"ศุภชัย" ชี้ 3 ปัจจัยท้าทายโลก "ความเหลื่อมล้ำ-ดิจิทัล-สภาพภูมิอากาศ"
ซีอีโอเครือซีพี "ศุภชัย เจียรวนนท์" ชี้ ความท้าทายใหญ่ของโลก "ความยั่งยืน-การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ" ย้ำสังคมต้องให้ความสำคัญปัญหาโลกร้อนเร่งด่วน เชื่อมั่น “เทคโนโลยีดิจิทัล-นวัตกรรม” จุดประกายโลกสู่ความยั่งยืนได้
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ได้ขึ้นเวทีร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในโครงการ Climate Action Leaders Forum หรือ CAL Forum (รุ่น 1) เมื่อเร็วๆนี้ จัดโดย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ร่วมกับ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ United Nations Development Programme (UNDP)
นายศุภชัย กล่าวแสดงวิสัยทัศน์หัวข้อ "Race to Zero : Toward a Green Economy" ว่า การจะขับเคลื่อนเรื่อง Climate Change ให้เห็นผลนั้นสิ่งสำคัญที่สุดต้องเริ่มจากความตระหนักรู้ให้ได้ว่าสิ่งที่เรากำลังใช้อยู่ในการสร้างระบบเศรษฐกิจ สร้างความมั่งคั่ง สร้างงานกระจายรายได้ สร้างเศรษฐกิจให้เติบโตได้ทั้งโลกนั้น กลับมีส่วนน้อยมากที่จะคำนึงถึงความยั่งยืน ทำให้ปัญหาภาวะเรือนกระจกและมลภาวะส่งผลอย่างเห็นได้ชัดมาสู่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในช่วงเวลาที่ผ่านมา 20-30 ปีมานี้
"เราไม่สามารถปล่อยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาได้แล้ว"
สำหรับประเทศไทยจึงสำคัญและเร่งด่วนมากที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญในการร่วมปรับเปลี่ยนสู่การสร้างโลกที่ยั่งยืนภายในเวลาไม่กี่ปีข้างหน้า เพราะหากยังปล่อยให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นจะเกิดผลเสียต่อระบบนิเวศของโลกที่ส่งผลต่อทุกสิ่งมีชีวิตจนถึงตั้งแต่ระดับพื้นฐานคือระบบวัตถุดิบการเกษตรต่างๆ ที่จะมีผลจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งจะเชื่อมโยงไปยังการผลิตอาหารของโลก และคุณภาพชีวิตทั้งหมด
นายศุภชัย กล่าวต่อว่า วันนี้โลกมีความท้าทายสำคัญ 3 ด้านที่ต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลง คือ
1.ความเหลื่อมล้ำ
2.การปรับตัวสู่ดิจิทัล
3.ความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
โดยทั้งหมดเกี่ยวข้องเป็นลูกโซ่ ดังนั้นทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนความท้าทายเหล่านี้ร่วมกัน โดยเฉพาะความร่วมมือในการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะมาช่วยขับเคลื่อนโลกที่ยั่งยืนขึ้น เพราะวันนี้ทุกเรื่องอยู่บนพื้นฐานเทคโนโลยีทั้งหมด
ดังนั้น การที่ภาครัฐและเอกชนมีความตระหนักรู้ที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาขับเคลื่อน ปรับเปลี่ยนตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการใช้พลังงาน โดยหันมาใช้พลังงานทดแทนต่าง ๆ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนภูมิทัศน์ทั้งหมด (Landscape Changing) ในระบบอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่จะมีผลดีต่อการสร้างความยั่งยืนต่อไปในอนาคต และยังเป็นโอกาสสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม อาทิ
อุตสาหกรรมและธุรกิจที่ต่อยอดมาจากพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งหลายประเทศมองว่าการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาผนวกกับการสร้างอุตสาหกรรมที่คำนึงถึงความยั่งยืนนั้นจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมให้กับโลก
ซีอีโอเครือซีพี กล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินการของเครือซีพีในด้านความยั่งยืนที่ผ่านมามีการปรับตัวของการดำเนินธุรกิจในกลุ่มต่าง ๆ ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน การมีส่วนร่วมตลอดจนการสร้างความยั่งยืนจนปัจจุบันเครือซีพีได้รับการยอมรับในระดับโลกทั้งในเวที UN Global Compact และติดในท็อปของ 38 บริษัทระดับโลกที่ดำเนินการเรื่องความยั่งยืนที่เปลี่ยนแปลงได้จริง โดยกระบวนการที่ซีพีใช้อยู่บนพื้นฐานหลัก 5 ประการ คือ
1.ความโปร่งใสของข้อมูล
2.กลไกตลาด
3.ความเป็นผู้นำ
4.การให้อำนาจ
5.นวัตกรรมและเทคโนโลยี
โดยทั้งหมดอยู่บนแนวคิดจุดเริ่มต้นของการมี Compassion ที่คำนึงถึงการตระหนักรู้ว่าจะต้องสร้างพลังที่คำนึงถึงความยั่งยืน แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมส่งต่อไปยังคนรุ่นหลัง โดยเฉพาะการสร้างองค์ความรู้ด้านการจัดการกับความยั่งยืนในทุกมิติให้กับเยาวชน
สำหรับโครงการ CAL Forum รุ่นที่ 1 จัดขึ้นเพื่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนแนวคิด ประสบการณ์ของผู้นำจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งแวดวงธุรกิจ สถาบันวิชาการ หน่วยงานรัฐ องค์กรสื่อ เพื่อนำไปสู่บทบาทการลดก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อน พร้อมสื่อสารสู่สังคมไทยและต่างประเทศ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลา 5 สัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2564 - 14 มกราคม 2565 โดยในแต่ละสัปดาห์จะมีการเชิญวิทยากรที่มีบทบาทสำคัญด้านความยั่งยืนมาร่วมให้มุมมองในประเด็นที่อยู่ในเทรนด์และวาระสำคัญของโลก