โรงงานเข้มแผนป้องกันโอมิครอน รับห่วงผลกระทบซัพพลายชะงัก

โรงงานเข้มแผนป้องกันโอมิครอน รับห่วงผลกระทบซัพพลายชะงัก

ภาคอุตสาหกรรมยังเชื่อมั่นรับมือโอมิครอนได้ ไม่กระทบส่งออก ยันนักลงทุนต่างชาติไว้ใจมาตรการรับมือ ขณะที่กังวลผลทางอ้อมหากประเทศคู่ค้าเกิดล็อกดาวน์ ปัญหาซัพพลายที่เริ่มคลี่คลายแล้วจะกลับมาอีกครั้ง

โรงงานเข้มบับเบิลแอนด์ซีล 

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ได้ออกประกาศให้นิคมอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินการ รวม 65 แห่ง กลับมายกระดับเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนอย่างเข้มงวด ด้วยมาตรการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในโรงงานหรือสถานประกอบการ หรือ Factory Accommodation Isolation (FAI) และมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ หรือ Bubble and Seal พยายามแยกคนเป็นกลุ่มย่อย ไม่ให้เกิดการระบาดข้ามกลุ่ม 

นอกจากนี้ ยังเตรียมความพร้อมด้านยารักษาโรคและประสานงานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวมทั้งให้มีการรายงานทุกวันเพื่อประเมินสถานการณ์ หากมีการติดเชื้อจำนวนเพิ่มมากขึ้น จะมีการยกระดับมาตรการให้เข้มงวดยิ่งขึ้น ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 
 

"ปัจจุบัน พบรายงานการติดเชื้อในโรงงานหรือสถานประกอบการผู้ป่วยมีอาการไม่หนัก จึงให้กักตัวใน FAI เป็นเวลาราว 7-14 วัน" 

แผนรับมือ worst case

กรณีพบผู้ติดเชื้อรายวันมากกว่า 10,000 คน เตรียมใช้มาตรการ FAI จัดพื้นที่ให้ผู้ป่วยกักตัวในพื้นที่นิคมฯ บทเรียนจากการระบาดรอบที่ผ่านมา โดยแต่ละนิคมฯ จะจัดสรรได้ 800-1,000 เตียง 

"เรามีบทเรียนมาแล้ว ก็จะเน้นใช้มาตรการลักษณะคล้ายเดิม ซึ่งไม่ค่อยน่าเป็นห่วง ด้วยมาตรการป้องกันของภาคอุตสาหกรรมดำเนินไปอย่างเข้มงวดและมีระเบียบวินัย เชื่อมั่นว่าโรงงานอุตสาหกรรมจะสามารถผ่านพ้นการระบาดระลอกนี้ไปได้โดยไม่ทำให้กำลังการผลิตต้องหยุดชะงัก"

 

 

 

ทั้งนี้ กนอ. ได้มีการจัดสถานที่ฉีดวัคซีนให้บุคลากรภาคอุตสาหกรรมตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2564 เป็นต้นมา รวมให้บริการฉีดวัคซีนไปแล้ว 291,381 โดส 

โควิดไม่กระทบส่งออก ต่างชาติเชื่อมั่น

แม้โรงงานอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้าอย่างต่อเนื่อง ในปี 2564 แต่ตัวเลขการส่งออกของไทยกลับยังขยายตัวได้มากที่สุดในรอบ 12 ปี โต 16% สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งของภาคอุตสาหกรรมส่งออกไทย 

"ผมกล้าพูดว่านักลงทุนต่างชาติมั่นใจมาก หลังเปิดปีใหม่มีบริษัทข้ามชาติบางรายเข้ามาการเจรจาขยายพื้นที่โรงงาน รวมทั้งมีนักลงทุนจากเยอรมันเข้ามาเจรจาตั้งฐานการผลิตในไทยเป็นที่แรก ด้วยความเชื่อมั่นในมาตรการการรับมือและอัตราการฉีดวัคซีนในแรงงาน"

กังวลผลกระทบทางอ้อม

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ธุรกิจบางส่วนที่อาศัยแรงซื้อในประเทศต้องรอประเมินสถานการณ์โอมิครอนในการทบทวนแผนการตลาดและการลงทุนอีกครั้ง โดนหลังเทศกาลปีใหม่จะเห็นภาพการแพร่ระบาดของโอมิครอนชัดเจนขึ้น

ส่วนภาคการส่งออกและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องยังคงขยายงานต่อเนื่องตามแนวโน้มคำสั่งซื้อที่ยังคงเติบโตในปี 2565 แต่ยอดผู้ติดเชื้อโอมิครอนทั่วโลกที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐ ทำให้ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากตลาดยุโรป และสหรัฐเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย

ล่าสุดพบเป็นสายพันธุ์การระบาดหลักในอังกฤษ เดนมาร์ก และสหรัฐ หากการแพร่ระบาดรุนแรงและนำไปสู่การล็อกดาวน์ในยุโรปต่อเนื่องปัญหาเดิมจะวนกลับมา ทั้งปัญหาชิพขาดแคลน ค่าน้ำมันแพง ค่าไฟขึ้น รวมถึงการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกและภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกปี 2565 จึงยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด