รัฐอัดงบ 3 หมื่นล้าน แก้ปัญหาหมูขาดตลาด
รมช.เกษตรและสหกรณ์ ขึ้นเหนือรับฟังปัญหาเกษตรกรรายย่อย จัดงบ 30,000 ล้านบาท ส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยให้กลับมาเลี้ยงสุกร ประสานฟาร์มรายใหญ่ให้จำหน่ายแม่พันธุ์ ลูกหมู อาหารในราคาถูก
เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2565 ที่อาคารแผ่พืชน์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่พบปะผู้ว่าราชการจังหวัดภาคเหนือ กลุ่มสุกรรายย่อย และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ เพื่อติดตามสถานการณ์ราคาเนื้อหมูและรับทราบปัญหาในพื้นที่
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำหรับการเดินทางมาในวันนี้ นายยกรัฐมนตรีได้กำชับให้มาแก้ไขปัญหาสุกรขาดแคลนและส่งเสริมฟื้นฟูให้เกษตรกรรายย่อยกลับมาเลี้ยงสุกร ซึ่งขณะนี้เกษตรกรรายย่อยมีอยู่ประมาณ 185,000 ราย ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือประมาณ 70,000 ราย ดังนั้นจึงได้เดินทางเข้ามาร่วมรับฟังปัญหาของเกษตรกรในภาคเหนือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดในภาคเหนือ
โดยได้ข้อสรุปจากการรับฟังปัญหาของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ปัญหาหลักกรณีสุกรที่ขาดแคลนอยู่ในขณะนี้ เกิดจากภาวการณ์ตลาดส่วนหนึ่ง และเกิดจากโรคระบาดส่วนหนึ่ง ทำให้หมูขาดแคลนในตลาด โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแจ้งว่าประมาณ 3-5 ล้านตัว ซึ่งขณะนี้คนไทยบริโภคสุกรประมาณวันละ 50,000 ตัว เมื่อเกิดการขาดแคลนทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น
การแก้ไขปัญหาเบื้องต้น และทำได้ทันทีคือการส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงหมูอยู่เดิม ซึ่งมีสถานที่และความพร้อม โดยให้เริ่มต้นเลี้ยง 20 ตัว หรือเลี้ยงแม่พันธุ์ 2 ตัว เพื่อรอจำหน่ายลูก โดยตั้งงบประมาณ 30,000 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมเกษตรกร พร้อมทั้งจัดหาอาหารสุกร ลูกหมูขุน โดยประสานขอความร่วมมือจากฟาร์มขนาดใหญ่ให้จำหน่ายให้ในราคาถูกเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จะเข้ามาช่วยดูแลเกษตรกรในการปล่อยสินเชื้อในวงเงิน 30,000 ล้านบาทที่รัฐบาลได้จัดงบประมาณไว้ เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยกู้ยืมในลักษณะผ่อนปรนเรื่องดอกเบี้ย โดยกำหนดให้รายย่อยกู้ยืมได้รายละ 100,000 บาท โดยใช้เพียงบุคคลค้ำประกันเท่านั้น โดยต้องการให้เกษตรกรที่มีองค์ความรู้เรื่องการเลี้ยงสุกรกลับมาเลี้ยงสุกรเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กลับมา โดยสามารถนำเงินไปใช้ซื้อแม่พันธุ์ หรือลูกหมูขุน หรือนำเงินไปปรับปรุงคอกสุกร โดยให้ผ่อนชำระในระยะเวลา 5ปี โดย 2 ปีแรกหากยังไม่มีรายได้มากนัก อาจจะมีการผ่อนปรนให้ปลอดการชำระในระยะแรก ส่วนเกษตรกรขนาดกลางต้องมีการยื่นแผนเสนอโครงการเข้ามาเพื่อพิจารณาในการอนุมัติวงเงิน
ด้านนายวรายุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า สำหรับในภาคเหนือตอนบนจากข้อมูลพบว่ามีเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อยอยู่มากถึง 70,000 ราย ในช่วงที่ผ่านมาประสบกับปัญหาโรคระบาดทำให้เกษตรกรรายย่อยหลายรายต้องเลิกเลี้ยงสุกรไป ทำให้ในตลาดเกิดการขาดแคลน การที่ภาครัฐเข้ามารับฟังปัญหาและหาแนวทางแก้ไขเพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรรายย่อยสามารถกลับมาเลี้ยงสุกรได้อีกครั้งจึงเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งทางผู้ว่าราชการจังหวัดภาคเหนือตอนบนทั้งหมดพร้อมที่นำนโยบายของภาครัฐเข้าไปช่วยส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรอย่างเต็มกำลังความสามารถ
ขณะที่นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าวว่า ได้เสนอข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาล โดยขอให้เร่งรัดในการจ่ายเงินเยียวยาให้กับเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน จากการที่ทางภาครัฐได้ออกมาตรการให้ทำลายสุกร เพื่อควบคุมการระบาดของโรค อย่างไรก็ตามการที่ภาครัฐตั้งงบประมาณช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยเพื่อให้สามารถกู้ยืมเงินไปเพื่อเลี้ยงสุกรนั้นเป็นการสร้างแรงจูงใจ ให้เกษตรกรกลับไปพลิกฟื้นอาชีพได้อีกครั้ง หลังจากที่ต้องเลิกเลี้ยงสุกรไปมากกว่าร้อยละ 50 เนื่องจากไม่มีทุนหมุนเวียน
นอกจากนั้นยังได้เสนอให้ภาครัฐยกเลิกการกำหนดราคาทั้งหมูเป็น และหมูชำแหละ เพื่อปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด และเกิดการแข่งขัน คาดว่าสถานการณ์ขาดแคลนสุกรเพื่อการบรโภคภายในประเทศจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายในระยะเวลา 6-12 เดือนหลังจากนี้ หากทางภาครัฐส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยอย่างจริงจัง