ธปท. มั่นใจมาตรการทางการเงิน เพียงพอรองรับผลกระทบ โอมิครอน’
ภายใต้เศรษฐกิจไทยปี 65ธปท. ยังมีความเป็นห่วงเรื่องความเปราะบาง อีกทั้งเผชิญกับ 4 ปัจจัย ที่จะซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย ดังนั้นหน้าที่ของธปท.คือการประคอง และทำให้ปัจจัยสะดุดที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจน้อยที่สุด
“เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคาร ธปท. เปิดแถลงข่าวประจำปี 2565 ครั้งแรกวานนี้(11 ม.ค.) โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทย จะกลับไปขยายตัวได้เท่าเทียมระดับก่อนเกิดโควิด-19 ได้ ก็ต้องรอถึงไตรมาสแรกปี 2566
ส่วนจะเห็นการฟื้นตัวในภาพรวมเท่าก่อนโควิด-19 หรือไม่นั้น มองว่า ไม่ เพราะการจ้างงานยังไม่กลับมา การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว ที่ถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญในการจ้างงานที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย
ขณะเดียวกันจะเห็นบางเซคเตอร์ฟื้นตัวได้ดี โดยเฉพาะกับที่อิงกับส่งออก แต่ในทางกลับกัน ที่เกี่ยวกับภาคบริการจะยังไม่ฟื้นตัว ทำให้เกิด uneven หรือความไม่สม่ำเสมอ หรือมีลักษณะ K-shape
ภายใต้บริบทแบบนี้ โจทย์หรือหน้าที่หลักของธปท. คือต้องทำอย่างไรให้การฟื้นตัวตรงนี้ ที่ฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป แบบไม่เข้มแข็ง ไม่ต่อเนื่อง เดินหน้าต่อไม่ให้สะดุด ซึ่งการที่จะทำให้ “ไม่สะดุด”นั้น ก็ต้องไปดูว่า โอกาสที่จะสะดุด มาจากตรงไหน?
ผู้ว่าธปท.มองว่า มีความเสี่ยง มาจากปัจจัยสะดุด 4 ปัจจัยด้วยกัน สะดุดแรก โควิดโอมิครอน ภายใต้การประเมินของธปท.มองว่า โอมิครอน จะมาเร็วไปเร็ว หากเป็นไปตามที่คาด สถานการณ์ก็จะจบได้ในครึ่งปีแรกปีนี้ นี่คือ Senario ที่ธปท.มองไว้ ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยไม่สะดุดมาก ภายใต้การกลับมาของนักท่องเที่ยวสู่ 5.6 ล้านคนปีนี้
แต่ภายใต้สมมุติฐานนี้ หากโอมิครอนไม่ได้มาเร็วไปเร็ว แถมมีการกลายพันธุ์ของโควิดใหม่ๆ โอกาสที่จะเหตุสะดุด ทางเศรษฐกิจก็จะมีมากขึ้น
“เศรษฐกิจไทยภายใต้การเติบโตระดับ 4-5% ถือว่าไม่ได้ด้อยมาก หากเทียบกับเศรษฐกิจต่างประเทศ เพราะแม้เศรษฐกิจหดตัวปีก่อน แต่สินเชื่อยังขยายตัวได้ สะท้อนกลไกตรงนี้ยังทำงาน ที่ถือเป็นตัวใจสำคัญ แต่การโตในระดับที่ว่า ไม่ได้หมายความว่า เราพอใจนิ่งเฉย เพราะหลายจุดยังไม่ได้ไปสู่จุดที่เราต้องการเห็น”
ในด้านการเตรียมพร้อม วันนี้สิ่งที่ธปท.พยายามทำ คือเตรียมความพร้อมของมาตรการต่างๆ ให้มีเพียงพอในการรองรับเหตุการณ์ต่างๆ และทำให้ระบบสถาบันการเงินทำงานได้ใกล้เคียงปกติที่สุด
โดยมาตรการทางการเงินที่ออกไปก่อนหน้านี้ เช่น สินเชื่อซอฟท์โลน สินเชื่อฟื้นฟูที่มีการปล่อยกู้แล้ว 1.4 แสนล้านบาท หรือพักทรัพย์พักหนี้ที่กว่า 3.3 หมื่นล้านบาท และยังเหลือรูม หรือลูกกระสุนอีกมาก อย่างสินเชื่อฟื้นฟูที่เหลืออีก 1 แสนล้านบาท และพักทรัพย์พักหนี้ที่เหลือวงเงินช่วยเหลืออีกมาก เหล่านี้เป็นการวางรากฐานของเครื่องมือต่างๆเพื่อรองรับโอกาสที่จะสะดุดหากโอมิครอนลากยาวกว่าที่คาด
อีกตัวที่สำคัญ เพื่อดูแลภาระหนี้เดิมที่ธปท.ออกมาก่อนหน้านี้ ตลอดจนมาตรการแก้หนี้ระยะยาวที่ออกมา 3 ก.ย. 2564 ที่ออกแบบมาให้ยืดหยุ่น แม้ผลกระทบโอมิครอนจะลากยาว ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับปัญหาพวกนี้ได้ รวมถึงมาตรการรวมหนี้ที่ออกมาเพิ่มเติม ซึ่งการออกมาตรการของธปท. ไม่ได้เน้นยิงพลุ หรือออกมาตรการบ่อยๆถี่ๆแต่เป็นการติดตามประสิทธิผลของมาตรการให้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่า
ปัจจัยสะดุดที่ 2 “เงินเฟ้อ” ที่สูงขึ้น วันนี้ถามว่าเงินเฟ้อที่ขึ้นของไทยน่ากลัวหรือไม่ ตอบในเชิงมหาภาค ยังไม่เป็นแบบนั้น เพราะเงินเฟ้อไทยไม่ได้สูงเหมือนในต่างประเทศ โดยธปท.มองว่าปีนี้จะอยู่ที่ 1.7% และปีหน้า 1.4% ซึ่งมองว่ายังยืนตามนี้ได้
ดังนั้นโอกาสที่จะสะดุดจากตรงนี้ คงไม่มาก แต่ธปท.ไม่ได้ชะล่าใจ เพราะหากเงินเฟ้อส่งสัญญาณขึ้นวงกว้าง กระทบต่อเสถียรภาพด้านราคา และมีโอกาสหลุดจากกรอบที่ 3%
แต่วันนี้การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อยังไม่ถึงค่ากลาง หรือกรอบบน ดังนั้นตัวนี้ไม่น่าจะเป็นตัวที่ทำให้เศรษฐกิจสะดุด
สะดุดที่ 3 “NPL cliff” หรือการปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของหนี้เสีย โดยธปท.มองว่า หนี้เสียมีทิศทางเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่การขึ้น คงไม่พุ่ง หรือรวดเร็วมากนัก ดังนั้นโอกาสที่จะสะดุดจากปัจจัยนี้มีน้อย เพราะเชื่อว่า มีมาตรการรองรับไม่ให้ด้านนี้ เป็นปัญหาที่สะดุดภาพรวมได้ ทั้งมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ การแก้หนี้ระยะยาว ซึ่งตัวนี้เป็นจุดรองรับสำคัญที่วางไว้ และจะเป็นตัวช่วยได้มาก
และที่จะออกมาภายในเดือนนี้ คือการ ให้ธนาคารพาณิชย์ร่วมทุนกับบริษัทบริหารสินทรัพย์ (joint venture AMC) เพื่อให้มั่นใจว่า เมื่อลูกหนี้มีปัญหา ลูกหนี้จะไม่ถูกทอดทิ้ง ระบบจะสามารถดูแลได้ และช่วยให้ลูกหนี้มีโอกาสฟื้นตัวกลับมาได้ สุดท้ายคือ ความแข็งแกร่งของแบงก์ ทั้งเงินกองทุน ทุนสำรองที่แข็งแกร่ง ที่จะทำให้ธปท.มั่นใจได้ว่า หากเอ็นพีแอลขึ้นจะทำให้ระบบสะดุดน้อยที่สุด
สะดุดที่ 4 คือ ปัจจัยโลก การดำเนินนโยบายการเงินโลก เศรษฐกิจโลก โดยมองว่า โอกาสที่จะเห็นเศรษฐกิจไทย สะดุดจากปัจจัยโลก โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายการเงิน การขึ้นดอกเบี้ยที่รวดเร็วของต่างประเทศ มีความเสี่ยงสำหรับไทยน้อยมากที่จะส่งผลต่อตลาดการเงิน และต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย เพราะประเทศไทยมีด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่ง การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นปัจจัยชั่วคราว ไม่เหมือนอดีตที่เราเกินดุลต่อเนื่อง
ขณะที่ทุนสำรองของไทยมีค่อนข้างมาก ดังนั้นความเปราะบางที่จะส่งผ่านสู่ตลาดการเงินไทยมีน้อย
“หน้าที่ธปท.ต้องให้มั่นใจว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปแบบไม่สะดุด โดยการพยายามวางมาตรการเพื่อรองรับโอกาสที่จะสะดุดให้น้อยที่สุด และประเมินภาพไปข้างหน้า และภายใต้มาตรการที่มีอยู่อย่างยืดหยุ่น ไม่ยึดติด แต่หากสถานการณ์ไม่ได้เป็นไปตามคาด ธปท.ก็พร้อมที่จะออกมาตรการเพิ่มเติม เพื่อให้มั่นใจว่า ธปท.ไม่ได้ชะล่าใจ และพร้อมทำมาตรการเพิ่มเติมเพื่อทำหน้าที่ของธปท.ให้ดีที่สุด”
สำหรับโจทย์ในการดำเนินนโยบายในระยะถัดไป คือการวางรากฐานอนาคต ให้เหมาะกับหลักโควิด-19 เช่น การปรับโครงสร้างรองรับโลกดิจิทัล รวมถึง ปัญหาด้าน sustainability หรือความยั่งยืน ที่เกี่ยวกับกรีน หรือด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงด้านองค์ความรู้ใหม่ๆที่ยังเป็นข้อจำกัดและเป็นโจทย์ ที่ธปท.ต้องทบทวนกฎเกณฑ์ต่างๆที่เป็นอุปสรรคต่อสถาบันการเงินในการปรับตัวสู่โลกอนาคต
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 2 ก.พ.2565 ธปท.เตรียมจะออกภูมิทัศน์ทางการเงินในอนาคต หรือ Consultation paper financial Landscape เพื่อกำหนดและออกเกณฑ์การวางรากฐานภูมิทัศน์การเงินไทยในระยะข้างหน้า
รวมถึงมุมมองต่างๆทั้งดิจิทัล สิ่งแวดล้อม ความเสี่ยงของสถาบันการเงิน กระแสใหม่ๆ เช่น สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ทั้งในมุมที่ธปท.อยากเห็นและไม่สนับสนุน เพื่อวางรากฐานโครงสร้างทางการเงินในอนาคต