ลลิลเชื่อดีมานด์อั้น-จีดีพีขยายตัวดันตลาดอสังหาโต10%

ลลิลเชื่อดีมานด์อั้น-จีดีพีขยายตัวดันตลาดอสังหาโต10%

ตลาดอสังหาฯ ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง และปีนี้การแพร่ระบาดก็ยังคงอยู่ รวมถึงการเกิดขึ้นของสายพันธุ์ใหม่ อย่างโอมิคอน แต่อย่างไรก็ตามมุมมองของผู้ประกอบการ อย่าง"ลลิล พร็อพเพอร์ตี้” เชื่อว่าภาพรวมตลาด และธุรกิจจะดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

ไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มตลาดอสังหาฯปี 2565 จะดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา อย่างน้อย10% ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยจะขยายตัว 3-4% ทำให้เกิดการจ้างงาน คนมีรายได้เพิ่มขึ้น 

แม้ว่าจะยังมีความเสี่ยงในเรื่องของการระบาดระลอกใหม่ของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน แต่ความรุนแรงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับช่วง2 ปีที่ผ่านมา

ปัจจัยบวกอีกสิ่งหนึ่งคือ การที่รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศออกมาตรการกระตุ้นตลาดด้วยการต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน และค่าธรรมเนียมจำนอง สำหรับที่อยู่อาศัยที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทออกไปจนถึงสิ้นปี 2565 การผ่อนปรนเกณฑ์แอลทีวีจากธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงอัตราดอกเบี้ยซื้อบ้านยังต่ำ และมีดีมานด์อั้นที่เข้ามาซื้อที่อยู่อาศัยในปีนี้ โดยเฉพาะแนวราบที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตยุคนิวนอร์มอล

ดังนั้นเพื่อรองรับทิศทางดังกล่าว บริษัทจึงมีแผนที่จะเปิดตัวโครงการใหม่ปีนี้เพิ่มเติม โดยเน้นโครงการแนวราบ 10-12 โครงการ มูลค่ารวม 7,000-8,000 ล้านบาท แบ่งเป็นบ้านเดี่ยว 48% ที่เหลือ 53% เป็นทาว์นเฮ้าส์ โดยมีระดับราคาตั้งแต่ 2-8 ล้านบาท เป็นหลักเพื่อรองรับกำลังซื้อของลูกค้ากลุ่มใหญ่ในระดับราคาที่จับต้องได้ 

แนวทางดังกล่าว จะทำให้บริษัทเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดได้ เพราะมีทั้งอีโคโนมี ออฟสเกล และ อีโคโนมีออฟสปีด ในการรักษาส่วนแบ่งตลาดในทำเลที่เป็นผู้นำ โดยคาดว่ายอดขายปีนี้จะอยู่ที่ 8,500 ล้านบาท ยอดรับรู้รายได้ 7,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตต่อเนื่องเพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน

ทั้งนี้การเปิดตัวโครงการปีนี้จะเน้นทำเลในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก 90% ที่เหลือ10% จะเป็นทำเลในโซนอีอีซีและเมืองรองที่มีศักยภาพ แต่รอจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการลงทุน เนื่องจากกำลังซื้อภายในประเทศยังอ่อนแอจากผลกระทบของการระบาด ระดับหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวในระดับสูง และ ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ฉะนั้นแนวทางการรับมือจะเน้นการรักษาสภาพคล่องและควบคุมความเสี่ยงจากการเปิดตัวโครงการใหม่ในกลุ่มเรียลดีมานด์ 
 

ด้าน ชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า ปีนี้บริษัทจะต่อยอดการใช้กลยุทธ์ด้าน ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้งเพิ่มมากขึ้น เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างมีศักยภาพและตรงตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน โดยได้นำบิ๊กดาต้ามาใช้ในการวิเคราะห์คอนซูมเมอร์ อินไซต์ เพื่อนำเสนอรูปแบบผลิตภัณฑ์และการบริการที่เข้าถึง และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำ 

รวมไปถึงการยกระดับการบริหารจัดการระบบสารสนเทศภายในองค์กร โดยนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารงานในทุกภาคส่วนในองค์กร เพื่อยกระดับสู่ดิจิทัล คัมพานี เต็มรูปแบบ ภายใต้กลยุทธ์ Lalin The Next เพื่อก้าวสู่การเป็นแบรนด์อสังหาริมทรัพย์เพื่อคนไทย พร้อมมอบประสบการณ์การอยู่อาศัยแบบใหม่ที่ดีกว่า

“ส่วนภาพรวมสถานะด้านการเงินบริษัทมีความแข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) เพียง 0.6 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ 1.4-1.5 เท่า รวมทั้งมีกระแสเงินสดสำรองเพื่อรองรับการขยายธุรกิจอีกกว่า 1,000 ล้านบาท โดยในปีนี้บริษัทได้จัดสรรงบในการซื้อที่ดินไว้ 1,100 -1,300 ล้านบาทเพื่อรองรับการขยายธุรกิจตามแผนงาน”  นายชูรัชฏ์ กล่าว