ลงชื่อค้านคลังเก็บภาษีหุ้นแล้วเฉียด”พันราย”
แคมเปญ “อย่าพังเศรษฐกิจ ด้วยตลาดหุ้น” เพื่อคัดค้านคลังเก็บภาษีตลาดหุ้นฮิต ร่วมลงชื่อแล้วเฉียด “พันราย” change.org เตรียมโยกโชว์หน้าแคมเปญยอดนิยม
กรณีที่กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร เตรียมจะจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (Financial Transaction tax) ในอัตรา 0.1% หลังจากที่ยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2534 นั้น ทำให้มีเสียงคัดค้านจำนวนมากจากภาคส่วนต่างๆในตลาดหุ้น พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวน เพราะจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ที่เป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไทย ที่มีมูลค่าตลาด ณ สิ้นปี 2564 กว่า 20 ล้านล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงค่ำวันที่ 10 ม.ค.2565 กลุ่มบุคคลที่ใช้ชื่อว่า “กลุ่มผู้ห่วงใยเศรษฐกิจ” ได้เปิดแคมเปญรณรงค์รวมพลังคัดค้านการเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทย หลังกระทรวงการคลังมีแผนที่จะจัดเก็บภาษีเทรดหุ้นในอัตรา 0.1% ของมูลค่าการขาย ซึ่งได้รับความสนใจมีร่วมลงชื่อจำนวนมาก
ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อเวลา 20.20 น.ของวันนี้(11 ม.ค.) มีผู้ร่วมลงชื่อผ่าน www.change.org แล้ว 912 ราย ใกล้เคียง 1,000 รายชื่อ ซึ่งเป็นระดับ www.change.org จะยกแคมเปญนี้ไปโชว์ที่หน้าแคมเปญยอดนิยม นั่นหมายถึงจะมีผู้คนเห็นมากขึ้นและมีโอกาสที่จะร่วมลงชื่อมากขึ้น
กลุ่มผู้ออกแคมเปญให้เหตุผลว่า ภาษีเทรดหุ้นไม่เพียงเป็นการทำลายตลาดหุ้นไทย แต่จะทำลายเศรษฐกิจของประเทศระดับมหภาคในระยะยาว ฉะนั้นหากตัดสินใจใช้ไปแล้วแต่ภายหลังพบว่าเป็นการตัดสินใจผิดพลาด ถึงเวลานั้นจะเป็นการยากที่จะนำทุกอย่างกลับสู่สภาพเดิมเนื่องจากนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศอาจย้ายการลงทุนไปยังประเทศอื่นหมดแล้ว
ทั้งนี้ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่าสัดส่วนนักลงทุนที่ทำการซื้อขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือตลาดหุ้นเป็นนักลงต่างประเทศประมาณ 40% ซึ่งรวมกลุ่มที่ซื้อขายหุ้นโดยใช้ AI ซื้อและขายในระยะเวลาสั้นๆ ถึง 30% ของปริมาณการซื้อขายรวม กลุ่มใหญ่อีกกลุ่มคือนักลงทุนไทยประมาณ 40% ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นนักลงทุนที่มีลักษณะเก็งกำไร ซื้อแล้วขายในระยะสั้นๆ เช่นกัน
ที่เหลือคือสถาบันในประเทศประมาณ 10% พอร์ตลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์เองอีกประมาณ 10% ถ้าต้นทุนในการขายสูงขึ้นจากการเก็บภาษีการขาย 0.1% ของมูลค่าขาย นักลุงทุนทั้งต่างประเทศและไทยที่มีพฤติกรรมการซื้อขายในระยะสั้นๆ คงหายไปจากตลาดหุ้น จากต้นทุนการซื้อขายที่สูงขึ้น จนไม่สามารถซื้อและขายเก็งกำไรในระยะสั้นๆได้ ปริมาณการซื้อขายรวมของตลาดก็น่าจะลดลงไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของที่เคยมี
เมื่อปริมาณการซื้อขายรวมลดลง ก็จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ลดปริมาณการซื้อขายหุ้นของนักลงทุนกลุ่มอื่นๆตามมาอีกทอดหนึ่ง เพราะการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นจะน้อยลงและที่สำคัญสภาพคล่องที่เป็นหัวใจสำคัญของตลาดหุ้น และเป็นข้อได้เปรียบของตลาดหุ้นไทยเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคในปัจจุบัน ได้ถูกทำลายไปจากการใช้นโยบายการเก็บภาษีนี้
จนท้ายที่สุด อาจจะได้เห็นปริมาณการซื้อขายรวมเหลือเพียงแค่ 20,000 ถึง30,000 ล้านต่อวัน ดังนั้นรายได้ที่ภาครัฐคาดว่าจะจัดเก็บได้ปีละเป็นหมื่นล้านจากภาษีการขาย ยังไม่นับรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการซื้อขายหลักทรัพย์ที่จะลดลงไปด้วย จึงอาจเป็นรายได้ในจินตนาการเท่านั้น
อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะกระทบเป็นลูกโซ่ต่อมาก็คือ การระดมทุนของบริษัททั้งที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯหรือการเพิ่มทุนเพื่อขยายธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนอยู่แล้ว ก็จะขาดประสิทธิภาพ เพราะปริมาณการซื้อขายที่เบาบางของตลาดจะทำให้นักลงทุนไม่ว่าชาติไหนก็ตาม ขาดความมั่นใจที่จะเข้าซื้อขายหุ้น เนื่องจากถ้าสภาพคล่องของตลาดไม่ดีพอ เวลาต้องการขายเพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนโดยเฉพาะเวลาเกิดภาวะวิกฤติ ก็จะไม่สามารถทำได้โดยง่าย เสี่ยงต่อความเสียหายต่อเงินลงทุนของตัวเอง
สุดท้ายทุกภาคอุตสาหกรรมในประเทศที่หวังจะใช้เงินต้นทุนต่ำโดยการระดมทุนผ่านตลาดหุ้นเพื่อขยายธุรกิจ ก็ไม่สามารถจะทำได้โดยง่ายเช่นในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในระดับประเทศ ซึ่งยังไม่นับรวมความเสียหายที่จะเกิดกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการซื้อขายหุ้นต้องประสบกับภาวะขาดทุนจากการสูญเสียรายได้ที่เคยได้รับเพราะการซื้อขายหุ้นของนักลงทุนที่ลดลง จนอาจต้องปิดกิจการ ส่งผลให้มีการเลิกจ้างพนักงาน กระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนเหล่านี้และครอบครัวอีกทอดหนึ่ง