ส่องแผนรัฐรับมือ ‘ASF’ ในหมู จาก ‘วาระแห่งชาติ’ ถึงงบกลางฯ รวม 1,000 ล้าน

ส่องแผนรัฐรับมือ ‘ASF’ ในหมู  จาก ‘วาระแห่งชาติ’ ถึงงบกลางฯ รวม 1,000 ล้าน

เป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจนอกจากเรื่องราคาหมูที่แพงขึ้นเป็นอย่างมาก หลายฝ่ายให้ความสนใจคือสาเหตุที่ทำให้หมูขาดตลาดในประเทศไทย โดยมีนักวิชาการและสมาคมผู้เลี้ยงสุกรที่เป็นเครือข่ายออกมาเปิดเผยว่ามีการแพร่ระบาดของโรค ASF จนทำให้หมูขาดตลาดและมีราคาแพง

โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever) หรือ เชื้อไวรัส "ASF"  ไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคระบาดในหมูเป็นประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงของคนในสังคมเนื่องจากราคาหมูที่แพงขึ้นในขณะนี้ มีหลายฝ่ายทั้งสมาคมผู้ประกอบการเลี้ยงหมู ภาคีสัตวแพทย์ฯยืนยัน พบ ASF ในประเทศไทย จนเป็นสาเหตุให้หมูจำนวนมากล้มตาย และมีการกำจัดหมูยกฟาร์มในบางพื้นที่ ขณะที่หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ดูแลปัญหาเรื่องนี้โดยตรงยังไม่ยอมรับว่ามีการระบาดของโรคนี้ในไทยโดยขอเวลาในการตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง 

"กรุงเทพธุรกิจ" พาไปย้อนดูแผนการเตรียมรับมือโรค ASF ในประเทศไทย  รัฐบาล ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมทั้งการประกาศวาระแห่งชาติในการป้องกัน ASF จนกระทั่งการของบกลางฯรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินใน 2 ปีงบประมาณ 2563 - 2564 วงเงินรวมกว่า 940 ล้านบาทในการเตรียมพร้อมและป้องกันโรคระบาดนี้ โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

โดยความพยายามในการป้องกันโรค ASF ของรัฐบาลปรากฏให้เห็นมาตั้งแต่ปี 2562 หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของโรคนี้ใน 35 ประเทศทั่วโลก โดยรัฐบาลประกาศให้การเตรียมความพร้อมรับมือโรค ASF เป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2562 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ รวมทั้งมีการอนุมัติงบกลางฯให้ป้องกันโรค ASF ใน 2 ปี งบประมาณที่ผ่านมา (2563 - 2564) วงเงินรวมประมาณ 943.29 ล้านบาท

ต่อมาในปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 งบกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วน วงเงิน 523.24 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรค ASF ต่อมามีการของบประมาณงบกลางฯปี 2564 จาก ครม.ในวันที่ 2 ก.พ.2564 อีก 279.78 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรค ASF ก่อนที่ในวันที่ 6 ก.ค.ปี 2564 จะมีการอนุมัติงบกลางฯให้กระทรวงเกษตรฯแก้ปัญหาโรค AFS อีก 140.27 ล้านบาทเพื่อป้องกันโรค ASF

ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯได้มีการให้ข้อมูลว่าโรค ASF เป็นโรคติดต่อสำคัญในสุกรที่เกิดจากเชื้อไวรัส หากมีการระบาด ของโรคนี้ในประเทศแล้วจะกำจัดโรคได้ยาก เพราะในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันและยาที่รักษาโรค เชื้อไวรัสที่ก่อโรคมีความทนทานในผลิตภัณฑ์จากสุกรและสิ่งแวดล้อมสูง สุกรที่หายป่วยแล้วจะเป็นพาหะของโรคได้ ตลอดชีวิตและความรุนแรงของโรคยังทำให้สุกรที่ติดเชื้อมีการตายเฉียบพลันเกือบ100% โรคนี้ไม่ติดต่อสู่คน และสัตว์ชนิดอื่น

อีกทั้งมีการการตรวจพบการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโรคอหิวาต์แฮฟริกาในสุกร (ASF) แพร่กระจายในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งแตกต่างไปจากเชื้อไวรัส ASF ที่เคยตรวจพบในทวีปยุโรปและเอเชียมาก่อนหน้านี้ ประกอบกับปัจจุบันยังพบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรร่วมกับโรคระบาดร้ายแรงในสุกรอื่นที่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง เช่น โรคกลุ่มอาการระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจในสุกร (พีอาร์อาร์เอส, Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome : PRRS) เป็นต้น

การวินิจฉัย ชันสูตรโรค การเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคมีความยากลำบากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงจากการที่เกษตรกร ต้องสูญเสียสุกรที่ป่วยตายจากโรคและไม่สามารถเลี้ยงสุกรต่อไปได้ เนื่องจากเชื้อโรคยังสะสมอยู่ในพื้นที่และทำให้เกิดโรคช้ำในฟาร์มจนทำให้สูญเสียอาชีพการเลี้ยงสุกรไปในที่สุด อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ได้แก่ โรงงานอาหารสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์สุกร ธุรกิจการค้าเวชภัณฑ์สัตว์รวมถึงเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด มันสำะหลัง ถั่วเหลือง มีมูลค่า ความเสียหายรวมไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ยังต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูอาชีพให้กับเกษตรกรซึ่งต้องใช้เงินงบประมาณเป็นจำนวนมากและใช้เวลานานในการฟื้นฟู จะก่อให้เกิดภาวะขาดแคลนเนื้อสุกรในการบริโภคอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนและความมั่นคงทางอาหารของประเทศอีกด้วย และทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียโอกาสในการส่งออกสุกรมีชีวิต เนื้อสุกรแช่แข็งและผลิตภัณฑ์สุกรไปจำหน่ายในต่างประเทศซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2.2 หมื่นล้านบาทต่อปีจากความรุนแรงของโรค 

หากไม่มีมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคที่เหมาะสม จะต้องมีการทำลายสุกรเพื่อการควบคุมโรคและเกิดการสูญเสีย ดังนี้

1.ประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรจำนวน 187,272 ราย เป็นเกษตรกรรายย่อย 184,091 ราย เลี้ยงสุกรขุน 2.24 ล้านตัว สุกรพันธุ์ 3.9 แสนตัว ลูกสุกร 6.89 แสนตัว เป็นเกษตรกรรายใหญ่ 3181 ราย เลี้ยงสุกรขุน 5.94 ล้านตัว สุกรพันธุ์ 6.834 แสนตัว และลูกสุกร 1.53 ล้านตัว กรณีเกิดโรค 30% ของสุกรที่ เลี้ยง จะเกิดความสูญเสียสำหรับเกษตรกรรายย่อยเป็นเงินจำนวน 5.13 พันล้านบาท เกษตรกรรายใหญ่เป็นเงินจำนวน 1.154 หมื่นล้านบาท รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1.66 หมื่นล้านบาท กรณีเกิดโรค 50% ของสุกรที่ เลี้ยง จะเกิดความสูญเสียสำหรับเกษตรกรรายย่อยเป็นเงินจำนวน 8.55 พันล้านบาท เกษตรกรรายใหญ่เป็นเงินจำนวน 1.923 หมื่นล้านบาท รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 2.78 หมื่นล้านบาท

กรณีเกิดโรค 80% ของสุกรที่ เลี้ยง จะเกิดความสูญเสียสำหรับเกษตรกรรายย่อยเป็นเงินจำนวน 1.369 หมื่นล้านบาท เกษตรกรรายใหญ่เป็นเงินจำนวน 3.07 หมื่นล้านบาท รวมเป็นจำนวนเงินสิ้น 4.46 หมื่นล้านบ และกรณีเกิดโรค100% ของสุกรที่ เลี้ยง จะเกิดความสูญเสียสำหรับเกษตรกรรายย่อยเป็ นเงินจำนวน 1.71 หมื่นบาท เกษตรกรรายใหญ่เป็นเงินจำนวน 3.84 หมื่นล้านบาท รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 5.55 หมื่นล้านบาท

สำหรับผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นเช่น ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ จาก

- การถูกระงับการส่งออกเนื้อสุกรซำแหละ เนื้อสุกรแปรรูป เป็นมูลค่าปีละประมาณ 6,000 ล้านบาท

- สูญเสียโอกาสการส่งออกสุกรมีชีวิต เป็นมูลค่าปีละประมาณ 1.6หมื่นล้านบาท โดยประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา มูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ส.ป.ปลาว มูลค่าประมาณ 170 ล้านบาท และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มูลค่าประมาณ 400 ล้านบาท ด้านธุรกิจอาหารสัตว์เสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท ด้านธุรกิจเวชภัณฑ์ 3.5 พันล้านบาท ผลกระทบด้านราคาสุกรขุนมีชีวิตภายในประเทศ เนื่องจากผู้บริโภคเกิดความตื่นตระหนก

นอกจากนี้กระทรวงเกษตรฯได้ระบุด้วยว่าหากราคาหมูลดลงจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

โดยหากปรับลดลงกิโลละ10 บาท ทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ปีละ 2.2 หมื่นล้านบาท

ราคาลดลงกิโลกรัมละ 20 บาท ทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ปีละ 4.4 หมื่นล้านบาท

ราคาลดลงกิโลกรัมละ 30บาท ทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ปีละ 6.6 หมื่น ล้านบาท

นอกจากนี้ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูอาชีพและความเป็นอยู่ของเกษตรกรเป็นจำนวนมาก และใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูเป็นเวลานาน