สรุปข้อสังเกต “ท๊อป จิรายุส” กับประเด็น “เก็บภาษีคริปโทฯ” ในไทย

สรุปข้อสังเกต “ท๊อป จิรายุส” กับประเด็น “เก็บภาษีคริปโทฯ” ในไทย

“ท๊อป จิรายุส” และทีม “Bitkub” รวมความเห็นนักลงทุนคริปโทฯ เสนอแนวทาง “เก็บภาษีคริปโทฯ” ในไทย ให้เป็นธรรม สร้างโอกาสให้ประเทศ

การจัดเก็บ “ภาษีคริปโทเคอร์เรนซี” เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ร้อนแรงที่สุดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลัง “กรมสรรพากร” ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวถึงแนวทางการจัดเก็บภาษีคริปโทฯ เช่น วิธีการคำนวณที่จะมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ในทุกๆ การซื้อขายที่ได้กำไร ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตและวิพากษ์วิจารณ์ไปหลากหลายทิศทาง

จากประเด็นดังกล่าว ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา Group CEO แห่ง Bitkub Group ได้โพสต์ขอความเห็นจากแฟนเพจเฟซบุ๊ค ท๊อป จิรายุส - Topp Jirayut  ที่ส่วนใหญ่ล้วนเป็นนักลงทุนในคริปโทฯ ที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ว่า

ผมเข้าใจในความกังวลเกี่ยวกับประเด็นภาษีของทุกคนครับ ร่วมช่วยกันแสดงความคิดเห็นเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดได้เลยครับ”   

หลังจากโพสต์ข้อความข้างต้นมีแฟนเพจร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ทำให้ จิรายุส ไลฟ์ผ่านเพจอีกครั้งเพื่ออัพเดทความคืบหน้าเกี่ยวกับคอมเมนท์ โดย จิรายุส กล่าวในไลฟ์ว่า หลังจากที่โพสต์มีคนร่วมคอมเมนท์มากกว่า 4,000 คอมเมนท์ ภายใน 24 ชั่วโมง ทีมงาน "บิทคับ" ได้รวบรวมข้อมูลเหล่านี้เพื่อสรุปเป็นสถิติและนำไปนำเสนอกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเร็วๆ นี้ ตัวอย่างความเห็นจากลูกเพจ เช่น 

- ควรจะคิดเป็นขั้นบันได จากการเทรดคริปโทฯ ตลอดทั้งปี ไม่ควรเป็น Flat Rate ที่ 15% เช่น 2% 3% 4% เราต้องแบกรับการขาดทุนด้วยตัวเองแล้ว ยังต้องแบกรับภาระภาษีที่ทางรัฐหักไปเพิ่มอีกด้วย ผลสุดท้ายคนไทยก็จะไม่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ประเทศก็จะได้ภาษีน้อยลง 

- ไม่ควรเก็บภาษีในภาวะที่ยังไม่มีความพร้อม ในช่วงที่ประเทศต้องการพัฒนาด้านเทคโนโลยี

- ต้องมีหลักความเป็นธรรม ควรเป็นธรรมกับประชาชนทุกคนที่อยู่ในรัฐนั้นๆ ในทุกภาคส่วน

- ควรมีหลักความแน่นอน และมีหลักความเป็นกลาง 

- ทำไมไม่ส่งเสริมให้เมืองไทยเป็นตลาดซื้อขายที่หน้าสนใจให้ต่างชาติมาร่วมซื้อขาย แต่ดันสร้างเป็นอุปสรรคไม่ยอมให้ประชาชนได้ลืมตาอ้าปาก  เป็นต้น 

ทั้งนี้ ทีมงานจะรวบรวมคอมเมนท์เป็นสิถิติเพื่อไปเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางการจัดเก็บภาษีคริปโทฯ ในไทยให้มีนโยบายที่เปิดรับโอกาสใหม่ ได้เม็ดเงินที่ไหลเข้ามาในประเทศ และสร้างโอกาสให้กับคนไทย 

 

  •  คริปโทฯ คือโอกาสในอนาคต  

จิรายุส ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า “สิ่งที่พวกเรากำลังทำกันอยู่ คือโครงสร้างพื้นฐานหลักของสิ่งที่เรียกว่า เว็บ 3.0 ที่ยังไงมันก็เกิด และไม่เกิดขึ้นไม่ได้เพราะเป็นทิศทางของโลก” 

จิรายุส อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า เว็บ 1.0, 2.0 และ 3.0 ว่า 

1.0 คือการนำข้อมูลไปไว้บนดิจิทัล ทุกคนสามารถอ่านได้เหมือนกันทั้งหมด แต่เป็นการสื่อสารแบบทางเดียว โครงสร้างพื้นฐานในขณะนั้นคือคอมพิวเตอร์ และการต่ออินเทอร์เน็ตด้วยโมเดม 

2.0 คืออินเทอร์เน็ตยุคปัจจุบัน ที่สามารถสื่อสารได้ 2 ทาง ทุกคนเป็นได้ทั้งคนอ่านและคนสร้างข้อมูลในระบบอินเทอร์เน็ต สามารถแสดงความคิดเห็นไปมาได้ เขียนบล็อกให้คนทั้งโลกอ่านได้ โดยโครงสร้างพื้นฐานของยุค 2.0 คือการแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น โซเชียลมีเดีย ไม่ใช่ทุกคนจะได้เห็นเหมือนกันทั้งหมด แต่จะเสพเฉพาะในสิ่งที่แต่ละคนสนใจได้ 

3.0 คือสิ่งที่เรากำลังจะทำ อีกไม่นานอินเทอร์เน็ตจะเป็น 3D ทุกอย่าง ปัจจุบันยังเป็น 2D แค่เห็นภาพเท่านั้น แต่ 3.0 อินเทอร์เน็ตจะเป็น 3D จะมี Internet of Thing (IOT) เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ทุกอุปกรณ์ต่างๆ จะฉลาดและเชื่อมอินเทอร์เน็ตทั้งหมด จะมีประสบการณ์ระหว่างกัน เป็นต้น ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างเทคโนโลยีที่ให้บริการอยู่เบื้องหน้า แต่ยังมีเทคโนโลยีที่ลึกกว่าอยู่เบื้องหลัง เช่น บล็อกเชน ที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานของเว็บ 3.0 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 5 ปี ข้างหน้าด้วย 

 

ดังนั้น “ประเทศที่เข้าใจ ที่มีกฎหมาย เข้าใจเทคโนโลยีก่อน ก็จะเป็นประเทศที่ได้โอกาส โอกาสและเม็ดเงินจะไหลเข้ามาในประเทศนั้น คนเก่งๆ ก็จะมายกระดับประเทศนั้น ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น”

 

  •  ปรับกฎหมายให้ทันเทคโนโลยี เพิ่มโอกาสให้ประเทศ 

นอกจากนี้ จิรายุส ยังได้ยกตัวอย่างย้อนไปถึงสถานการณ์ของประเทศอังกฤษ ในยุคต้นกำเนิด “รถยนต์” ที่อังกฤษเสียโอกาสมหาศาลจากการคลอดกฎหมายครอบการใช้รถยนต์บนความกลัว และไม่เท่าทันเทคโนโลยี 

"ตอนที่รถยนต์ออกมาใหม่ๆ คนต่อต้าน เพราะมนุษย์มักต่อต้านสิ่งใหม่และกลัวการเปลี่ยนแปลง คนมองว่า รถคือเครื่องจักรที่เสียงดังมาก ขับเคลื่อนช้ากว่าม้า ใช้แก๊สโซลีนที่หาซื้อได้ยากในยุคนั้น เครื่องพังตลอดเวลา และทับคนตาย คนต่างพูดเรื่องข้อเสียของรถยนต์เพราะเป็นไวรัล เรียกว่าเป็น Death Machine"
 
ภาพลักษณ์ของรถยนต์แย่มาก จนปี 1896 รัฐบาลอังกฤษเรียกว่า “Red flag act” ที่กำหนดว่าการใช้รถยนต์จะต้องมี 3 คนขึ้นไป คือ คนขับ วิศวกรดูแลเครื่องยนต์ และคนถือธงแดงวิ่งนำรถแล้วประกาศให้คนข้างทางฟังว่า Death Machine กำลังจะมา อย่าเข้าใกล้ 

หลังจากที่ออกกฎหมายนั้นมา อังกฤษแพ้ราบคาบในวงการรถยนต์ เพราะแทนที่รัฐบาลจะเข้าใจสิ่งใหม่ กลับมีความกลัวกับข่าวที่อ่านทุกวันว่ารถยนต์ทับคนตาย แล้วก็เอากฎหมายเก่ามาครอบส่ิงใหม่ ทว่าสุดท้ายรถยนต์ก็เกิดขึ้นอยู่ดี แต่ไม่ได้ที่อังกฤษ และประเทศอื่นที่มีนโยบายสอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ ได้ประโยชน์ไปจากการกำเนิดรถยนต์ไป

 

“กฎหมายต้องปรับเปลี่ยนให้ทันกับโลก มันก็ไม่เมคเซนท์ ที่จะเอากฎของรถม้า มาครอบรถยนต์ มันก็ไม่ใช่ ก็จะต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง”

 

จิรายุส ยังกล่าวอีกว่า “เรื่องของภาษีและหลายๆ กฎหมาย ควรจะมีทีมที่มาดูอย่างจริงจัง เพื่อให้กฎหมายสอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่หรือโลกใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น และการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะเกิดขึ้นเร็วมากๆ อดีตสอนเรามาตลอดว่า ประเทศที่มีกฎหมายที่ไม่ตามกับเทคโนโลยีใหม่ก็จะเป็นประเทศที่เสียประโยชน์มหาศาลในระยะยาว