เผยสูตรสำเร็จ Robinhood SCB หลังคว้ารางวัล Nikkei ประจำปี 64
เปิดสูตรสำเร็จ “Robinhood” แพลตฟอร์มส่งอาหารของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) หลังเป็นหนึ่งในผู้ชนะรางวัลประจำปี 2564 ของ Nikkei (นิคเกอิ)
Robinhood (โรบินฮู้ด) แอพพลิเคชั่นบริการส่งอาหารชื่อดังในเครือธนาคารยักษ์ใหญ่อย่าง SCB ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ชนะรางวัล Nikkei สาขา Superior Products and Services Award ประจำปี 2564 เปิดตัวได้อย่างสวยหรู จนขณะนี้มีจำนวนผู้ใช้บริการกว่า 2.3 ล้านราย นับตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อเดือน ต.ค. 2563
สิ่งที่ Robinhood แตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่น ๆ คือ การไม่เก็บค่า GP จากร้านอาหาร ซึ่งช่วยเพิ่มความได้เปรียบทางธุรกิจเมื่อเทียบกับบรรดาคู่แข่งในตลาด
SCB คาดหวังที่จะพัฒนา Robinhood เป็น “ซูเปอร์แอพ” ที่ให้บริการอื่น ๆ เพิ่มเติมจากบริการฟู้ดเดลิเวอรี รวมไปถึงบริการส่งของที่ไม่ใช่อาหาร และบริการจองการเดินทาง
“Robinhood มักเสนอส่วนลดมากกว่าบริการเดลิเวอรีเจ้าอื่น ๆ” อัมพร พนักงานออฟฟิศรายหนึ่งในกรุงเทพฯ เปิดเผยกับสำนักข่าว Nikkei ของญี่ปุ่น
เธอบอกด้วยว่า ใช้แพลตฟอร์ม Robinhood เป็นประจำ เพราะได้ “ราคาดีกว่า” อีกหลายบริษัทอย่าง “GrabFood” บริษัทลูกในเครือ Grab Holdings ผู้ให้บริการแชร์รถรายใหญ่ของสิงคโปร์ และ “LINEMAN Wongnai” ผู้ให้บริการรายใหญ่อีกรายของไทย
ข้อได้เปรียบจากการไม่เก็บค่า GP
โดยทั่วไปแล้ว แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีรายอื่น ๆ จะคิดค่า GP จากร้านอาหารเป็นเปอร์เซ็นต์ของยอดออเดอร์นั้น ๆ ส่วน Robinhood ไม่ได้เก็บค่า GP จากร้านอาหารเลย แต่มีรายได้จากการให้บริการปล่อยสินเชื่อและบริการทางเงินอื่น ๆ ให้กับสมาชิกแพลตฟอร์ม และค่าธรรมเนียมจากการโฆษณา
นั่นทำให้ร้านอาหารที่ได้รับออเดอร์ผ่านแอพฯ Robinhood สามารถเสนอราคาที่น่าดึงดูดมากกว่า เนื่องจากไม่ต้องตั้งราคาชดเชยค่า GP
ตั้งเป้าขยายสู่หัวเมืองใหญ่
ข้อมูลของบริษัทเปิดเผยว่า Robinhood ได้สร้างเครือข่ายที่มีร้านอาหารกว่า 164,000 แห่ง (นับถึงสิ้นเดือน ต.ค. 2564) และมียอดสั่งซื้อผ่านแพลตฟอร์มมูลค่ารวม 3,300 ล้านบาทในปีแรกที่เปิดให้บริการ
“Robinhood กลายเป็นแพลตฟอร์มขนาดกลาง ที่รั้งเบอร์ 3 หรือเบอร์ 4 ในกรุงเทพฯและปริมณฑล” ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการบริษัทเพอร์เพิล เวนเจอร์ส ซึ่งเป็นผู้ดำเนินงานแอพฯ Robinhood เผย
สำหรับแผนขยายธุรกิจในปี 2565 Robinhood จะปักหมุด 3 จังหวัดท่องเที่ยวยอดนิยม ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต และชลบุรี พร้อมตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าเป็น 4 ล้านรายและร้านอาหารในแพลตฟอร์มเป็น 300,000 แห่งภายในปีนี้
มูลค่าตลาดส่อแตะ 7.9 หมื่นล้านปีนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ตลาดในไทยสะท้อนถึงการขยายตัวของบริการด้านอาหารทั่วโลก เนื่องจากรัฐออกมาตรการคุมเข้มการรับประทานอาหารนอกบ้านในช่วงโควิด-19 ระบาด
คาดว่า มูลค่าตลาดไทยเติบโตถึง 46% ในปี 2564 เทียบกับปี 2563 มาอยู่ที่ 76,000 ล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 79,000 ล้านบาทในปีนี้
ดำเนินงานปีแรก ขาดทุนกว่า 80 ล้าน
ในปี 2563 ซึ่งเป็นปีแรกที่เปิดตัว Robinhood นั้น บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด รายงานต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่า บริษัทขาดทุน 87 ล้านบาท เมื่อแยกเป็นรายรับและรายจ่าย พบว่า Robinhood มีรายได้เพียง 81,549 บาท เนื่องจากเพิ่งเปิดตัวแบบทดลองให้บริการประมาณในเดือน ก.ย. 2563 และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการประมาณในเดือน พ.ย. ปีเดียวกัน
หากนับช่วงเวลาที่มีรายได้จริง ๆ พบว่าอยู่ที่ราว 2 เดือนเท่านั้น โดยที่จำนวนคนขับหรือไรเดอร์ และร้านอาหารที่เข้าร่วมก็อาจยังไม่มากนัก และผู้บริโภคเองก็เพิ่งเริ่มรู้จัก Robinhood
ดังนั้น การขาดทุน 87 ล้านบาท จึงน่าจะมาจากการพัฒนาระบบหลังบ้านเพื่อรองรับบริการที่จะเกิดขึ้นในช่วงแรก และอาจครอบคลุมถึงงบการตลาดบางส่วน
นอกจากนี้ เมื่อย้อนดูเป้าประสงค์เริ่มต้นของ Robinhood ที่ธนา เธียรอัจฉริยะ ประกาศไว้ตั้งแต่แรกว่า ได้รับเงินจาก SCB มา 300 ล้านบาทเพื่อเป็นทุนเริ่มต้น และเน้นการเป็น CSR ที่ไม่เน้นทำรายได้และกำไร เห็นได้จากการไม่เก็บค่า GP จากร้านอาหาร ซึ่งปกติแล้ว ผู้ให้บริการเจ้าอื่น ๆ จะเก็บอยู่ที่ระหว่าง 20-35% ของยอดออเดอร์นั้น ๆ
ดังนั้น ตัวเลขขาดทุน 87 ล้านบาทในปีแรกที่ดำเนินการหรือช่วง 2 เดือนที่ให้บริการจริง จึงยังไม่อาจบ่งชี้อะไรได้มากนัก
เล็งขยายเพิ่ม 3 ธุรกิจ ก้าวสู่ "ซูเปอร์แอพ"
เมื่อเดือน ต.ค. 2564 สีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า ก้าวต่อไปของ Robinhood ยังคงยึดมั่นช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยในหลากหลายมิติมากขึ้น นอกจากการให้บริการแพลตฟอร์ตฟู้ดเดลิเวอรี่แล้ว ยังมีแผนขยาย Robinhood เข้าสู่ 3 ธุรกิจใหม่ครอบคลุม "กิน-เที่ยว-ช้อป-ส่ง" หรือเป็น "ซูเปอร์แอพ" ตั้งเป้าเปิดให้บริการปี 2565
ธุรกิจแรก คือ บริการจองที่พัก ตั๋วเครื่องบิน กิจกรรมท่องเที่ยว รถเช่า ประกันภัย (Online Travel Agent) ตั้งเป้าผู้ใช้บริการไม่ต่ำกว่า 480,000 รายการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ไม่ต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการใช้ตัวแทนในการขายห้องพักผ่านช่องทางออนไลน์
ธุรกิจที่สอง บริการสั่งซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้า (Mart Service) ตั้งเป้าร่วมมือกับร้านค้าราว 8,000-10,000 แห่ง และคาดมีผู้ใช้บริการไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านราย ช่วยเพิ่มช่องทางการขาย และเป็นสะพานเชื่อมให้ผู้ประกอบการได้เจอกับลูกค้า Robinhood ซึ่งเป็น กลุ่มที่มีกำลังซื้อ และพร้อมซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ
ธุรกิจที่สาม บริการรับ-ส่งของ (Express Service) แบบ on-demand เพื่อรองรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่กำลังขยายตัวแบบก้าวกระโดด ตั้งเป้าลูกค้าใช้บริการไม่ต่ำกว่า 5,000 ราย และมีการขนส่งสินค้าไม่ต่ำกว่า 4,000 รายการต่อเดือน
ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2564 ที่ผ่านมา เพอร์เพิล เวนเจอร์ส ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 900 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายบริการไปทั่วประเทศ และการเปิดบริการใหม่ ๆ ในอนาคต ก็ต้องติดตามกันต่อไป