ThaiBMA คาดยอดออกหุ้นกู้ปี 65 ทะลุ 1 ล้านล้าน ต่อเนื่องเป็นปีที่3
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย คาดการณ์ ยอดออกหุ้นกู้ ปี 65 ยังทะลุ 1 ล้านล้านเป็นปีที่ 3 ต่อเนื่อง จากปีก่อนยอดการออกกว่า 1.03 ล้านล้าน ขณะที่บอนด์ยิลด์ไทย คาดปรับตัวสูงขึ้น ขึ้นในทุกรุ่นอายุ ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ แม้ในไทยธปท. คาดคุมเงินเฟ้อกรอบไม่เกิน 3% ในปีนี้
นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หรือ ThaiBMA เปิดเผยว่าสมาคมฯ คาดการณ์ยอดการออกหุ้นกู้ระยะยาวในปี 2565 จะทะลุ 1 ล้านล้านบาทเป็นปีที่สาม เนื่องจากเชื่อว่า เศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวได้ในครึ่งปีหลัง บริษัทเอกชนไทยจะยังมีความต้องการลงทุนทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่ยังไม่อยู่ในระดับสูงและสภาพคล่องในระบบการเงินที่ยังมีอยู่มาก ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์โอไมครอนจะรุนแรงต่อเนื่องหรือไม่
จาก ปี 2564 มีมูลค่าการออกหุ้นกู้ระยะยาวทะลุ 1 ล้านล้านบาทเป็นปีที่สอง โดยมียอดการออกที่ 1,034,572 ล้านบาท สูงขึ้นร้อยละ 50 จากปีก่อนหน้า เป็นการเพิ่มขึ้นจากทั้งกลุ่ม Investment grade และ High yield โดยหุ้นกู้ที่ออกในกลุ่ม High yield ส่วนใหญ่เป็นหุ้นกู้มีประกันที่กว่าร้อยละ 53 เป็นการค้ำประกันโดยนิติบุคคลอื่น
นางอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หรือ ThaiBMA กล่าวว่า จากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ แนวโน้มเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น การแพร่ระบาดของโควิดและทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวในระดับต่ำจากอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวที่ยังกลับมาได้ไม่เต็มที่
สมาคมฯ คาดว่า ปี 2565 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในทุกรุ่นอายุ โดยรุ่นอายุ 2 ปี คาดว่าจะขยับตัวสูงขึ้นราว 10 bps. มาเคลื่อนไหวอยู่ที่บริเวณ 0.75% ณ สิ้นปี 2565 ส่วนรุ่นอายุ 5 และ 10 ปี คาดว่าจะขยับตัวสูงขึ้นประมาณ 50-60 bps. มาอยู่ที่ 1.7-1.8% และ 2.3-2.5% ตามลำดับ
จากสิ้นปี 2564 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (Bond yield) อายุ 10 ปี ที่ประมาณ 1.8-1.9% ขณะที่ตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงปัจจุบันจะเห็นได้ว่า Bond yield อายุ 10 ปี ขยับขึ้นมาทะลุ 2% ซึ่งมองไปข้างหน้าในช่วงสิ้นปี 2565 คาดว่าจากสถานการณ์ในตอนนี้จาก Bond yield ที่กระชากขึ้นมาทั้งของสหรัฐที่มาจากปัจจัยเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ตามแม้ว่าเงินเฟ้อของไทย ทางธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (ธปท. ) ประเมินว่าจะอยู่ภายใต้กรอบนโยบายที่อัตราเงินเฟ้อไม่เกิน 3% แต่ก็ดูเหมือนมีแนวโน้มที่จะปรับสูงขึ้น จากปัจจัยเรื่องของราคาน้ำมัน และการชะงักงันหรือสะดุดของห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิดและทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวในระดับต่ำจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ยังกลับมาได้ไม่เต็มที่