับความนิยมในช่วงสั้น ๆ เมื่อต้นปี 2021 แต่เจ้าของแพลตฟอร์มกลับปิดตัวโดยไม่แจ้งเตือนล่วงหน้า และยักยอกเงินของผู้ใช้ไปกว่า 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมขึ้นข้อความเยาะเย้ยบนเว็บไซต์ จึงนับเป็นกรณีศึกษาที่เน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการตรวจสอบความน่าเชื่อถือการลงทุนใน DeFi
อีกหนึ่งตัวอย่างคือ PancakeBunny หรือ Bunny ที่อยู่บน Binance Smart Chain ที่ถูกผู้ไม่หวังดีทำการ Flash Loan Attack จนราคาตกลงกว่า 95% ภายในเวลาสั้น ๆ โดย Flash Loan Attack คือการที่ผู้ไม่หวังดีทำการกู้ยืมเหรียญเป็นจำนวนมากกว่าปกติจาก DeFi หนึ่ง และนำไปเทขายอีกที่หนึ่ง โดยในกรณีนี้เป็นกรณีศึกษาถึงความเสี่ยงในด้านความผันผวนของราคา และช่องโหว่ของ DeFi
- วิธีตรวจสอบความน่าเชื่อของเหรียญหรือโปรเจกบน Bitkub Chain
เนื่องจาก Bitkub Chain ก็เป็น Public Blockchain ใครก็ตามที่ถือเหรียญ KUB สามารถเข้ามาเขียน Smart Contract และสร้าง DeFi ขึ้นบน Bitkub Chain ได้
Bitkub จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของความน่าเชื่อถือและเพื่อใช้ประโยชน์ Explorer ของ Bitkub Chain ให้เกิดประโยชน์สูงสุด บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด จึงได้มีการติดตรา (Badge) Official ให้กับโทเคนหรือโปรเจคที่สร้างขึ้นอย่างเป็นทางการโดย Bitkub
นอกจากนี้ ในอนาคตจะมีการติดตรา Verified สำหรับโปรเจคที่ได้รับการตรวจสอบและรับรองโดย Bitkub เพื่อที่นักลงทุนจะสามารถใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกใช้บริการได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น
ในขณะนี้มี Fans token (FANS), PUBG NFT, Bitkub NEXT, KKUB ที่ได้รับ Official Badge โดยสามารถตรวจสอบเพิ่มเติมได้ที่ https://bitkubchain.com/projects
สรุป
DeFi นับว่าเป็นหนึ่งในนวัตกรรมสำหรับการลงทุนที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งในปัจจุบัน แต่การลงทุนทุกรูปแบบย่อมมีความเสี่ยง DeFi ก็เช่นกัน
ดังนั้น ก่อนเริ่มลงทุนใน DeFi นักลงทุนควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือของ DeFi ตัวนั้น ๆ รวมถึงศึกษาข้อมูลและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง เช่น การเลือกใช้ Wallet ที่รองรับ การเก็บรักษา Wallet การจ่ายค่าธรรมเนียมเครือข่าย และความผันผวนของราคา
การเลือก DeFi ไม่ควรพิจารณาแค่ผลตอบแทนที่น่าดึงดูดท่านั้น แต่ควรพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือ และโอกาสที่ DeFi จะเติบโตต่อไปในอนาคตด้วยเช่นกัน
อ้างอิง : Coinmarketcap, Binance Academy, 101 Blockchain