ค้านภาษีเทรดหุ้น ตลาดทุนล่ารายชื่อต้าน-เตือนได้ไม่คุ้มเสีย
รัฐเก็บภาษีตลาดหุ้นเดือด 3 กลุ่ม “สภาตลาดทุน-โบรกฯ-นักลงทุน” ออกโรงค้าน เตือนได้ไม่คุ้มเสีย กระทบวอลุ่มเทรดหดตัวกว่าครึ่ง-นักลงทุนต่างชาติย้ายฐาน “เฟทโก้”จ่อทำหนังสือถึงคลัง ขณะที่ “ภากร”วอนพิจารณาผลกระทบให้ครบถ้วน
ประเด็นที่กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร เตรียมจะจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (Financial Transaction tax) ในอัตรา 0.1% หลังจากที่ยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2534 นั้น ทำให้มีเสียงคัดค้านจำนวนมากจากภาคส่วนต่างๆในตลาดหุ้น พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวน เพราะจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ที่เป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไทย ที่มีมูลค่าตลาด ณ สิ้นปี 2564 กว่า 20 ล้านล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2565 กลุ่มบุคคลที่ใช้ชื่อว่า “กลุ่มผู้ห่วงใยเศรษฐกิจ” ได้เปิดแคมเปญรณรงค์รวมพลังคัดค้านการเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทย หลังกระทรวงการคลังมีแผนที่จะจัดเก็บภาษีเทรดหุ้นในอัตรา 0.1% ของมูลค่าการขาย โดยล่าสุด เมื่อเวลา 19.20 น.ของวานนี้(11 ม.ค.) มีผู้ร่วมลงชื่อผ่าน www.change.org แล้วกว่า 875 ราย
กลุ่มผู้ออกแคมเปญให้เหตุผลว่า ภาษีเทรดหุ้นไม่เพียงเป็นการทำลายตลาดหุ้นไทย แต่จะทำลายเศรษฐกิจของประเทศระดับมหภาคในระยะยาว ฉะนั้นหากตัดสินใจใช้ไปแล้วแต่ภายหลังพบว่าเป็นการตัดสินใจผิดพลาด ถึงเวลานั้นจะเป็นการยากที่จะนำทุกอย่างกลับสู่สภาพเดิมเนื่องจากนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศอาจย้ายการลงทุนไปยังประเทศอื่นหมดแล้ว
เผย 3 กลุ่มร่วมคัดค้าน
แหล่งข่าวตลาดทุน เปิดเผย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า กลุ่มบุคคลในตลาดทุนเตรียมรวมตัวกันเพื่อคัดค้านการเก็บภาษีดังกล่าว เบื้องต้นแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มของสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ซึ่งเป็นตัวแทนของภาคตลาดทุน
- กลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นพนักงานบริษัทหลักทรัพย์(โบรกเกอร์) และลูกค้า
- กลุ่มนักลงทุน ซึ่งแยกต่างหากกับลูกค้าของกลุ่มที่ 2
สำหรับ FETCO จะนัดประชุมกันในวันที่ 13 ม.ค.2565 เพื่อร่างหนังสือส่งไปยังกระทรวงการคลัง ขณะที่กลุ่มพนักงานโบรกฯ และลูกค้า เบื้องต้นหากข้อเรียกร้องของ FETCO ครอบคลุมประเด็นที่ทางกลุ่มเรียกร้องก็จะยื่นเรื่องถึงกระทรวงการคลังในนามของ FETCO หรือยื่นพร้อมกันในนามของกลุ่มต่อไป โดยปัจจุบันมีผู้ลงรายชื่อที่เป็นพนักงานโบรกฯ และนักลงทุนจำนวนมาก ส่วนกลุ่มนักลงทุนจะยื่นเรื่องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างหาก
ไม่คัดค้านเก็บภาษีกำไร
ทั้งนี้กลุ่มพนักงานโบรกฯ และลูกค้า ไม่ได้คัดค้านการเก็บภาษีหุ้นทั้งหมด โดยมองว่าการจัดเก็บจากส่วนต่างของกำไร (Capital Gain) เป็นเรื่องที่เหมาะสมและสมควรทำ โดยเฉพาะการเก็บกับกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งควรเสียภาษีให้แก่ประเทศก่อนจะรับกำไรออกไปจากตลาดหุ้น แต่ในส่วนของการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นคาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างมาก เพราะไม่ใช่ทุกธุรกรรมการขายหุ้นที่มีกำไร
แหล่งข่าวกล่าวว่า หากเก็บภาษีหุ้นด้วย Financial Transaction Tax ธุรกรรมการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไปจะต้องเสียภาษีในอัตรา 0.1% ของมูลค่าขาย คาดว่า จะส่งผลทางตรงต่อมูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯลดลงไปมากกว่า 50% จากปัจจุบันที่ซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 8-9 หมื่นล้านบาท
ต่างชาติหนี้-ระดมทุนยาก
มูลค่าที่ลดลงหลักๆคาดว่า จะมาจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่มีสัดส่วนราว 40% หากเก็บภาษีขายหุ้นจริงคาดว่าจะเหลือซื้อขายเพียง 5-6% เท่านั้น เพราะส่วนใหญ่นักลงทุนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ซื้อขายระยะสั้นด้วยโปรแกรม (AlgoTrading) อีกทั้งมีต้นทุนการซื้อขายที่ต่ำมากราว 0.07-0.08% มีสัดส่วนราว 40% คาดว่าการซื้อขายจะลดลงราว 50% จากกลุ่มที่ซื้อขายเพื่อเก็งกำไรระยะสั้น
“สรรพากรควรมองให้ครบทุกด้าน อย่างการย้ายฐานการลงทุนของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ กลุ่มนี้เวลาไปแล้วไปเลย เพราะต้องทำการประเมินปัจจัยต่างๆ ให้รอบด้านก่อนเลือกลงทุนประเทศหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มนักลงทุนต่างชาติสนใจตลาดบ้านเราเพราะสภาพคล่องสูง ขณะที่ผลประกอบการของ บจ.ไม่ได้โดดเด่นจากตลาดในภูมิภาคมาก”
นอกจากนี้ยังมีผลกระทบทางอ้อมอื่นๆ ที่มองว่าอาจได้ไม่คุ้มเสีย อาทิ การระดมทุนของธุรกิจผ่านการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) หรือการเพิ่มทุนของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) นอกจากจะถูกกระทบจากสภาพคล่องที่หายไปแล้ว คาดว่านักลงทุนจะมีแรงจูงใจลงทุนน้อยลง เพราะหากผลลัพธ์การลงทุนไม่เป็นไปตามที่คาดหวังจะต้องเสียภาษีจำนวนมากเพื่อขายหุ้น
เฟทโก้ คาดวอลุ่มหด 30%
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล. ทิสโก้ กล่าวว่า หากเก็บภาษีจริงคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อนักลงทุนทุกคน ผลกระทบต่อตลาดหุ้นเบื้องต้นคาดว่าสภาพคล่องอาจลดลงราว 30% นักลงทุนซื้อขายน้อยลงเมื่อต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ซื้อขายรายวัน (Day Trade) และใช้โปรแกรมเทรด
FETCO จะนัดหารือกันในสัปดาห์นี้ เพื่อสอบถามความเห็นของผู้ร่วมตลาดทุนเกี่ยวกับมาตรการการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หากผู้มีส่วนได้เสียไม่เห็นด้วยต่อประเด็นดังกล่าวเหมือนกัน สภาฯจะทำหนังสือในนาม FETCO เพื่อชี้แจงต่อกระทรวงการคลังต่อไป
“เคทีบีเอสที”หวั่นเก็บสูงกระทบ
นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการ บล.เคทีบีเอสที กล่าวว่า หากเก็บในอัตราที่สูงมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อตลาดทุน แต่ภาครัฐควรพิจารณาค่าบริการในตลาดทุนในปัจจุบันประกอบด้วย โดยค่าคอมมิชชั่น ปัจจุบันอยู่ที่ระดับประมาณ 0.1% การเก็บภาษีที่อัตรา 0.1% เปรียบเสมือนนักลงทุนมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเท่าตัว โดยที่ไม่ได้รับบริการอื่นๆเพิ่มเติมกลับคืนมา
ในส่วนของการล่ารายชื่อของกลุ่มนักลงทุน รวมถึงรายชื่อของกลุ่มผู้ใช้โปรแกรมเทรด เพื่อคัดค้านภาษีหุ้นนั้น เบื้องต้นยังไม่มีใครเข้ามาติดต่อสอบถามเพื่อขอรายชื่อจากบล.เคทีบีเอสที แต่ถือว่าเป็นสิทธิของนักลงทุนที่จะรวมตัวกันเพื่อขอให้ภาครัฐชี้แจงเหตุผล
ตลท.วอนรัฐพิจารณารอบด้าน
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ตลท.ได้ให้ข้อมูลกับทางการมาโดยตลอด และมีมุมมองต่อประเด็นดังกล่าวอยู่ 3 ด้าน คือ
- การจัดเก็บภาษีในอัตราที่เหมาะสม
- ประเภทของการซื้อขายที่ควรถูกจัดเก็บ
- ระยะเวลาที่ควรแจ้งล่วงหน้าให้ผู้ร่วมอุตสาหกรรมได้รับทราบ
เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาให้ครบถ้วนเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อทั้งระบบให้น้อยที่สุด
ทั้งนี้ตลท.ได้มีการปรึกษาและประชุมกับผู้ร่วมตลาดหลายครั้ง เพื่อให้ข้อมูลและมุมมองแก่ทางการต่อประเด็นภาษีหุ้น รวมถึงทำการวิเคราะห์ให้เห็นผลกระทบในแต่ละเรื่องซึ่งไม่เฉพาะ ตลท. แต่องค์กรอื่นๆ เช่นสมาคมบริษัทจัดการลงทุนและสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยก็เดินหน้าให้ข้อมูลแก่ภาครัฐเพื่อพิจารณาเช่นกัน ท้ายที่สุดแล้วภาครัฐจะเป็นผู้ดำเนินนโยบายและตัดสินใจว่าอะไรไหนเหมาะสม
‘เสี่ยยักษ์’เปิดพอร์ตลุยหุ้นนอก
นายวิชัย วชิรพงศ์ หรือ เสี่ยยักษ์ นักลงทุนรายใหญ่ กล่าวว่า การเก็บภาษีจะกระทบมูลค่าซื้อขายของตลาดหุ้นแน่นอน โดยคาดว่าวอลุ่มตลาดมีโอกาสหายไปกว่าครึ่งหนึ่งของวอลุ่มในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ากระทรวงการคลังคงจะต้องพิจารณาประเด็นดังกล่าวอีกครั้ง เนื่องจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอาจจะมากกว่ารายได้ที่รัฐจะได้เข้ามา ดังนั้นอาจจะได้ไม่คุ้มเสีย เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติจะหายไปจากตลาดหุ้นไทย หรือ แม้แต่นักลงทุนไทยจะไปลงทุนในตลาดต่างประเทศแทนตลาดหุ้นไทย
สอดคล้องกับการลงทุนของตัวเอง ในปีนี้กำลังจะเปิดพอร์ตลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากหุ้นไทยลงทุนยาก และมาเก็บภาษีเทรดหุ้นซ้ำอีก