โรงแรมไทยกระอักพิษ ‘โอมิครอน’ ฉุดอัตราเข้าพัก ม.ค.ซึมเหลือ 20%
สัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัวที่ทำท่าจะดีในช่วงปลายปี 2564 มีอันต้องสะดุด!! เมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว
ทำให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ยกระดับมาตรการสกัดกั้น ตามมติเมื่อวันที่ 7 ม.ค.2565 ระงับการลงทะเบียนของนักท่องเที่ยวประเภท Test & Go รายใหม่ต่อเนื่อง แต่ยังเปิดรับผู้เดินทางเข้าไทยในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวหรือแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) เพิ่มจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ อีก 3 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (เฉพาะเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) พังงา (ทั้งจังหวัด) และกระบี่ (ทั้งจังหวัด) ตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค.นี้
และถ้าสถานการณ์ยังไม่ชัดเจน นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ตามแผนที่วางไว้ ยอดจองห้องพักในช่วงต้นปี 2565 อาจถูกยกเลิก และคงไม่มียอดจองเข้ามาเพิ่ม!
มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า แนวโน้ม “อัตราการเข้าพัก” ของธุรกิจโรงแรมเฉลี่ยทั่วประเทศเดือน ม.ค.2565 อยู่ที่ประมาณ 20% ใกล้เคียงอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเมื่อเดือน ต.ค.2564 เนื่องจากเห็นการเดินทางชะลอตัวเมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. หลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โอมิครอน จนทำให้ภาครัฐต้องยกระดับมาตรการเพื่อป้องกันการระบาด
ไม่ว่าจะเป็นการปรับมาตรการการเดินทางเข้าประเทศไทย ให้ระงับการลงทะเบียนของนักท่องเที่ยวประเภท Test & Go รายใหม่ต่อเนื่อง รวมถึงการขยายเวลา Work From Home ออกไปจนถึงวันที่ 31 ม.ค.2565 ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้จากการจัดงานประชุมสัมมนาน้อยลงไปอีก
สำหรับผลการสำรวจ “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม” ประจำเดือน ธ.ค.2564 จัดทำโดยสมาคมฯร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย มีโรงแรมตอบแบบสำรวจ 137 แห่ง โดยเป็นโรงแรมสถานกักกันทางเลือก (AQ) 23 แห่ง และฮอสพิเทล 3 แห่ง ระหว่างวันที่ 9-24 ธ.ค.ที่ผ่านมา พบว่าจากการสำรวจโรงแรม 111 แห่ง (ไม่รวม AQ และฮอสพิเทล) อัตราการเข้าพักเฉลี่ยเดือน ธ.ค.อยู่ที่ 37% เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ย.ซึ่งอยู่ที่ 30%
ถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของโรงแรมในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสานจากการเข้าสู่ “ไฮซีซั่น” ทั้งยังได้รับผลดีจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมฯก่อนหน้านี้เพิ่มเติม อาทิ การขยายช่วงเวลาสำหรับการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร และจัดงานปีใหม่ภายใต้เงื่อนไขและเวลาที่กำหนด มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 รวมถึงการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัว
เมื่อดู “สถานะกิจการ” พบว่าโรงแรม 74% เปิดกิจการปกติ เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ย.2564 ที่ 68% โดยเป็นการทยอยเปิดหลังมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมฯ และเปิดประเทศ 1 พ.ย.2564 ทั้งนี้โรงแรมที่ปิดกิจการชั่วคราวมีสัดส่วนเพียง 1% ซึ่งคาดว่าจะกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งอย่างเร็วในไตรมาส 2 ปี 2565
ด้าน “รายได้” ของโรงแรมที่เปิดกิจการกระเตื้องขึ้นบ้าง แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ! โดย 49% ของโรงแรมที่เปิดกิจการอยู่ มีรายได้กลับมาไม่ถึง 30% เมื่อเทียบกับก่อนเจอวิกฤติโควิด-19 และมีโรงแรมเพียง 25% ที่รายได้กลับมาแล้วเกินครึ่งหนึ่ง
“เดือน ธ.ค.2564 โรงแรมส่วนใหญ่มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ย. แต่ในภาพรวม 58% ของผู้ตอบแบบสำรวจ มีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 3 เดือน และมีสัดส่วนของกลุ่มที่มีสภาพคล่องน้อยกว่า 1 เดือนอยู่ที่ 8% ใกล้เคียงกับการสำรวจของเดือนก่อน อย่างไรก็ดี มีโรงแรมที่สภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนถึง 48% โดยส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 45-55% และค่อนข้างกระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาค”
สำหรับ “การจ้างงาน” โรงแรมมีการจ้างงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 66.8% ของการจ้างงานเดิมก่อนเกิดโควิด-19 โดยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในโรงแรมภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสานเป็นสำคัญ สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย
โดยการบริหารการจัดการพนักงานส่วนใหญ่ยังคงมีการให้ใช้วันลาประจำปีเป็นหลัก รองลงมาคือหยุดงานแบบไม่รับเงินเดือน (Leave without pay) ให้สลับกันมาทำงาน และลดเงินเดือน ส่วนโรงแรมที่มีการเพิ่มชั่วโมงการทำงาน และเพิ่มจำนวนพนักงานนั้น มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยประมาณ 40%
มาริสา กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังได้สำรวจความเห็นผู้ประกอบการโรงแรมในประเด็นพิเศษ 3 เรื่อง ได้แก่
เรื่องที่ 1 “ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน” พบว่า 49% มีความกังวลเรื่องการกลับมา “ปิดประเทศ” หรือห้ามนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศอีกครั้งมากที่สุด รองลงมาคือจำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ และกำลังซื้อที่เปราะบางมากขึ้นตามลำดับ
เรื่องที่ 2 “แผนรองรับหากเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่” หากธุรกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดอีกครั้ง โรงแรม 72% เลือกปรับตัวด้วยการลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานโดยลดชั่วโมงทำงาน ให้สลับกันมาทำงาน หรือให้ลาโดยไม่รับค่าจ้าง (ขณะที่ลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานโดยเลิกจ้างเพียง 14% ของผู้ตอบแบบสำรวจ) รองลงมาคือ 58% การลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกจากด้านแรงงาน และ 37% ยังคงเปิดดำเนินการเว้นแต่มีคำสั่งปิดจากภาครัฐ ทั้งนี้มีเพียง 17% อาจตัดสินใจปิดกิจการชั่วคราว
และเรื่องที่ 3 “พัฒนาการหลังเปิดประเทศ 1 พ.ย.2564” พบว่า โรงแรม 54% มีใบรับรองและสัญลักษณ์ SHA, SHA+ และ SHA++ (SHA Extra Plus เป็นโรงแรม SHA+ ที่มีคู่สัญญากับโรงพยาบาล) เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตามนโยบายการเปิดประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงแรมในพื้นที่สีฟ้าในภาคใต้และภาคกลาง โดยหลังมีการเปิดประเทศ พบว่าเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา โรงแรมส่วนใหญ่รับลูกค้าท่องเที่ยวทั่วไปชาวไทยเป็นหลักที่ 62% ตามด้วยลูกค้าท่องเที่ยวทั่วไปชาวต่างชาติ และลูกค้าตามโครงการ Sandbox คิดเป็น 50% และ 18% ตามลำดับ