เรื่องของ“หมู” ที่ไม่ “หมู” อย่างที่คิด ทำคนไทยต้องกินหมูแพงทั้งปี

เรื่องของ“หมู” ที่ไม่ “หมู” อย่างที่คิด ทำคนไทยต้องกินหมูแพงทั้งปี

หมูแพงในรอบ 10 ปี ประชาชน อ่วม!! ร้านค้าพาเหรดปรับราคาอาหารขึ้นเพียบ คาดประชาชนต้องซื้อ”หมูแพง”อีกเป็นปี กว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ สาเหตุหลักจากโรคระบาดในสุกรและราคาอาหารสัตว์พุ่ง ทำเกษตรรับภาระต้นทุนไหวต้องเลิกเลี้ยงหมู

สัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องฮ๊อตๆคงหนีไม่พ้น “หมูแพง” ทำเอาเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า ตั้งแต่ผู้บริโภคไปถึง”บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ต้องออกโรง กำชับให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับแก้ปัญหา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน  เพราะหมูเป็นอาหารและวัตถุดิบสำคัญอาหารทั่วไป ทั้งก๋วยเตี๋ยว แกง อาหารตามสั่ง ผัด ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งสถานการณ์”หมูแพง”ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี

ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มีวาระประชุมเกี่ยวกับการดูแลสินค้า ก็นำเรื่อง”หมู”เข้าหารืออย่างเคร่งเครียด โดยใช้เวลาหารือนานกว่า 3 ชั่ว โมงถึงได้ข้อสรุป โดยมีมติสำคัญ 3 ข้อ คือ

1.ห้ามส่งออกหมูเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค. - 5 เม.ย. 2565 เพื่อให้หมูกลับเข้าสู่ระบบการบริโภคภายในประเทศก่อน

 2.กำหนดให้ผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่ ตั้งแต่ 500 ตัวขึ้นไป / ผู้ค้าส่ง ที่มีหมูเกิน 500 ตัวขึ้นไป และห้องเย็นที่มีสต็อกหมู ตั้งแต่ 5,000 กิโลกรัมขึ้นไป แจ้งปริมาณ และราคาทุก 7 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค.นี้เป็นต้นไป เพื่อดูแลปริมาณหมู และสต็อกหมูที่มีอยู่ทั้งประเทศซึ่งกรมการค้าภายใน จะส่งเจ้าหน้าที่ร่วมกับกรมปศุสัตว์ ในการตรวจสอบ เพื่อจะได้เร่งบริหารจัดการระบายเนื้อหมูออกสู่ตลาด

3.กรมปศุสัตว์เร่งผลิตหมูเข้าสู่ระบบด้วยการส่งเสริมการเลี้ยงเพิ่มเติมเพื่อให้มีเพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ

นี่เป็นข้อสรุปในการแก้ปัญหา”หมูแพง”เบื้องต้น ซึ่งจะช่วยเติม”หมู”เข้ามาในระบบได้บางส่วน แต่แผนระยะยาวนั้นก็จะให้เร่งให้เกษตรกรทั้งรายเล็กและรายใหญ่เร่งผลิตหมูขุนเข้าสู่ระบบมากขึ้น คาดว่าต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือนที่จะเข้าสู่ภาวะปกติ  เพราะการเลี้ยงหมูต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3  เดือน หมูจะได้น้ำหนักตามมาตรฐานคือเฉลี่ย 100 กก.ต่อตัว

เรื่องของ“หมู” ที่ไม่ “หมู” อย่างที่คิด ทำคนไทยต้องกินหมูแพงทั้งปี

“หมูแพง”จึงใช่เรื่อง”หมูๆ”ตามสุภาษิตที่แปลว่า เป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ เพราะครั้งนี้ “หมูแพง" กลายเป็นเรื่องระดับชาติ ที่ทุกฝ่ายต้องเข้ามาแก้ไขทั้งระยะสั้นและระยะยาว ปัจจุบันไทยมีหมูเลี้ยงในระบบอยู่ที่ 19 ล้านตัว ใช้สำหรับบริโภค 18 ล้านตัวอีก 1 ล้านตัวเป็นการส่งออก แต่ ในปี 2565 หมูเลี้ยงในระบบ เหลือเพียง 13 ล้านตัวหายไปถึง 5 ล้านตัวหรือ 30 % ของหมูที่บริโภคภายในประเทศ ส่งผลให้หมูไม่พอสำหรับการบริโภค ดันราคาหมูขยับขึ้นเฉลี่ยกก.กรัมและ 220-250 บาท  

คำถามที่ตามมาคือ “หมู”หายไปไหน?? ทั้งภาครัฐและสมาคมผู้เลี้ยงหมู ต่างออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สาเหตุที่ทำให้ราคาหมูเนื้อแดงปรับเพิ่มขึ้น มาจากความต้องการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นจากการที่รัฐบาลได้คลายล็อกดาวน์ มีการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเปิดเทอม ขณะที่หมูเป็นมีผลผลิตลดลง จากที่ก่อนหน้านี้เป็นช่วงหน้าร้อน ทำให้หมูโตช้า และยังมีการส่งออกหมูเป็นไปต่างประเทศ เพราะมีความต้องการจากประเทศเพื่อนบ้านและจีนเพิ่มขึ้น จากการเกิดโรคอหิวาต์แอฟริกัน (African swine fever : ASF) ในสุกร ซึ่ง เป็นโรคไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสุกรที่แพร่กระจาย ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก

 แต่...ส.ส. จ.พะเยา จากพรรคเพื่อไทย นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ กลับออกมาแฉถึงสาเหตุของหมูที่หายไปจากระบบ ส่งผลให้หมูแพงในรอบ 10 ปี โดยระบุว่า โรค  ASF ระบาดในไทยมากว่า 3 ปี แต่รัฐบาลไม่เคยยอมรับว่า เกิดการระบาด และยังแจ้งว่าเป็นโรคเพิร์ส (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome (PRRS) ซึ่งโรคนี้มีวัคซีนป้องกันได้ ทั้งนี้ในกรณีที่เกิดอหิวาต์สุกร หากสุกรติดเชื้อเพียง 1 ตัว ในรัศมี 3 กิโลเมตร ต้องฆ่าสุกรฝังกลบทั้งหมด และห้ามเลี้ยงสุกรต่อ ทำให้เกษตรกรได้รับความเสียหายหนัก ส่งผลให้ปริมาณเนื้อสุกรหายไปจากระบบ

ขณะที่นายโสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดี กรมปศุสัตว์ กล่าวยืนยันว่า ไทยยังเป็นประเทศปลอดโรค AFS โดยโรคระบาดในหมู ที่เกิดขึ้นเป็นโรคโรคเพิร์ส หรือ PRRS ที่มีรอยโรคคล้ายคลึงกันทำให้มีบางคนเข้าใจผิดระหว่าง 2 โรคนี้แต่จากผลในห้องแลปยืนยันว่า ไทยยังปลอดจากโรค AFS

 “หมูหายไปไหน”ส่วนหนึ่งมาจากโรคระบาดในสุกร อีกส่วนหนึ่งคือมาจากราคาอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น จากการสำรวจ พบว่าต้นทุนของเกษตรกรในการเลี้ยงสุกรให้ได้น้ำหนัก 100 กิโลกรัม มีค่าอาหารเฉลี่ย 6,000 บาท/ ตัว ส่งผลให้หมูหายไปจากระบบทำ “หมูแพงทั้งเมือง” ซึ่งประชาชนต้องแบกภาระค่าครองชีพสูงขึ้นเนื่องจากร้านอาหารตามสั่ง  ร้านก๋วยเตี่ยว ร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ต่างๆและร้านอาหารที่มีหมูเป็นวัตถุดิบอาหาร ต่างพาเหรดปรับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง อ้างหมูเนื้อแดงมีราคาสูงขึ้นจากที่เคยซื้อปกติ 160 บาท เป็น 200 บาท และราคาเริ่มทะลุเกิน 200 บาท ทำให้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น โดยพบว่ามีการปรับขึ้นราคาตั้งแต่ 10-100 บาท  

ขณะที่กรมการค้าภายใน “วัฒนศักดิ์ เสือเอี่ยม” อธิบดีกรมการค้าใน กล่าวว่า  หลังจากกกร.มีมติเบื้องต้นคาดว่าจะมีหมูเข้าสู่ตลาดเพิ่มอีก 1 ล้านตัวจากการห้ามการส่งออก ขณะที่สต๊อกหมูแช่เย็นและแช่แข็งจะเร่งนำออกมาสู่ตลาดให้เร็วที่สุด คาดว่าราคาหมูน่าจะลดลง แต่หากพบว่ามีการค้ากำไรเกินควร กรมจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด 

ทั้งนี้สถานการณ์หมูแพงไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด สิ่งที่สำคัญคือการไม่ปกปิดข้อมูล ซึ่งสถานการณ์หมูแพงเกิดขึ้นแล้ว ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ไข พร้อมกันสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ประเทศไทยยังมีทางเลือกบริโภคเนื้อสัตว์อื่นแทนชั่วคราวได้ ไม่ว่าจะเป็น เนื้อปลา เนื้อไก่ เนื้อวัว ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดีในห้วงเวลาที่”หมูแพง”และช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชานได้เป็นอย่างน้อยเพราะคนไทยจะต้องทนกับราคาหมูแพงไปอีกหลายเดือน